Back

ภาษาไทยล้านนา - ภาษาไทยพายัพ

เมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ข้าพเจ้ากับคณะกรรมการทำพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมแห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้เดินทางไปศึกษาเกี่ยวกับโบราณสถานในบางจังหวัดทางภาคเหนือ และได้แวะไปที่วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา ด้วย ที่วัดศรีโคมคำนี้ ข้าพเจ้าได้ซื้อหนังสือ "แบบเรียนภาษาล้านนา" มาเล่มหนึ่ง หนังสือนี้ คุณเอื้อ มณีรัตน์ เป็นผู้เรียบเรียงและชมรมล้านนาคดีศึกษา วัดศรีโคมคำ อ.เมือง จ.พะเยา จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ ในโอกาสที่พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ไปทอดกฐินพระราชทาน ณ วัดศรีโคมคำ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ข้าพเจ้ามีความสนใจมาก จึงขอนำ "คำปรารภ" ของท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิเวที รองเจ้าคณะภาค ๖ มาเสนอท่านผู้ฟังเพื่อจะได้ทราบวัตถุประสงค์ของการจัดทำตำรา "แบบเรียนภาษาล้านนา" ดังนี้

"การเขียนตำราแบบเรียนภาษาล้านนาขึ้นครั้งนี้ เหตุที่คณะกรรมการชมรมวรรณกรรมล้านนาคดีศึกษา จังหวัดพะเยา มีทั้งคณะสงฆ์และฆราวาส เพื่อร่วมกันฟื้นฟูภาษาล้านนาซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิม และช่วยฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมของท้องที่ที่เลือนลางไปจากของเดิมให้สมบูรณ์ขึ้น นอกจากนี้เรื่องของวรรณกรรมคดีล้านนาที่จารึกไว้ในใบลาน ปั้มหนังสา และจารึกอื่น ๆ ซึ่งมากล้วนแต่บรรจุเรื่องราวที่เป็นสาระมีอยู่ทั้งประเภทคำสอน ชาดก ตำนาน ตำรายาสมุนไพร กฎหมายอื่น ๆ อีกมาก สมควรจะได้ค้นคว้าออกมาเพื่อศึกษาให้เกิดประโยชน์

"แต่ตำราเหล่านี้ ล้วนแต่เขียนเป็นภาษาล้านนา ที่เรียกว่า ภาษาพื้นเมืองทำให้ผู้สนใจจะศึกษาค้นคว้า อ่านไม่ได้เขียนไม่เป็น จึงจำต้องเรียนภาษาล้านนานี้ให้มีความคล่องแคล่วก่อน ที่ประชุมชมรมได้เสนอเขียนตำราแบบเรียนขึ้น การเรียนภาษาล้านนาหรือภาษาพื้นเมืองนี้ ครูบาอาจารย์สอนต่อ ๆ กันมา เป็นหนังสือจดจำกันด้วยมุขปาฐที่ปากเปล่าบ้าง เมื่อจดจำได้แล้ว ก็อ่านหนังสือธรรมใบลานเป็นพื้นจนคล่องแคล่วสืบกันมา แต่มาระยะหลังได้ขาดตกบกพร่องไป เพราะตามวัดต่าง ๆ ที่เคยสอนก็เลอะเลือนไป เพราะไม่มีตำราเรียนเป็นหลัก ดังนั้นจึงได้สร้างตำราแบบเรียน การเขียนตำราแบบเรียนครั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบให้อาจารย์เอื้อ มณีรัตน์ เป็นผู้ร่างตำราแบบเรียนนี้ขึ้นเพื่อแจกจ่ายเป็นบรรณาการแก่ผู้ต้องการศึกษาเล่าเรียน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือสถานศึกษาใด หากมีความสนใจใช้ตำราแบบเรียนนี้ไปศึกษาได้เลย จึงขออนุโมทนาในความอุตสาหวิริยะ ของ อาจารย์เอื้อ มณีรัตน์ ที่ได้ทำตำราเรียนภาษาล้านนาให้สำเร็จลงด้วยดี

