Back

ภาษาวิปริต

ถ้าท่านผู้ฟังโฆษณาสินค้าบางอย่างทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์จะพบว่ามีภาษาโฆษณาแปลก ๆ ใหม่ ๆ ออกมาเสมอ แม้แต่คนที่ได้รับการศึกษาน้อย ก็ยังออกปากบ่นว่าเป็นภาษาวิปริต ซึ่งจะมีออกมาเป็นระยะ ๆ ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่าทางคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอโฆษณาอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และ ก.บ.ว.ปล่อยให้ออกมาได้อย่างไร หรือว่าการโฆษณานั้นไม่ต้องผ่านคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอโฆษณาอาหารและยา และ ก.บ.ว. ภาษาที่โฆษณาซุปไก่ยี่ห้อหนึ่ง มีข้อความว่า "อร่อยจังเลยตัวเอง" ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่าหมายความว่ากระไร ได้ยินได้ฟังมาหลายเดือนแล้วข้าพเจ้าก็เป็นอนุกรรมการพิจารณาคำขอโฆษณาอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขด้วยคนหนึ่ง แต่ในระยะหลัง ๆ ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสไปร่วมประชุม เพราะภารกิจที่ราชบัณฑิตยสถานมีมาก เพราะข้าพเจ้ามีประชุมทุกวันทั้งเช้าและบ่ายและไม่มีโอกาสไปร่วมประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข บางเดือนก็พยายามปลีกไปได้สักครั้งหนึ่ง จึงทำให้ภาษาวิปริตเหล่านี้หลุดรอดมาได้ หรือบางทีก็ได้ยินสตรีผู้หนึ่ง ไม่ทราบว่าพูดหรือโฆษณาอะไร เพราะตามปรกติข้าพเจ้าไม่ได้ดูรายการต่าง ๆ ในโทรทัศน์ นอกจากสารคดีพิเศษบางเรื่องหรือข่าวและกีฬาเท่านั้น แต่ก็ได้ยินข้อความว่า "นะตัวเอง" อยู่เสมอ ซึ่งคล้าย ๆ ถามหรือขอความเห็นใจอย่างนั้นแหละ บางคนก็บอกว่าเป็น "ภาษาดัดจริต" มากกว่า

คำว่า "ตัวเอง" ไม่ใช่ว่าจะไม่มีใช้ในภาษาไทย แต่ไม่ใช่ในกรณีดังเช่น "อร่อยจังเลยตัวเอง" เราอาจพูดว่า "เราจะต้องทำงานด้วยตัวของเราเอง" หรือ "ตัวเองนั้นแหละเป็นที่พึ่งของตัว" แทนที่จะพูดว่า "ตนแลเป็นที่พึ่งของตน" เพราะคำว่า "ตัว" และ "ตน" บางทีก็ใช้สับที่กันได้ บางทีก็ใช้เข้าคู่กันเป็น "ตัวตน" เลยก็มี อย่างเราอาจพูดว่า "ไม่ใช่ตัวตนอะไรของเรา" ภาษาวิปริตดังกล่าวแล้ว บางทีก็ใช้ตาม ๆ กัน เห็นเป็นเรื่องโก้เก๋ ทันยุคทันสมัยไปก็มี โดยเฉพาะพวก "ปัญญานิ่ม" ทั้งหลาย

เมื่อ ๒ - ๓ ปีมาแล้ว ก็มีภาษาที่พูดแบบประหยัด ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้เคยวิจารณ์มาแล้ว ระยะนี้ก็เพลา ๆ ลง แต่ก็ยังมีอยู่บ้าง นั่นคือสำนวนที่ว่า "เท่านั้นเอง" ก็เหลือเพียง "เอง" เช่น "ราคา ๕ บาทเท่านั้นเอง" ก็พูดเป็น "ราคา ๕ บางเอง" หรือ "เขามาคนเดียวเท่านั้นเอง" ก็พูดว่า "เขามาคนเดียวเอง" แต่คำว่า "เอง" ในบางกรณีก็ไม่จำเป็นต้องมี "เท่านั้น" ประกอบข้างหน้า เช่น "เขาทำเอง" "ผมพูดเอง" ฯลฯ อย่างนี้ไม่ต้องเติม "เท่านั้น" ไว้ข้างหน้าคำว่า "เอง"

