Back
พุทธบุรีมณฑล


เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้าพเจ้าได้รับเชิญจากกรมการศาสนาให้ไปร่วมอภิปรายที่พุทธมณฑล เรื่อง "แผ่นดินไทยภายใต้ร่มพระบารมี" เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ และได้รับหนังสือที่มีคุณค่ามากมาเล่มหนึ่งชื่อ "พุทธมณฑล" ที่คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสืออนุสรณ์พุทธบูชา ในคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพุทธมณฑลจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในวโรกาสมหามงลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มหาราช มีเรื่องที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่อง "พุทธบุรีมณฑล" ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการสร้าง "พุทธมณฑล" ในเวลาต่อมา ในหนังสือนั้นได้กล่าวถึง "มูลเหตุในการสร้างพุทธบุรีมณฑล" ที่จังหวัดสระบุรี เมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นสมัยที่กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยอย่างมากมายไว้ดังนี้

"การสร้างฐานทัพที่เพชรบูรณ์ และการสร้างทางสายกรุงเทพฯอำเภองาว จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นทางผ่านฐานทัพ ทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นสงสัยเป็นอันมาก และคิดจะยึดพื้นที่รบของกองทัพที่ ๒ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสระบุรี ที่เขาคูบา เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามทราบเรื่องนี้ จึงสั่งให้กรมทหารราบสระบุรีเข้ายึดเขาคูบาโดยด่วน และรีบเร่งปลูกสิ่งก่อสร้างโรงเรือนเสร็จภายใน ๓ วัน ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นโกรธมาก และคิดจะเอาชนะไทย ปรากฏในบันทึกของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เรื่องการต่อสู้ขัดขวางรอนกำลังญี่ปุนและการเตรียมรบญี่ปุ่นขั้นสุดท้ายว่า

"ญี่ปุ่นได้คิดจะเอาชนะเราในเรื่องนี้โดยจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่หลังแนวรบของกองทัพที่ ๒ คือ ระหว่างลพบุรีกับสระบุรี ผมจึงเอาพระเข้าช่วย โดยจัดการประกาศสร้างพุทธบุรีมณฑลในบริเวณนี้ทันที ในที่สุดญี่ปุ่นก็ไม่ได้พื้นที่นี้..."

"เพื่อขจัดความระแวงสงสัยของญี่ปุ่นให้หมดไป จอมพล ป.พิบูลสงครามเห็นความจำเป็นที่จะต้องรีบหาอุบายกลบเกลื่อนโดยอ้างว่า รัฐบาลต้องการจะสร้างเมืองหลวงใหม่เพื่ออพยพหลบภัยทางอากาศ ซึ่งขณะนั้น เครื่องบินของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ได้โจมตีทิ้งระเบิดกรุงเทพฯ อย่างหนัก จึงเป็นอุบายที่สอดคล้องแนบเนียนในการปกปิดการก่อสร้างฐานทัพที่เพชรบูรณ์ซึ่งกำลังดำเนินการอย่างรีบเร่ง

"ความคิดในการก่อสร้างเมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงใหม่ ถูกนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาทันที คณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยและมีมติให้ออกประกาศเป็นพระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ โดยรีบด่วน เพราะขณะนั้นเป็นเวลาปิดสมัยประชุมของสภาผู้แทนราษฎร และเพื่อปกปิดความมุ่งหมายในการก่อสร้างเขตปลอดทหารขึ้นที่จังหวัดสระบุรี รัฐบาลจึงได้ออกประกาศพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล ตามมาอีกฉบับหนึ่งด้วยในเวลาใกล้เคียงกัน"

ในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล ซึ่งมีหลักการว่า "เป็นการสร้างนครศักดิ์สิทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นแหล่งกลางในการศึกษาและปฏิบัติศาสนธรรม เป็นที่รวมแห่งศาสนวัตถุโบราณทั่วราชอาณาจักร เป็นที่ตั้งแห่งองค์กรบริหารพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ และเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะ"

หนังสือ "พุทธมณฑล" ได้กล่าวถึงเรื่องการออก "พระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล พุทธศักราช ๒๔๘๗" ไว้ตอนหนึ่งว่า

"อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเหตุผลที่แท้จริงของการสร้างพุทธบุรีมณฑล คือการสร้างเขตปลอดทหารเพื่อเป็นการกีดขวางญี่ปุ่นทางด้านหน้าของกองทัพที่ ๒ ซึ่งเหตุผลนี้ทางรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ด้วยคะแนนเสียง ๓๔ ต่อ ๔๑ ด้วยเหตุผลว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องรีบดำเนินการจัดสร้างพุทธบุรีมณฑลในภาวะสงครามเช่นนี้"

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนด ทั้ง ๒ ฉบับ คือ พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ และพระราชบัญญัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ โครงการพุทธบุรีมณฑลจึงต้องยุติลง เหตุที่สภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับนั้น ก็เพราะรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงวัตถุประสงค์ให้แจ่มแจ้งได้และที่รัฐบาลไม่สามารถชี้แจงวัตถุประสงค์ให้แจ่มแจ้งได้ก็เพราะเป็นความลับทางราชการทหาร ถ้าหากรัฐบาลจะต้องชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ ความลับนี้ก็จะต้องรั่วไหลไปให้ญี่ปุ่นทราบ ซึ่งจะไม่มีผลดีต่อประเทศไทยเลย แต่ด้วยเดชะพระบารมีแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสยามเทวาธิราช ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ปกปักรักษาราชอาณาจักรไทย ประกอบกับนโยบายอันชาญฉลาดของรัฐบาลในสมัยต่อมา สถานการณ์ต่าง ๆ จึงค่อยคลี่คลาย จนชาติบ้านเมืองมีความสงบสุขดังเดิม มิฉะนั้น เราก็คงมิได้เห็น "พุทธมณฑล" ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน

ความเป็นมาของ "พุทธมณฑล" เป็นอย่างไรนั้น ข้าพเจ้าจะได้นำมาเสนอท่านผู้ฟังในโอกาสต่อไป.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๖ ธันวาคม๒๕๓๔
Back