Back

พูดเท็จ - พูดปด - พูดมุสา - โกหก - ตอแหล

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะและรัฐมนตรีรายบุคคลของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านเมื่อวันที่ ๙ - ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ที่เพิ่งผ่านไปไม่นานนี้ ท่านผู้ฟังที่ฟังรายการอภิปรายทางสถานีวิทยุและสถานีวิทยุโทรทัศน์แล้ว คงจะมีความรู้สึกคล้าย ๆ กันประการหนึ่ง ก็คือภาษาที่ท่านผู้แทนราษฎรทั้งหลายใช้ในสภาอันทรงเกียรติของชาตินั้นดูไม่น่าจะเป็นภาษาที่ท่านผู้แทนที่ยกย่องตัวเองว่าเป็นผู้ทรงเกียรติสมควรจะนำมาใช้เลย เพราะได้ยินกันทั่วบ้านทั่วเมือง ถึงกับบางทีก็มีการประท้วงให้ถอนคำพูด นั่นคือคำว่า "โกหก" และ "ตอแหล"ยิ่งผู้ที่ได้ชมการถ่ายทอดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ด้วยแล้ว จะยิ่งเศร้าใจหนักยิ่งขึ้นเพราะกิริยาท่าทางที่ท่านผู้แทนผู้ทรงเกียรติบางคนแสดงประกอบการอภิปรายนั้นไม่ผิดกับชาวบ้านที่มิได้รับการอบรมสั่งสอนในเรื่องมารยาทหรือสมบัติผู้ดีเสียเลย ข้าพเจ้าเกรงว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีสำหรับเยาวชนของชาติที่จะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ต่อไปในภายภาคหน้า ข้าพเจ้าเป็นคนต่างจังหวัด แต่ก็เคยได้รับการอบรมสั่งสอนอยู่เสมอว่า คำว่า "โกหก" นั้น ผู้ดีเขาไม่พูดกัน เขาจะใช้คำว่า "พูดเท็จ" "พูดปด" หรือ "พูดมุสา" แทน ทั้งนี้ เพราะคำว่า "โกหก" นั้นมาจากคำบาลีว่า "กุหก" (กุ - หะ - กะ) แปลว่า "หลอกลวง" บางทีเราก็พูดควบกันเป็น "โกหกหลอกลวง" ก็มียิ่งคำว่า "ตอแหล" ด้วยแล้ว ผู้ชายเขาไม่พูดกัน เป็นคำที่เขาใช้ว่าผู้หญิงเท่านั้น แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชายท่านก็นำคำว่า "ตอแหล" มาใช้ในสภาอันทรงเกียรติได้

ข้าพเจ้าคิดว่าการที่จะเป็น "ผู้ดี" นั้น ไม่จำเป็นจะต้องเกิดในครอบครัวที่สูงศักดิ์เท่านั้น ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็น "ผู้ดี" ได้ ถ้าเขาผู้นั้นได้รับการอบรมสั่งสอนในเรื่อง "สมบัติผู้ดี" มาแล้ว และสามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่อ่านหนังสือ "สมบัติผู้ดี" เลยก็ได้ พระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้ภิกษุทุกรูปจะต้องศึกษาและปฏิบัติตามอันมาในพระปาติโมกข์ซึ่งมีอยู่ ๒๒๗ ข้อนั้น ปรากฏว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ "สมบัติผู้ดี" หรือภาษาพระว่า "เสขิยวัตร" (เส - ขิ - ยะ - วัด) ถึง ๗๕ ข้อ คือประมาณ ๑ ใน ๓ ทีเดียว ทั้งนี้เพราะผู้ที่มาบวชเป็นพระนั้น มาจากครอบครัวที่มีฐานะแตกต่างกัน แต่เมื่อมาบวชแล้ว ถ้าหากไม่ได้รับการอบรมให้มี "สมบัติผู้ดี" แล้ว ชาวบ้านก็อาจดูถูกดูหมิ่นว่ามีกิริยามารยาทเป็นไพร่ไปก็ได้ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ที่เกิดในวรรณะกษัตริย์ จัดว่าเป็น "ผู้ดี" เช่นกัน พระองค์ทรงทราบดีว่าสังคมเขารังเกียจพวก "ศูทร" (สูด) ซึ่งเป็นวรรณะต่ำต้อยหรือเป็นไพร่นั่นเอง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงรับคนทุกวรรณะเข้ามาบวช พระองค์ก็ต้องทรงอบรมสั่งสอนให้พระทุกรูปรู้จัก "สมบัติผู้ดี" ด้วยเพื่อสังคมจะได้ไม่รังเกียจ

