Back
ภาษาปาก - คำสแลง - คำคะนอง


คำในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ทั้ง พ.ศ. ๒๔๙๓ และ พ.ศ. ๒๕๒๕ มีอยู่บางคำที่มีข้อความในวงเล็บบอกไว้ว่า "ปาก" เช่นคำว่า "ขี้โครง" พจนานุกรมบอกว่า "(ปาก; ถิ่น) น. ซี่โครง." หรือคำว่า "ขี้กะโล้โท้" ซึ่งหมายความว่า "ว. ไม่ดี, ไม่มีคุณภาพ, เอาเรื่องเอาราวไม่ได้." คำว่า "ขี้ตืด" ซึ่งหมายความว่า "ว. ตระหนี่เหนียวแน่นมาก." สำนวนว่า "ขี้ใหม่หมาหอม" ซึ่งหมายความว่า "ก. เห่อของใหม่." เป็นต้น ท่านจะมีวงเล็บบอกไว้ว่า "ปาก" คือ เป็น "ภาษาปาก" ทั้งสิ้น แต่คำว่า "ภาษาปาก" พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ยังมิได้เก็บไว้ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากไปดู "บัญชีอักษรย่อที่ใช้ในพจนานุกรมนี้" ก็จะพบว่า คำว่า "(ปาก)" ท่านให้ความหมายไว้ว่า "คือ คำที่เป็นภาษาปาก" ปัญหาก็จะมีต่อไปว่าแล้ว "ภาษาปาก" คือภาษาประเภทใดเล่า

ในหนังสือ "ความรู้ทางอักษรศาสตร์" ที่ราชบัณฑิตยสถานตีพิมพ์ ในตอนที่ว่าด้วย "กรรมการชำระปทานุกรมทำอะไร ภาคที่ ๑" ที่อาจารย์ เจริญ อินทรเกษตร เลขานุการคณะกรรมการชำระปทานุกรม ได้รวบรวมและจัดตีพิมพ์ นั้น ได้บันทึกเหตุผลจากการอภิปรายของคณะกรรมการชำระปทานุกรมไว้ดังนี้

"ในพจนานุกรม คำที่ใช้เป็นเพียงคำพูด ไม่ใช่ในการเขียนหนังสือได้บอกลักษณะไว้ต่อท้ายคำนั้น ๆ ว่า (ปาก) ซึ่งหมายความว่าเป็นภาษาปาก.

"กรรมการผู้หนึ่งเสนอว่า คำว่า "ภาษาปาก" นั้น ถ้าชัดแล้วก็แล้วไป คำที่พึงบรรจุลงในพจนานุกรมนั้น คือคำทั่วไปหรือคำมาตรฐาน ซึ่งแบ่งออกเป็นคำพูด (spoken หรือ colloquial) และคำเขียน (written) เราควรจะเก็บทั้งสองประเภท และคำใดเป็นคำพูด เราบอกไว้ก็ดีแล้ว แต่ในจำพวกคำพูดนั้น มีคำเฉพาะเหตุที่ฝรั่งเรียกว่า slang (แสลง) ประเภทนี้เราไม่ควรเก็บ ส่วนคำที่บรรจุไว้แล้วในร่างพจนานุกรมนั้น เป็นคำควรเก็บโดยแท้ แต่จะเรียกว่า ภาษาปากหรือภาษาพูด หรือ คำพูด อย่างไรก็ดี ขอให้พิจารณาอีกครั้ง คำว่า ภาษาปาก ชวนให้คิดถึง Slang แต่นี่อาจเป็นแต่เพียงความรู้สึกเฉพาะของผู้เสนอ ถ้ากรรมการเห็นว่า คำภาษาปากชัดอยู่แล้วก็ไม่ขัดข้อง

"ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คำ Slang ที่ไม่สุภาพ บางคำก็ต้องเก็บเข้าพจนานุกรม เพราะใช้ทราบกันทั่วไปไม่เฉพาะเหล่า และคำ Slang มีลักษณะผิดจาก ภาษาปาก เพราะฉะนั้น จึงคงใช้คำว่า ภาษาปาก ตามเดิม"

นี้ก็เป็นเหตุผลที่ท่านชี้แจงเกี่ยวกับคำ "ภาษาปาก" ส่วนจะตรงกับคำว่า Slang ในภาษาอังกฤษหรือไม่นั้น ก็จะต้องพิจารณากันต่อไป

หนังสือ New Model English - Thai Dictionary ฉบับใหญ่ของคุณ สอ เศรษฐบุตร ที่ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไทยวัฒนาพานิช จัดพิมพ์จำหน่ายได้ให้ความหมายของคำว่า Slang ไว้ดังนี้ "ถ้อยคำที่ใช้กันทั่วไป แต่ไม่ถูกต้องตามหลักของภาษา และมักใช้กันชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น, คำตลาด, ถ้อยคำที่ใช้เข้าใจกันเฉพาะชนหมู่ใดหมู่หนึ่ง เช่น คำพูดแปลก ๆ ของเด็กนักเรียน"

"คำตลาด" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานมิได้เก็บไว้ ซึ่งก็คงหมายถึงคำที่ชาวตลาดคือพวกพ่อค้าแม่ค้าเขาพูดกัน รู้กันในหมู่ของพวกเขา บางคำก็อาจไม่สุภาพเอามาก ๆ

คำว่า Slang ในภาษาอังกฤษ กับคำว่า "ภาษาปาก" ในภาษาไทย ไม่เหมือนกันทีเดียว เพราะคำว่า "ภาษาปาก" บางทีก็มิได้เป็นคำหยาบคายอะไร คนทั่ว ๆ ไปก็ใช้กันเป็นธรรมดา เพียงแต่ไม่นิยมเอามาใช้เป็นภาษาเขียนเท่านั้น และคำภาษาปากนี้ ถ้าใช้กันติดและแพร่หลายแล้ว หากไม่เป็นคำที่หยาบคายอะไร คณะกรรมการชำระปทานุกรมในสมัยนั้น และคณะกรรมการชำระพจนานุกรมสมัยนี้ก็พิจารณาเก็บเข้าพจนานุกรมเป็นคำ ๆ ไป

ส่วนคำว่า "คำคะนอง" นั้น ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ท่านบอกว่าเป็นคำที่พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นผู้บัญญัติคำนี้ขึ้นใช้เข้าใจว่าคงจะแทนคำภาษาอังกฤษว่า slang นั่นเอง ท่านผู้หญิงสมโรจน์ พยายามที่จะชุบคำว่า "คำคะนอง" ให้กลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ ข้าพเจ้าเองก็ได้พยายามใช้อยู่บ่อย ๆ เหมือนกัน เพราะเรามีคำเก่า ๆ ที่คนทั่ว ๆ ไปลืมเลือนหมดแล้ว น่าที่พวกเราจะได้นำมาใช้เพื่ออนุชนจะได้รู้จัก ถ้าหากคำนั้นเป็นคำที่สุภาพและมีความหมายดี ดีกว่าที่เราจะมาบัญญัติคำใหม่ ๆ ขึ้นมาโดยไม่จำเป็น.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๓กุมภาพันธ์๒๕๓๕
Back