Back

ภาษาไทยในสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อวันพุธที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นวันแรกของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของคุณชวน หลีกภัย ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ฟังการอภิปรายเฉพาะในตอนเย็นกับตอนกลางคืนเท่านั้นและเมื่อฟังแล้วรู้สึกว่าก็คล้าย ๆ กับทุก ๆ ครั้งที่มีการถ่ายทอดการอภิปรายออกทางวิทยุและโทรทัศน์ สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งนอกเหนือจากมรรยาทของนักการเมืองแล้ว ก็คือ ภาษาที่ใช้พูดในการอภิปรายแต่ละครั้ง ทั้งของรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั่นคือการพูดภาษาไทยไม่ชัด โดยเฉพาะการออกเสียงตัว ร ล และตัวกล้ำ มีผู้แทนราษฎรหลายคนออกเสียงคำว่า "รัฐมนตรี" เป็น "ลัด - ถะ - มน - ตี" หรือแม้แต่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงบางคนยังออกเสียงคำว่า "นาปรัง" เป็น "นา - ปัง" ทุกทีเหมือนกัน ไม่ทราบว่าท่านทราบหรือเปล่าว่า "นาปรัง" เขียนอย่างไร และ หมายความว่ากระไร

คำว่า "ปรัง" (ปรัง) เป็นคำที่เรายืมมาจากภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า "ฤดูแล้ง" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามของคำว่า "ปรัง" ไว้ดังนี้ "น. เรียกนาที่ต้องทำในฤดูแล้งว่า นาปรัง. ว. เกินเวลา, เกินกำหนด, เช่น จมปรัง ว่าอยู่เกินเวลา." เฉพาะความหมายที่เป็นคำวิเศษณ์นั้น ข้าพเจ้าก็ไม่เคยใช้และไม่เคยได้ยิน คงเป็นคำโบราณ ที่ท่านรัฐมนตรีท่านออกเสียง "นาปรัง" เป็น "นา - ปัง" นั้น คงเพื่อให้เข้าคู่กับ "นาปี" กระมัง เพราะ "นาปี" ไม่ได้เขียนว่า "นาปรี" หรือ "นาปลี" ดังนั้น "นาปรัง" ก็ไม่ควรจะมี ร กล้ำเช่นกัน

คำว่า "นาปี" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. เรียกการทำนาในฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูทำนาว่า นาปี." ซึ่งก็หมายถึง การทำนาตามปรกติประจำปี คือต้องทำในฤดูฝน แต่การทำนาปรังนั้น ทำในฤดูแล้งซึ่งต้องลงทุนมากกว่าการทำนาปี เพราะต้องเสียเงินในการทดน้ำเข้านาอีกต่างหากและถ้าหากนาอยู่ห่างแม่น้ำลำคลองมากก็ทำไม่ได้ หรือถ้าปีนั้นมีน้ำน้อย ก็ทำไม่ได้ และเมื่อทำนาปรังเสร็จแล้ว ข้าวก็ขายไม่ได้ราคาดีเหมือนข้าวนาปี บางทีรัฐบาลถึงกับต้องขอร้องให้หยุดทำนาปรัง หรือทำแต่น้อย เพราะน้ำในเขื่อนมีน้อย

เมื่อได้กล่าวถึง "นาปี" และ "นาปรัง" แล้ว ก็ควรจะได้กล่าวถึงนาอื่น ๆ ที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้เก็บไว้อีกหลายชนิด ข้าพเจ้าจะขอนำบทนิยามของคำว่า "นา" และนาชนิดต่าง ๆ มาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"นา ๑ น. พื้นที่ราบทำเป็นคันกั้นน้ำเป็นแปลง ๆ สำหรับปลูกข้าวเป็นต้น, พื้นที่มีลักษณะคล้ายนา สำหรับทำประโยชน์อื่น ๆ เรียกตามสิ่งที่ทำ เช่น นาเกลือ นากุ้ง นาผักกระเฉด, ใช้ประกอบกับคำอื่นที่เกิดหรือเกี่ยวข้องกับนา เช่น เต่านา ปูนา."

"นาขอบเหล็ก น. นาชนิดที่ไม่มีทางจะบุกเบิกออกไปได้อีก, นาเชิงทรง ก็ว่า."
นาคู่โค น. นาที่ได้ทำมาแล้วนาน เป็นนาดี ทำแล้วไม่ใคร่เสีย."
"นาเชิงทรง น. นาชนิดที่ไม่มีทางจะบุกเบิกออกไปได้อีก, นาขอบเหล็ก ก็ว่า."
"นาดำ น. นาชนิดที่ใช้ถอนต้นกล้ามาปลูก."
"นางฟางลอย น. นาที่เปิดขึ้นใหม่ มีผลไม่แน่นอน."
"นาเมือง น. เรียกข้าวเปลือกที่มีเมล็ดสั้น เนื้อฟ่าม ว่า ข้าวนาเมือง."
"นาสวน น. เรียกข้าวเปลือกที่มีเมล็ดแข็งเป็นมันว่า ข้าวนาสวน."
"นาหว่าน น. นาชนิดที่หว่านเมล็ดข้าวลงในนา."

ข้าพเจ้าขอกล่าวถึง "นาหว่าน" กับ "นาดำ" เพิ่มเติมสักเล็กน้อย เพื่อบางท่านจะได้เข้าใจยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะในการทำนานั้นที่นิยมมากก็คือ การทำนาหว่านกับการทำนาดำ ถ้าเป็นการทำนาตามทุ่งอย่างทุ่งรังสิต ซึ่งมักจะไม่มีคันนา เราเรียกว่า "นาหว่าน" คือ เมื่อหว่านแล้วก็ไม่ต้องถอนต้นกล้ามาดำ ต่างกับ "นาดำ" ซึ่งจะต้องเอาข้าวเปลือกไปหว่านลงในพื้นดินที่ยกเป็นคันแบ่งเป็นช่อง ๆ สำหรับตกกล้า ซึ่งเรียกว่า "ตากล้า" หรือ "ตาตกกล้า" เมื่อข้าวงอกขึ้นมาเป็นต้นแล้ว เราก็เรียกว่า "กล้า" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามของคำว่า "กล้า" ไว้ดังนี้ "น. ต้นข้าวที่เพาะไว้สำหรับย้ายไปปลูกที่อื่น, โดยอนุโลม เรียกพืชที่เพราะไว้สำหรับย้ายไปปลูกในที่อื่นว่า กล้า เช่น กล้าพริก กล้ามะเขือ." กิริยา ที่เขาจะย้ายต้นกล้าไปปลูกหรือไปดำในนาแปลงที่ไถและคราดแล้ว เรียกว่า "ถอนกล้า" นาประเภทที่เรียกว่า "นาดำ" นี้ เขาจะทำคันดินกั้นเป็นแปลง ๆ ซึ่งเรียกกันว่า "คันนา" นาที่มีคันนา คือ ดินที่พูนขึ้นเป็นคันตามท้องนานี้บางทีก็เป็นแปลงเล็ก บางทีก็เป็นแปลงใหญ่ มักเรียกกันว่า "อันนา" เช่น นาอันนี้เล็ก นาอันนี้ใหญ่ ถ้าเป็นแปลงเล็กหรือกระทงเล็ก ๆ บางทีก็เรียกว่า "กระบิ้ง" หรือ ตะบิ้ง.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๖
Back