นอกจากนั้น ก็มักจะเป็นภาษาที่เด็ก ๆ พูดกัน แล้วบางทีผู้ใหญ่ก็พลอยพูดตามไปด้วย จะเป็นเพราะไม่ทราบหรือจะดัดจริตพูดข้าพเจ้าก็ไม่ทราบเหมือนกัน นั่นคือข้อความที่คำหน้าเป็น "แม่กก" บางทีก็ออกเสียง "กะ" เพิ่มเข้ามาโดยไม่จำเป็น เช่น "หกล้ม" ก็พูดเป็น "หก - กะ - ล้ม" คงจะถือ "นกยาง" เป็น "นก - กะ - ยาง" "นกจอก" เป็น "นก - กะ - จอก" เป็นแนวเทียบกระมัง ตอนแรก ๆ ก็ได้ยิน "หก - กะ - ล้ม" ก่อน ต่อมาก็ได้ยินคำลักษณะนี้เพิ่มเข้ามาอีก เช่น "สักนิด" ก็ออก เสียงเป็น "สัก - กะ - นิด" หรือ "สักนิดหน่อย" ก็ออกเสียงเป็น "สัก - กะ - นิด - กะ -หน่อย"

อีกเรื่องหนึ่งที่มีผู้ทักท้วงด้วยความเป็นห่วงเป็นใยมาก ก็คือการพูดเสียงเพี้ยนออกไป โดยเพิ่มเสียงวรรณยุกต์ให้สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เช่น "พ่อแม่" ก็ออกเสียงเป็น "พ้อแม้" จนมีผู้ส่งคำกลอน "ภาษาไทยเพี้ยน" มาให้ ผู้เขียนไม่ได้บอกนามจริง บอกเพียงว่า "หนุ่มสิบหกกลับ (แค้น)" เขียนเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เท่านั้น ข้าพเจ้าขอนำมาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"ครูภาษาไทย สอนพูดไทย ด้วยเสียงเพี้ยน
เพราะไม่เรียน ภาษาไทย ให้ถูกหลัก
ทั้งด๊อกเตอร์ เห่อภาษา ไม่กล้าทัก
แค้นใจนัก จึงร้อยรจน์ พจนา
โฆษกหญิง ที่แท้จริง พูดไทยเพราะ
เธอนั้นเหมาะ ในเรื่องงาน ด้านภาษา
แต่มักพูด สำเนียงเพี้ยน เหี้ยนอักขร
"พู้ดกรุงเท้พ" ทุกทุกครา ผิดเอกโท
เพี้ยนจากผัน ก กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า
ใช้ภาษา ไม่ถูกหลัก มากอักโข
เป็นเพราะพวก สำเนียงไพร เป็นใหญ่โต
พูดไทยโก้ แต่เสียงเพี้ยน เด็กเมี่ยนตาม
อีกดารา นักแสดง แฝงโทรทัศน์
ทั้งคนจัด เรื่องรายการ สันดานห่าม
เริ่มพูดจา เพี้ยนจากจิต คิดเลวทราม
มันเหยียดหยาม ภาษาไทย จัญไรนัก
ยกตัวอย่าง ที่ดีเด่น ให้เห็นเค้า
มีพระเจ้า อยู่หัว ทรงเป็นหลัก
ทั้งพระเทพ พระนางเจ้า เราแสนรัก
พระองค์ทรง เป็นหลัก ภาษาไทย
สามพระองค์ ทรงพูดไทย ไม่ผิดเพี้ยน
ไยไม่เลียน เพียรเอาอย่าง ทางดีไว้
ชอบเอาอย่าง ทางไม่งาม ตามแต่ใจ
สำเนียงไทย ให้วิบัติ จัดว่าเลว"

กลอนยังมีต่อไปอีก แต่เห็นว่าไม่สมควรจะนำมาเผยแพร่ จึงขอจบไว้เพียงเท่านี้ อย่างน้อย ก็อาจทำให้บรรดาโฆษกหรือผู้จัดรายการทั้งหลายได้สำเหนียกไว้บ้าง.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๖
Back