Back
พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ
กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
กับวรรณคดี


ในช่วงตั้งแต่วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ถึง ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นช่วงงานฉลอง ๑๐๐ ปีวันประสูติของพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ คนโดยทั่ว ๆ ไป มักจะทราบว่าพระองค์ทรงเป็นนักการทูต และเป็นนักบัญญัติศัพท์เท่านั้น ความจริงพระองค์ทรงเป็นนักอักษรศาสตร์และนักภาษาศาสตร์ที่สำคัญยิ่งพระองค์หนึ่ง ดังที่พระองค์ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง "วรรณคดีคืออะไร" ลงใน "วรรณคดีสาร" ของ วรรณคดีสมาคม และหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติ" ที่พระองค์ทรงตั้งขึ้น ข้าพเจ้าขอนำส่วนแรกของบทความเรื่องนี้มาเสนอท่านผู้ฟังเพื่อจะได้ทราบว่าพระองค์ทรงมีความรอบรู้ในวรรณคดี ลึกซึ้งเพียงใดดังนี้

"การที่จัดตั้งวรรณคดีสมาคมขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในการบำรุงวัฒนธรรมภาษาไทยนั้น เพราะวรรณคดีเป็นอุปกรณ์จรรโลงจิตใจของประชาชน มีความสำคัญไม่น้อยกว่าศิลปกรรมแผนกอื่น ๆ

"วรรณคดีคืออะไร? มีผู้ถามข้าพเจ้าอยู่เนือง ๆ และเมื่อทางการได้กำหนดให้นักเรียนรายงานการสำรวจเศรษฐกิจของนายซิมเมอร์แมนเป็นวรรณคดี ได้มีผู้ถกเถียงกันอยู่มากว่าเป็นวรรณคดีหรือไม่

"ความจริงมีอยู่ว่า ความหมายของคำต่าง ๆ มีทั้งความหมายกว้างแคบ วรรณคดีในความหมายกว้างหมายถึง เรื่องหนังสือที่แต่งขึ้น จะเป็นหนังสือชนิดใดก็ตาม แต่ความหมายแคบก็หมายเฉพาะถึงหนังสือที่แต่งขึ้นโดยนิยมกันว่าเป็นศิลปกรรม

"ศิลปกรรมคืออะไร ? ก็เป็นข้อที่ทุ่มเถียงกันอีก ทางสะดวกที่สุดเห็นว่าควรพิจารณาจากตัวอย่างที่เห็นชัดดูก่อน ช่างเขียนย่อมต้องรู้จักวิธีใช้เครื่องมือและเครื่องประกอบแล้วหัดเขียนลวดลายและเขียนภาพ ตลอดจนระบายสีให้ชำนาญแล้ววาดภาพตามความคิดเห็นของตนเอง โดยแสดงฝีมือของตนเองเพื่อให้ภาพที่เขียนนั้นเป็นสิ่งงดงาม

"การกระทำของช่างเขียนดังกล่าวมา อาจแบ่งออกได้เป็นวิชาการส่วนหนึ่ง คือส่วนที่รู้จักใช้เครื่องมือ เครื่องประกอบ ตลอดจนการเขียนลวดลายและระบายสีตามแบบที่มา และเป็นศิลปะอีกส่วนหนึ่ง คือ ส่วนที่เนื่องมาจากความคิดเห็นของตนเอง ซึ่งประกอบขึ้นเป็นภาพอันสวยงาม และความงามนี้ก็มีความมุ่งหมายที่จะให้ผู้ชมตามที่ตนเห็นว่าสวยงามด้วย

"นักประพันธ์หรือผู้แต่งวรรณคดีก็เป็นศิลปินเช่นเดียวกับจิตรกร กล่าว คือจะต้องเป็นช่างผู้ชำนาญในการใช้ถ้อยคำซึ่งประกอบขึ้นเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรองตามหลักภาษา ทั้งในทางไวยากรณ์และทางลำนำหรือจังหวะเสียง มีฉันทลักษณะเป็นต้น แต่ถ้าจะย่างขึ้นสู่สภาพศิลปินก็ต้องแต่งบทประพันธ์ขึ้นตามความรู้สึกนึกคิดของตนเอง เพื่อให้วรรณคดีที่แต่งขึ้นนั้น เป็นสิ่งสวยงามน่าสพึงชม

"วรรณคดีไทยโดยแท้จริง เป็นศิลปกรรมหรือสิ่งสุนทรซึ่งนักประพันธ์มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรแล้ว ก็ระบายให้ผู้อ่านได้ชมความงามตามที่นักประพันธ์รู้สึกนึกคิดได้ด้วย

"นักประพันธ์เพียงระบายความรู้สึกนึกคิดของตนออกมาเท่านั้น จึงยังไม่พอ แต่จะต้องจูงใจผู้อ่านให้เห็นความสวยงามตามไปด้วย และเพื่อช่วย ทั้งนักประพันธ์และผู้อ่าน จึงมีนักวิจารณ์วรรณคดี ซึ่งมีหน้าที่ศึกษาพิจารณาดูว่าวรรณคดีมีลักษณะอย่างไร จึงได้ชื่อว่าเป็นศิลปกรรมหรือสิ่งสุนทร

"นักภาษาศาสตร์และนักวิจารณ์วรรณคดีจึงเป็นผู้ศึกษาในทางวิทยาศาสตร์ส่วนเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ภาพที่สวยงามขึ้นด้วยหนังสือ และภาพสุนทรเหล่านี้เองเป็นวรรณคดีโดยแท้"

นี่เป็นความหมายของคำว่า "วรรณคดี" ที่พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ปฐมนายกราชบัณฑิตยสถานทรงนิพนธ์ไว้ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๘๖ นับว่าได้ให้ความรู้ด้านวิชาการ ที่ลึกซึ้งแก่เรามากทีเดียว คำว่า "วรรณคดี" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ก็มีได้ให้ความรู้อะไรแก่เรามากนัก เพราะให้บทนิยามไว้เพียงสั้น ๆ ว่า " น. หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี." เท่านั้น คู่กับคำว่า "วรรณกรรม" ซึ่งพจนานุกรมก็ให้บท นิยามสั้น ๆ เช่นกันว่า "น. งานหนังสือ."

พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้ทรงนิพนธ์เรื่องเกี่ยวกับวรรณคดีและภาษาศาสตร์ไว้มาก ข้าพเจ้าจะได้นำมาเสนอท่านผู้ฟังเป็นระยะ ๆ ไปเท่าที่เวลาจะอำนวยให้.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๘ ตุลาคม๒๕๓๔
Back