นอกจากนั้น คุณเอื้อ มณีรัตน์ ยังได้เขียน "คำนำ" ไว้ดังนี้

"แบบเรียนภาษาล้านนาได้แต่งขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการอ่านและเขียนอักษรธรรมล้านนาได้โดยเฉพาะผู้ที่พูดภาษาล้านนาเป็นอยู่แล้ว และจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากครูอาจารย์ที่ชำนาญในอักษรศาสตร์ล้านนาด้วย ไม่เหมาะสำหรับเรียนด้วยตนเอง

"เนื้อหาของแบบเรียนนี้ เรียงลำดับในลักษณะที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถอ่านและเขียนภาษาล้านนาได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เพื่อมิให้เกิดความท้อแท้เบื่อหน่ายเสียก่อน ดังนั้น จึงอาจแตกต่างจากตำราที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ในทางทฤษฎีด้านภาษาศาสตร์และวรรณคดีชั้นสูง แต่ก็มีคำศัพท์ที่ใช้ในบทกวีมากพอสมควร แม้จะมีบทกวีเพียงเรื่องเดียว แต่ก็เป็นบทกวีที่แต่งขึ้นเพื่อบรรจุคำศัพท์ที่ควรรู้ในเรื่องนั้นค่อนข้างมาก เพื่อความสะดวกแก่ผู้เรียนและผู้สอนในที่มีเวลาจำกัด"

ในบทที่ ๑ ซึ่งเป็น "บทนำ" ของหนังสือนี้ มีข้อความที่น่าสนใจมาก ดังนี้

"ภาษาล้านนา หมายถึง คำเมือง ซึ่งใช้กันอยู่ในหมู่คนเมืองอันเป็นประชากรส่วนใหญ่ของคนไทยภาคเหนือ

ตัวอักษรที่ใช้เขียนภาษาล้านนา เรียกว่า อักษรธรรมล้านนา หรือ ตัวเมือง ซึ่งมีต้นตอมาจาก อักษรครันถ์ ของอินเดีย เชื่อกันว่าชนชาติมอญนำตัวอักษรของอินเดียมาใช้ก่อน ต่อมาคนไทยภาคเหนือจึงได้นำมาใช้ในภาษาของตน เพื่อประโยชน์ในการศึกษาพุทธศาสนาที่เรารับมาจากมอญ การที่เรียกว่า "อักษรธรรม" ก็เพราะใช้ในการเขียนคัมภีร์ทางศาสนานั่นเอง

คนสมัยก่อนใช้เหล็กแหลมที่เรียกว่า เหล็กจาร เขียนตัวหนังสือลงบนใบลาน การเขียนด้วยวิธีนี้เรียกว่า จารหนังสือ ในสมัยต่อมา เมื่อคนไทยรู้จักวิธีทำกระดาษสา จึงบันทึกลงบนกระดาษสาด้วยดินสอหรือปากกา

การจารหนังสือลงบนใบลานนั้น ต้องระวังไม่ให้ใบลานแตกปริ คือ ต้องเขียนตัวอักษรให้มีรูปร่างค่อนข้างกลม ประกอบด้วยเส้นโค้งเป็นส่วนมาก

ตัวอักษรล้านนานั้น บางตัวก็มีส่วนกว้างเท่ากับส่วนสูง บางตัวก็มีส่วนกว้างมากกว่า หรือน้อยกว่าส่วนสูง"

ในภาคผนวกของ "แบบเรียนภาษาล้านนา" นี้ ยังได้กล่าวถึง "อักษรฝักขาม - อักษรครันถ์" "อักษรมอญ" และ "อักษรพม่า" และให้ตัวอักษรเปรียบเทียบไว้ด้วย นับว่ามีประโยชน์มาก.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๖
Back