Back
ภูตผีปิศาจ - ผีสางเทวดา


คำในภาษาไทยที่บางทีก็นำคำไทยกับคำไทยมาซ้อนกัน บางทีก็นำคำไทยกับคำบาลีสันสกฤตมาซ้อนกัน หรือบางทีก็นำคำไทยกับคำเขมรเป็นต้นมาซ้อนกันนั้นมีอยู่มากมาย คำที่มีลักษณะอย่างนี้ช่วยทำให้เรารู้คำศัพท์ต่าง ๆ ซึ่งมีความหมายเหมือนกันหรือคล้ายกันอยู่มาก ทำให้เรารู้ศัพท์แตกฉานยิ่งขึ้น บางคนอาจเห็นเป็นการใช้ภาษาฟุ่มเฟือยไป นั่นก็หมายถึงมองกันคนละด้าน หรือถ้าพูดแบบสมัยใหม่หน่อยก็ต้องบอกว่ามี "มุมมอง" ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน คำที่มีลักษณะอย่างนี้ชุดหนึ่งคือคำว่า "ภูตผีปีศาจ" ซึ่งนำคำ ๓ คำ ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวมาซ้อนกัน นั่นคือคำว่า "ภูต" "ผี" และ "ปีศาจ" ซึ่งคำทั้ง ๓ นี้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

"ภูต น. ผีชนิดหนึ่ง. ว.ซึ่งเกิดแล้ว, ซึ่งเป็นแล้ว."

"ผี น. สิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัว แต่อาจจะปรากฏเหมือนมีตัวตนได้ อาจให้คุณหรือโทษได้ มีทั้งดีและร้าย เช่น ผีปู่ย่าตายาย ผีเรือน ผีห่า, เรียกคนที่ตายไปแล้วว่า ผี; (ปาก) โดยปริยายหมายความว่า เลว เช่น คน ผี ๆ ." และยังมีลูกคำและคำพังเพยอีกรวม ๑๗ คำ

"ปีศาจ น. ผี, ลักษณนามว่า ตน, ปีศาจ ก็ว่า."

คำว่า "ภูต" ที่เราหมายถึง "ผี" นั้น เป็นคติความเชื่อตามแบบศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีความเชื่อถือในเรื่อง "อาตมัน" หรือ "อัตตา" หรือ "ดวง วิญญาณ" ว่าเป็นสิ่งเที่ยงแท้ เมื่อคนเราตายลง อัตตา หรือ อาตมัน หรือดวงวิญญาณนี้จะออกจากร่างไปหาที่เกิดใหม่ ขณะที่ยังแสวงหาที่เกิดอยู่นั้นเรียกว่า "สัมภเวสี" แปลว่า "ผู้แสวงหาที่เกิด" คำว่า "สัมภเวสี" ประกอบ ด้วยคำว่า "สัมภว" (สำ - พะ - วะ) แปลว่า "การเกิด" ไทยเราแผลงมาใช้เป็น "สมภพ" ในคำราชาศัพท์ก็มีคำว่า "พระบรมราชสมภพ" กับคำว่า "พระ ราชสมภพ" เข้าสนธิกับคำว่า "เอสี" ซึ่งแปลว่า "ผู้แสวงหา" อย่างในคำว่า "มเหสี" ก็แปลว่า "ผู้แสวงหาความยิ่งใหญ่" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามของคำว่า "มเหสี" เป็น ๒ นัยดังนี้

๑. ผู้แสวงหาศีลาทิคุณอันยิ่งใหญ่, ฤษีใหญ่, พระพุทธเจ้า

๒. ชายาพระเจ้าแผ่นดิน

เมื่อดวงวิญญาณหรืออาตมัน ออกจากร่างไปแสวงหาที่เกิดนั้นเรียกว่า "สัมภเวสี" ถ้าหาที่เกิดได้ก็เป็น "ภูต" (พู - ตะ หรือ พูด) แต่ถ้าเกิดในสวรรค์ ก็เรียกว่า เทวดา ถ้าเกิดในนรก ก็เรียกว่า สัตว์นรก ถ้าเกิดเป็นปีศาจก็เรียกว่า ผี ดังนั้น คำว่า "ภูต" ในแง่นี้ก็หมายถึง "ปีศาจ" ดังนั้นเราจึงนำคำว่า "ภูต" มาใช้เป็นคำซ้อนร่วมกับคำไทยว่า "ผี" และคำสันสกฤตว่า "ปีศาจ" จึงกลายเป็น "ภูตผีปีศาจ" แสดงว่าคำว่า "ภูต" ในที่นี้หมายถึง "ผี" หรือ "ปีศาจ" เท่านั้น

