Back
ภาษาโฆษณาที่ไม่ผ่านการอนุญาต


เมื่อคราวที่แล้ว ข้าพเจ้าได้นำภาษาโฆษณาเกี่ยวกับอาหารที่ทางบริษัทห้างร้านส่งไปขออนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และทางคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอโฆษณาอาหารและยาไม่อนุญาต และได้แนะนำให้นำไปปรับปรุงแก้ไขใหม่แล้วนั้น นอกจากคำโฆษณาแบบต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีคำโฆษณาอื่น ๆ ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอโฆษณาอาหารและยาไม่อนุญาตอีกหลายรูปแบบ วันนี้ข้าพเจ้าขอนำคำขอโฆษณาแบบอื่น ๆ มาเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้

คำขอโฆษณาน้ำมันปาล์มโอลีอีน ตราพลอย ได้ขออนุญาตไปเป็นข้อความสั้น ๆ ดังนี้
"กรอบอร่อย ไม่อมน้ำมัน
มีวิตามิน E"

คณะอนุกรรมการได้ตั้งข้อสังเกตว่า "น้ำมันปาล์มโอลิอีน" จะกรอบได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นน้ำมัน คำว่า "กรอบอร่อย" พิมพ์มาติดกัน ก็ทำให้มีปัญหาว่า "น้ำมันทั้งกรอบทั้งอร่อยด้วยหรือ" และยังแถมว่า "ไม่อมน้ำมัน" เสียอีก คณะอนุกรรมการก็ตั้งข้อสังเกตว่า น้ำมันก็ต้องเป็นน้ำมัน จะอมน้ำมันได้อย่างไร จึงได้มีมติให้ปรับปรุงแก้ไขใหม่

อีกรายหนึ่งเป็นคำขอโฆษณา "ไก่ย่างห้าดาว" ทางวิทยุ มีข้อความ ดังนี้
"ชิ้นเดียวอยู่...อยู่ไหนหรือ
ก็อยู่ปาก...อยู่ท้อง...อยู่ติดครัว
ไม่ต้องกลัว...ถ้าลองเป็นอกไก่อบชานอ้อยแล้วล่ะก็
อยู่หมัด ไม่ว่าอยู่ผัด...อยู่ทอด...อยู่ตุ๋น...อยู่ลาบ...อยู่ยำ
อยู่ทำแพนง...อยู่แกงโฮ๊ะ...อยู่สลัด...อยู่แซนวิส...อยู่บาบีคิว
อยู่พิซซ่า หรือว่า อยู่เฉย ๆ เพราะไม่ต้องทำอะไรก็
อร่อยอยู่แล้ว...เล่นอบชานอ้อยอย่างดี เนื้ออกจึงนุ่ม หอม
ยิ่งตอนร้อน ๆ จุ่มในน้ำจิ้มหวาน ๆ แล้วล่ะก็...อยู่จริง ๆ"

ข้อความโฆษณาดังกล่าวนี้ทางคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอโฆษณาอาหารและยาไม่อนุญาต เพราคำว่า "อยู่ผัด อยู่ทอด อยู่ตุ๋น อยู่ลาบ อยู่ยำ" เป็นต้นนั้น ไม่มีใช้ในภาษาไทย คำว่า "อยู่" และลูกคำที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้เก็บไว้แล้วมีดังนี้

"อยู่ ก. พัก, อาศัย; ยัง, มี, ยังมีชีวิต; คงที่, ไม่ไปจากที่; ใช้ประกอหลังกริยาอื่น แสดงว่ากำลังเป็นอยู่ในขณะนั้น เช่น นอนอยู่ ตั้งอยู่."
"อยู่กรรม ก. แยกตนออกไปประพฤติวัตร เพื่อออกจากอาบัติสังฆาทิเสส (ใช้แก่ภิกษุ)."
"อยู่กิน ก. ดำรงชีวิตฉันผัวเมีย."
"อยู่คง ก. ทนทานต่อศัสตราวุธ."
"อยู่งาน (ราชาศัพท์) ก. ปรนนิบัติรับใช้."
"อยู่จริง ว. เป็นคำที่เปล่งออกมาแสดงความหนักใจ."
"อยู่ดีกินดี ว. มีความสุขสบาย."
"อยู่ตัว ก. ถึงระดับที่คงตัว, คงที่, ไม่เปลี่ยนแปลง."
"อยู่ท้อง ว. อิ่มได้นาน."
"อยู่ไฟ ก. นอนใกล้ไฟให้อบอุ่นเป็นการรักษามดลูก เมื่อคลอดลูกแล้ว."
"อยู่มือ ก. เกรงกลัวไม่กล้าฝ่าฝืน, อยู่ในบังคับไม่กล้าฝ่าฝืน."
"อยู่ไม่สุข ก. อยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้."
"อยู่ยงคงกระพัน ว. ทนทานต่อศัสตราวุธ."
"อยู่ยาม ก. เฝ้าระวังเหตุการณ์."
"อยู่โยง ก. อยู่เฝ้าแต่ผู้เดียว ผู้อื่นไปกันหมด."
"อยู่เวร ก. ผลัดกันอยู่รักษาหน้าที่ตามเวลาที่กะกันไว้."
"อยู่หมัด ก. เกรงกลัวฝีปากหรือฝีมือ, อยู่ในอำนาจ."

ลูกคำของ "อยู่" มีรวม ๑๖ คำ และมีคำว่า "อยู่หมัด" เป็นคำสุดท้าย ผู้ขอโฆษณาคงจะเห็นว่าเมื่อใช้ "อยู่หมัด" ได้ "อยู่" อื่น ๆ ก็คงจะได้ด้วย ดังนั้นจึงมีคำว่า "อยู่" นำหน้าแปลก ๆ อีกมากตามมา เช่น "อยู่ทำแพนง, อยู่แกงโฮ๊ะ, อยู่สลัด, อยู่แซนวิส อยูบาบีคิว อยู่พิซซ่า" และอาจมี "อยู่" อะไรต่ออะไรอีกมาก ทางคณะอนุกรรมการฯ จึงไม่อนุญาต นอกจากนั้นยังเขียน "โฮะ" โดยมีไม้ตรีกำกับด้วย คำนี้แม้ไม่มีไม้ตรีก็อ่านว่า "โฮะ" อยู่แล้ว คนในปัจจุบันไม่ค่อยสนใจภาษาไทย จึงไม่ทราบว่าคำใดที่ใช้ไม้ตรีได้ คำใดใช้ไม่ได้ ขอให้จำไว้ง่าย ๆ ก็คือว่า คำที่จะใช้ไม้ตรีหรือรูปวรรณยุกต์ตรีได้ จะต้องคำประเภท "อักษรกลาง" ซึ่งมี ๙ ตัว คือ "ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ" เท่านั้น.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๕สิงหาคม๒๕๓๕
Back