Back
ภาวะ - สภาวะ - สภาพ - สถานะ


คำในภาษาไทยที่มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต และมีความหมายคล้าย ๆ กันยากแก่การที่จะกำหนดว่า เมื่อใดควรจะใช้คำใด ชุดหนึ่ง ก็คือ คำว่า "ภาวะ - สภาวะ - สภาพ - สถานะ" ซึ่งเรื่องนี้ อาจารย์เจริญ อินทรเกษตร ได้บันทึกไว้ในเรื่อง "กรรมการชำระปทานุกรมทำอะไร ภาค ที่ ๑" ดังนี้

"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) ขอให้ช่วยพิจารณาคำ "ภาวะ สภาวะ สภาพ" ซึ่งที่ประชุมตกลงว่า

ก. ภาวะ หมายถึง ความเป็น (ทั่วไป) ตรงกับคำอังกฤษว่า Condition

ข. สภาวะ หมายถึง ความเป็นเอง ตรงกับคำอังกฤษว่า Nature (abstract)

ค. แต่คำ สภาพ นั้น หมายถึง ภูมิแห่งความเป็น (ภูมิ - ชั้น, ขีดขั้น) ตรงกับคำอังกฤษว่า State

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการแย้งมาว่า สภาวะ กับ สภาพ ควรมีเนื้อความเป็นอย่างเดียวกันกระมัง คือ ภาวะ หมายถึง ความเป็นอยู่, สภาวะ สภาพ หมายถึง ความเป็นอยู่ตามธรรมชาติ คำทั้งสามนี้ดูเหมือนจะใช้สับสนกันอยู่ เช่นว่า สภาพของโรงเรียน สภาพเศรษฐกิจ สภาพสงคราม เหล่านี้ เป็นความเป็นอยู่ที่มนุษย์บันดาลให้เป็นทั้งสิ้น ไม่ใช่เป็นโดยธรรมชาติ น่าจะเป็นภาวะ, สภาพของป่า ของต้นไม้ ของมนุษย์ ในส่วนหัวเราะเป็น คิดเป็น เหล่านี้จึงควรใช้ สภาพหรือสภาวะ

ที่ประชุมมีความเห็นว่า ที่ตกลงไว้คราวก่อนว่า

สภาวะ ตรงกับ Nature (abstract)
สภาพ " State
ภาวะ " Condition

เพราะคำว่า สภาวะ กับ สภาพ มีเสียงต่างกัน พอจะแยกให้ใช้ต่างกันได้ ทั้งในประมวลกฎหมายแพ่ง บรรพ ๑ มาตรา ๑๕ ใช้ว่า สภาพบุคคล ซึ่งเป็นที่เข้าใจอยู่แล้ว โดยความหมายที่ต่างจากคำ สภาวะ อนึ่ง เห็นว่าถ้าใช้คำ สภาพ ในที่ State แล้ว, สำหรับ Condition จะได้ใช้คำ ภาวะ เพราะในศัพท์วิทยาศาสตร์ที่บัญญัติคำ พฤติภาพ ในที่ Condition นั้น มหาชนไม่นิยม, ถ้าจะให้ใช้คำ สภาพ เป็นเดียวกับ สภาวะ ในที่ Nature (abstract) แล้ว, จะต้องย้ายเอาคำภาวะ ไปใช้ในที่ State ฉะนั้นคำ Condition จะควรใช้ว่ากระไร

ต่อมาที่ประชุมได้ย้อนพิจารณาถึงเรื่องคำ สภาวะ สภาพ กับ ภาวะ ซึ่งมีทางแย้งอย่างอื่นอีกดั่งกล่าวมาแล้ว ในคราวนี้เห็นควรแก้ไขให้ใช้ได้เหมาะทุกทาง จึงพร้อมกันพิจารณาใหม่และตกลงในที่ประชุมว่า

สภาวะหรือสภาพ ตรงกับ Nature (abstract)
แหล่ง " State
ภาวะ " Condition

ต่อมาได้ย้อนพิจารณาถึงคำ "แหล่ง" ซึ่งให้ใช้สำหรับ State นั้น เห็นว่ายังขัดอยู่ในบางความ เช่นว่า State of war ถ้าแปลว่า แหล่งแห่งสงคราม ชวนให้รู้สึกเป็นว่า สงครามอยู่ที่ไหน ไม่ตรงกับความหมาย ปรึกษาเห็นร่วมกันว่าควรเปลี่ยนคำ แหล่ง ในที่นั้นเสียใหม่ ในที่สุดได้ตกลงกันว่า ควรเป็นคำ สถานะ เพราะเป็นธาตุเค้าเดียวกัน

ที่จริงคำว่า ฐาน, ฐานะ, สถาน ว่าถึงรูปเดิมก็มีความหมายเป็นอย่างเดียวกันทั้งนั้น แต่เรานำมาใช้ในภาษาไทยต่างกันทั้ง ๓ รูป คือ

ฐาน ที่รอง ฯลฯ เช่น ฐานพระพุทธรูป

ฐานะ ชั้น ตำแหน่ง ฯลฯ เช่น วิทยฐานะ

สถาน ที่ทาง ฯลฯ เช่น สถานเสาวภา

เมื่อคำว่า ฐาน มีคำว่า สถาน ใช้เป็นคู่กันได้แล้ว คำว่า ฐานะ ก็ควรมีคำว่า สถานะ มากำกับให้ได้คู่กัน, และใช้ในที่ State ได้ จึงเป็นอันยุติได้ ดังนี้

สภาวะหรือสภาพ ตรงกับ Nature (abstract)
ภาวะ " Condition
สถานะ " State

ท่านผู้ฟังจะเห็นว่าคณะกรรมการชำระปทานุกรมในสมัยแรก ๆ ต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยไปในตัวด้วย เพราะในสมัยนั้นยังไม่มี "คณะกรรมการการบัญญัติศัพท์ภาษาไทย" ของราชบัณฑิตยสถาน ในที่สุดคณะกรรมการชำระปทานุกรมในสมัยแรก ๆ ท่านจึงได้ให้บทนิยามของคำว่า "ภาวะ - สภาวะ - สภาพ" และ "ฐาน - ฐานะ - สถานะ" ไว้ดังปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ดังนี้

"ภาวะ น. ความเป็น, ความปรากฏ."
"สภาวะ น. สภาพ."
"สภาพ น. ความเป็นเอง, ลักษณะในตัวเอง ; (โบราณ) ภาวะ, ธรรมชาติ."
"ฐาน น. แท่น, ที่รอง, เช่น ฐานพระพุทธรูปเป็นต้น ; ที่, ที่ตั้ง, เหตุ ; หลักแหล่ง."
"ฐานะ น. ตำแหน่ง."
"สถาน น. ที่, ความเป็นไป; ประการ."
"สถานะ น. ความเป็นไป, ความเป็นอยู่."

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๓๑ มีนาคม๒๕๓๕
Back