เรื่องกิริยามารยาทหรือถ้อยคำวาจานั้นพออบรมสั่งสอนกันได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรงอะไรเลย ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะมีสถาบันอะไรสักสถาบันหนึ่งที่มีหน้าที่ในการอบรมบรรดานักการเมืองทั้งหลายบ้าง เพื่อจะได้มี "สมบัติผู้ดี" มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสไว้ว่า ที่ประชุมใด ถ้าไม่มีสัตบุรุษ คือคนดี ที่ประชุมนั้นไม่ชื่อว่า "สภา"

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามของคำว่า "โกหก" "ตอแหล" และคำอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันไว้ดังนี้

"โกหก ก. จงใจกล่าวคำที่ไม่จริง, พูดปด, พูดเท็จ, (มักใช้ในที่ไม่สุภาพ). (มาจากคำบาลีว่า กุหก)

"ตอแหล ๑ เป็นคำด่าคนที่พูดเท็จ (มักใช้แก่ผู้หญิง) ; ช่างพูดและแสดงกิริยาน่ารัก (ใช้เฉพาะเด็กที่สอนพูด)."

"ตอแหล ๒ ว. เรียกต้นไม้ที่ให้ผลเร็วผิดปรกติ เช่น มะเขือตอแหล."

"เท็จ ว. ปด, โกหก, ไม่จริง."

"ปด, ปดโป้ ก. โกหก, พูดเท็จ, จงใจกล่าวคำที่ไม่จริง."

"มุสา ว. เท็จ, ปด."

คำว่า "เท็จ, ปด, มุสา" กับคำว่า "โกหก" ก็มีความหมายคล้าย ๆ กัน จะแตกต่างกันก็คือน้ำหนักของคำว่าคำใดมีน้ำหนักมากกว่ากันเท่านั้น ในสังคมไทย ถ้าเป็นสังคมผู้ดี ใครไปว่าเขา "โกหก" เขาโกรธมากทีเดียว เพราะเท่ากับไปว่าเขาเป็นคนหลอกลวง แต่ในสังคมเด็ก ๆ เราอาจพูดว่ากันเช่น "อย่ามาโกหกเสียให้ยากเลย ฉันก็ไม่เชื่อ" อย่างนี้ก็ดูไม่แปลกอะไร ยิ่งถ้าไปว่าผู้หญิงคนใดว่า เขาตอแหล อย่างนี้เสียหายมาก ดีไม่ดี อาจถึงตบกันหรือฟ้องร้องกันทีเดียว แต่ถ้าเราเอาไปใช้กับเด็กเล็ก ๆ ที่เพิ่งสอนพูดว่า "ตอแหล" กลับเป็นน่าเอ็นดูไป ถ้าหากผู้ชายต่อผู้ชายว่ากันว่า "ตอแหล" ก็ไม่ทราบว่าคนว่าหรือคนถูกว่าจะเป็นผู้ชายที่สมบูรณ์หรือเป็นกึ่งผู้ชายกึ่งผู้หญิงไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในการอภิปรายในรัฐสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าเป็นสภาที่ทรงเกียรติ ท่านผู้แทนราษฎรที่ถือว่าตนเป็นผู้ทรงเกียรตินั้น ควรจะสังวรระวัง และมีความสำรวมในการพูดการอภิปรายให้มาก อย่าทำตัวเองให้ประชาชนเขาวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงดูถูกเหยียดหยามต่อไปอีกเลย.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๔ มิถุนายน ๒๕๓๖
Back