Back

ภาษิตและคำพังเพยที่น่าสนใจ

คนไทยเรามักมีอารมณ์สุนทรีย์เป็นเจ้าบทเจ้ากลอนอยู่เสมอไม่ว่าจะอ่านหนังสือออกหรือไม่ก็สามารถที่จะโต้คารมด้วยภาษาที่มีลักษณะเป็นร้อยกรองได้ บางทีก็เป็นคำสุภาษิต บางทีก็เป็นคำพังเพย ทำให้สามารถกำหนดจดจำได้แม่นยำ แต่บางทีก็มีแววปรัชญาแฝงอยู่ ทำให้รู้สึกขัด ๆ กับความเข้าใจของผู้ฟังหรือผู้อ่าน เช่นภาษิตหรือคำพังเพยว่า "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า" เฉพาะ "เสือพึ่งป่า" ก็ดูจะไม่มีปัญหาอะไร แต่คำพังเพยว่า "น้ำพึ่งเรือ" ที่คนสงสัยกันมาก เพราะในความรู้สึกของคนทั่ว ๆ ไปน่าจะเป็น "เรือพึ่งน้ำ" ฟังดูแล้วคล้าย ๆ กลอนพาไป แต่ความจริงแล้วคำพังเพยที่ว่า "น้ำพึ่งเรือ" ก็ถูกต้อง ขอให้สังเกตดูตามคลองต่าง ๆ ถ้าหากไม่มีเรือสัญจรไปมาก็จะตื้นเขินอย่างคลองในกรุงเทพฯ จะเห็นได้ชัด เดี๋ยวนี้ดีขึ้น เพราะได้ขุดลอกคลอง ให้เรือสัญจรไปมาได้แล้ว แม้น้ำจะยังสกปรกอยู่มากก็ตาม สมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กอยู่ น้ำในคลองสะอาดกว่าในปัจจุบันนี้มาก เราลงไปเล่นน้ำว่ายน้ำกันได้อย่างสนุกสานาน เมื่อสัก ๓๐ ปีมาแล้ว คลองเกือบจะไม่ได้ใช้ทำอะไรเลย จึงถูกถมทำเป็นถนนเสียมากต่อมาก ที่ยังไม่ถมก็ตื้นเขิน น้ำในลำคลองก็ส่งกลิ่นเหม็นอย่างกับส้วมแตก การที่เรือสัญจรไปมานั้น แจวหรือพายมีส่วนช่วยพุ้ยน้ำทำให้มีร่องน้ำไหลถ่ายเทได้ คลองก็ไม่ตื้นเขิน เพราะฉะนั้น คนโบราณท่านจึงเขียนหรือพูดเป็นคำพังเพยไว้ว่า "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่าอัชฌาสัย เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ" คือทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยกัน ต้องเห็นอกเห็นใจกัน ไม่ควรทะเลาะเบาะแว้งกัน

นอกจากนั้นก็มีคำพังเพยในลักษณะเดียวกันอีกเช่น "เสือพีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินเย็นเพราะหญ้าบัง หญ้ายังเพราะดินดี" บ้านเมืองของเราต้องการความสมัครสมานสามัคคีกัน เพราะฉะนั้น จึงอย่าก่อให้เกิดความแตกแยก โดยวิธียกตนข่มท่าน หรือดูถูกเหยียดหยามกัน ทำให้นึกถึงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "หนามยอกเอาหนามบ่ง" ซึ่งมีอยู่ตอนหนึ่ง เป็นคติพจน์ที่น่าสนใจมาก ข้าพเจ้าขออัญเชิญมาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"หญิงชายทั้งหลายนั้น ควรเห็นกันว่าเป็นเพื่อน
ทหารและพลเรือน จงฟังคำและจำดี
ชาติเดียวกันทุกคน รักแต่ตนจะเสียที
มัวแก่งและแย่งดี จนแตกพวกไม่ควรการ
ทหารอย่าข่มเพื่อน พลเรือนก็เท่าทหาร
พลเรือนอย่าใจพาล อย่าชิงชังซึ่งโยธา
ต่างฝ่ายต้องพึ่งกัน ทุกสิ่งสรรพ์สำเร็จนา
โบราณะสุภา- ษิตะกล่าวก็ควรฟัง
เสือพีเพราะป่าปก และป่ารกเพราะเสือยัง
ดินเย็นเพราะหญ้าบัง และหญ้ายังเพราะดินดี
รวมชาติต้องร่วมรัก และสมัคสามัคคี
จงรักษะภักดี ต่อพระปิ่นนรากร
ทั่วกันจงกั่นกาจ รักษาชาติสโมสร
ศาสนาให้ถาวร อิศระอวะสาน
ให้เกียรติขจรจบ บรรฦๅลบถึงบาดาล
เทพไทในวิมาน ให้สรรเสริญทั้งโลกา"

สมัยนี้คนไทยเรามีความรู้ความเข้าใจในภาษาไทยน้อยลง แม้ภาษิตและคำพังเพย ซึ่งล้วนมีคติสอนใจก็ไม่ทราบ ไม่เคยได้ยิน จึงควรที่จะได้ฟื้นฟูนำมาศึกษาเล่าเรียนกันให้มาก ๆ ราชบัณฑิตยสถานได้รวบรวมจัดพิมพ์ออกเผยแพร่ในราคาถูกเพียงเล่มละ ๑๐ บาท เท่านั้น และพิมพ์มาแล้วร่วมแสนเล่ม ขณะนี้ก็กำลังพิมพ์ใหม่อยู่

ในพระราชนิพนธ์ที่ข้าพเจ้าอัญเชิญมานี้ ก็มีคำพังเพยที่มีลักษณะอย่างเดียวกับ "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า" ก็ตรงที่ว่า

"เสือพีเพราะป่าปก และป่ารกเพราะเสือยัง
ดินเย็นเพราะหญ้าบัง หญ้ายังเพราะดินดี"
เสือและป่าก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ดินกับหญ้าก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน การที่เสือสามารถมีร่างกายอ้วนพีได้นั้นก็เพราะมีป่าปกคลุมไว้ ถ้าหากเสืออยู่ในที่แจ้ง ก็คงถูกพรานล่าเอาตัวไปโดยแท้ และการที่ป่ารกอยู่ได้ ก็เพราะมีเสืออยู่ในป่าทำให้คนไม่กล้าเข้าไปถางป่า การที่ดินเย็นอยู่ได้ ก็เพราะมีหญ้าขึ้นปกคลุมบังไว้ เมื่อมีน้ำค้างหรือฝนตกลงมา รากหญ้าและใบหญ้าก็จะอุ้มน้ำไว้ทำให้ดินเย็นอยู่เสมอและการที่หญ้าขึ้นอยู่ได้ก็เพราะดินซึ่งมีน้ำชุ่มอยู่ จึงทำให้หญ้าเจริญอยู่ได้ ถ้าดินแห้ง หญ้าก็ตายหมด ข้อนี้ฉันใด มนุษย์ในสังคมก็ควรจะมีความสมัครสมานสามัคคีกัน ต้องพึ่งพาอาศัยกัน อย่าทะเลาะเบาะแว้งกัน อย่ายกตนข่มท่าน หรือกล่าวเสียดสีกัน ให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความแตกสามัคคี ความแตกแยก ซึ่งมีผลเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติในที่สุด.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๕ ธันวาคม ๒๕๓๕
Back