Back
ภาษาไทยในภาษาโฆษณา


วันนี้ขอนำเรื่องภาษาไทยที่บริษัทห้างร้านใช้ในการโฆษณาอาหารและยาที่คณะอนุกรรมการพิจารณาขอโฆษณาอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขไม่ อนุญาต หรือแจ้งให้นำไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ ซึ่งบางทีก็มีผู้สงสัยว่าทำไมจึงไม่ อนุญาต คณะอนุกรรมการฯ ควรเปิดใจกว้าง เพราะบางคำก็มีผู้ใช้กันอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการเท่านั้น เรื่องนี้ข้าพเจ้าขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า ภาษาที่ขอโฆษณานั้น ถ้าใช้ภาษาที่ถูกต้อง ไม่ทำให้กลายเป็น "ภาษาวิบัติ" แล้ว คณะอนุกรรมการฯ ก็อนุญาตเสมอ แต่บางคำเป็น "ภาษาพูด" ไม่ใช่ "ภาษาเขียน" คณะอนุกรรมการฯ ก็ขอให้แก้เป็น "ภาษาเขียน" เช่น คำว่า "ทานข้าว ทานยา" อย่างนี้ ท่านก็ให้ใช้ว่า "กินข้าว กินยา" หรือ รับประทานข้าว รับประทานยา" คำว่า "ไหม" ซึ่งเป็นคำถาม บางทีผู้ขอโฆษณาเขียนเป็น "มั้ย" หรือ "มั๊ย" คณะอนุกรรมการฯ ก็ให้แก้เป็น "ไหม" คำว่า "เค้า" ก็ให้แก้เป็น "เขา" เป็นต้น นอกจากนั้น ภาษาโฆษณาที่ขอมา ไม่เป็นภาษาที่ดี หรือทำให้ตีความผิดได้ ก็ขอให้แก้ใหม่ เช่น คำขอโฆษณา "น้ำมันรำข้าวผ่านกรรมวิธี (ตราคิง)" มีดังนี้

"สูงคุณค่าของรำข้าวบริสุทธิ์
รำข้าวซึ่งห่อหุ้มอยู่รอบเมล็ดข้าว
คือ ส่วนที่อุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร เพราะนอกจากจะประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีนแล้ว รำข้าวยังมีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (Unsaturated fatty acid) พร้อมวิตามินอี วิตามินบี และสารโอรีซำนอล ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ อีกด้วย น่าเสียดายที่การขัดสีข้าวเพื่อให้ได้ข้าวขาวอย่างที่เรารับประ--ทาน ทำให้เราต้องสูญเสียรำข้าวที่มีคุณค่านี้ไป..."

อ่านคำขอโฆษณา "น้ำมันรำข้าว" นี้แล้ว ทำให้รู้สึกว่า "กินรำข้าว" ดีกว่า "กินข้าว" คงเพราะเหตุนี้หมูที่เขาขุนด้วยรำข้าวจึงอ้วนพีดี อย่างนี้คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอโฆษณาอาหารก็ขอให้นำไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ เพราะกลัวคนจะเลิกกินข้าว หันไปกินรำข้าวกันหมด

คำขอโฆษณาบางอย่างก็อ้างตำนานที่เล่ากันมาอันหาหลักฐานยืนยันไม่ได้อย่างนี้ คณะอนุกรรมการฯ ก็จะไม่อนุมัติ เช่น คำขอโฆษณา "ขนมไหว้ พระจันทร์ ตรากว๋อจือปิ่ง" มีข้อความตอนหนึ่งดังนี้

"ขนมไหว้พระจันทร์...กว๋อจือปิ่ง
สืบทอดตำนานอันงดงาม...สู่ศิลปะแห่งรสชาติ

ยามฤดูใบไม้ผลิ สายลมเย็นโชยผ่าน พระจันทร์เผยแสงนวลสว่างไสว ดลให้ท้องฟ้า หมู่ดาว และธรรมชาติในช่วงเวลานี้คงอยู่ชั่วฟ้าดิน...เหล่านักปราชญ์สมัยราชวงศ์ซ่ง ปรารถนาให้ความงดงามของธรรมชาติในช่วงเวลานี้คงอยู่ชั่วฟ้าดิน ด้วยการบรรจงถ่ายทอดความงามลงบนขนมที่เรียกขานกันว่า ขนมเปี๊ยะ หรือ ขนมไหว้พระจันทร์ เปรียบไส้ขนมที่เป็นถั่ว คือ ท้องฟ้า เม็ดงา คือ ดวงดาว และไข่แดง คือ ดวงจันทร์ นับจากนั้นมา จึงบังเกิดเทศกาลไหว้พระจันทร์ขึ้นทุกคืน ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี เมื่อเวลาผ่านไป ขนมไหว้พระจันทร์ได้ถูกพัฒนาทั้งรูปร่างสีสัน ลวดลาย รสชาติ รวมถึงความงดงามทางศิลปะที่ถ่ายทอดบนชิ้นขนม เฉกเช่น ขนมไหว้พระจันทร์กว๋อจือปิ่ง ศิลปะแห่งรสชาติที่ชาวจีนในไต้หวัน และอีกหลายประเทศล้วนชื่นชม

ขนมไหว้พระจันทร์กว๋อจือปิ่ง
ต้นตำรับความอร่อยอันยาวนาน จากไต้หวัน"

คำโฆษณาอย่างนี้มีลักษณะเป็นคล้าย ๆ จินตนาการที่ผู้คิดคำโฆษณาได้บรรจงสรรสร้างขึ้นมาอย่างประณีต แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอโฆษณาอาหารและยาก็ไม่อนุมัติ คำขอโฆษณาที่มีลักษณะอย่างนี้มักมีอยู่เสมอ ท่านที่มีหน้าที่ทำงานด้านโฆษณาธุรกิจ จึงควรระมัดระวังให้มาก คำขอโฆษณาบางอย่างที่ผู้ขอโฆษณาอาจเข้าใจผิด เมื่อได้ท้วงติงไปก็แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว อย่างเช่นมหา วิทยาลัยคิงส์คอลเลจ แห่งกรุงลอนดอน" บัดนี้ก็ได้แก้เป็น "คิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน" แล้ว เพราะคิงส์คอลเลจ เป็นส่วนหนึ่งของ มหาวิทยาลัยลอนดอน หรือ University of London ซึ่งก็ขอขอบคุณยอดซุปไก่ตรา แบรนด์ ด้วยที่ได้ให้ความร่วมมือด้วยดี.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๕สิงหาคม๒๕๓๕
Back