ส่วนในทางพระพุทธศาสนาถือว่า "อัตตา" หรือ "อาตมัน" หรือ "วิญญาณ" ที่เที่ยงแท้จริง ๆ ไม่มี ทั้งอัตตา อาตมัน หรือวิญญาณล้วนเป็นอนิจจังทั้งสิ้น เมื่อคนเราตายลง ก็ไม่มีอัตตา อาตมัน หรือวิญญาณ ที่เป็นตัวตนออกจากร่างไปเกิดใหม่อย่างในศาสนาพราหมณ์ ทางพระพุทธศาสนาถือว่าถ้าตราบใดคนเรายังมีกิเลสตัณหาอยู่ เมื่อตายแล้วก็จะต้องไปเกิดทันที เพราะ "วิญญาณ" ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง "ความรู้แจ้ง, ความรู้ตัว" คือ "จิต, ใจ" เท่านั้น ถ้าเป็นจิตสำนึกในทางพระพุทธศาสนาก็เรียกว่า "วิถีวิญญาณ" หรือ "วิถีจิต" ถ้าเป็นจิตใต้สำนึก ทางพระพุทธศาสนาก็เรียกว่า "ภวังควิญญาณ" หรือ "ภวังคจิต" ในตอนตายนั้น ภวังคจิตก็จะดับ เรียกว่า "จุติจิต" แต่พอดับแล้วก็จะเกิดทันที ภวังคจิตตอนไปเกิดนี้เรียกว่า "ปฏิสนธิจิต" ในทางพระพุทธศาสนาไม่ถือว่าจิตหรือวิญญาณนี้จะไปล่องลอยหาที่เกิดใหม่ พอจุติคือตายแล้วก็จะต้องปฏิสนธิ คือ เกิดทันที ส่วนจะเกิดเป็นอะไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถ้าสมมุติว่าไปเกิดในครรภ์ เช่น เกิดเป็นมนุษย์หรือเกิดเป็นช้าง ม้า วัว ควาย ฯลฯ เป็นต้น ระหว่างที่ยังอยู่ในครรภ์นั้น ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "สัมภเวสี" ซึ่งก็แปลว่า "ผู้แสวงหาที่เกิด" เหมือนกัน คือรอที่จะคลอดออกมา พอคลอดออกมาก็ถือว่าเป็น "ภูต" (พู - ตะ) ทันที ถ้าไปเกิดในไข่ เช่น เกิดเป็นไก่ เป็ด นก เต่า จระเข้ ฯลฯ ตอนที่ยังอยู่ในกระเปาะไข่ เรียกว่า "สัมภเวสี" พอออกจากกระเปาะไข่ เรียกว่า "ภูต" (พู - ตะ)

คำว่า "ภูต" (พูด หรือ พู - ตะ) นี้ที่ตัว ต ไม่ต้องมีสระ อิ แต่ก็ปรากฏว่าในหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องภูตผีปีศาจ มักเขียนเป็น "ภูติ" คือที่ตัว ต มีสระอิอยู่ด้วยเสมอ คำว่า "ภูต" (พู - ตะ ) กับ "ภูติ" (พู - ติ) นั้นมีความหมายคนละอย่าง ห่างกันไกลทีเดียว

คำว่า "ภูติ" (พู - ติ) เป็นคำบาลีและสันสกฤต พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า "น. ความรุ่งเรือง, ความมั่งคั่ง." เช่นคำว่า "วนภูติ" (วะ - นะ - พู - ติ) ก็แปลว่า "ความรุ่งเรืองหรือความมั่งคั่งทางด้านป่าไม้" คำว่า "ชลภูติ" (ชะ - ละ - พู - ติ) ก็แปลว่า "ความรุ่งเรืองหรือความมั่งคั่งทางน้ำ" คำว่า "ภูติ" นี้นิยมอ่านว่า "พู - ติ" ถ้าไปอ่านว่า "พูด" อาจจะทำให้มีผู้เข้าใจว่าหมายถึง "ผี" ไป เช่น "ชลภูติ" ถ้าอ่านว่า "ชะละพูด" ผู้ฟังอาจคิดว่าเป็น "ผีน้ำ" หรือ "วนภูติ" ถ้าอ่านว่า "วะ - นะ - พูด" ผู้ฟังอาจคิดว่าเป็น "ผีป่า" ก็ได้ เพราะฉะนั้น ในการเขียนคำว่า "ภูตผีปีศาจ" ขอให้ระมัดระวังหน่อย คือที่ "ภูต" ใช้ ต สะกด โดยไม่ต้องใส่สระ อิ ลงไปด้วย.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๗ มีนาคม๒๕๓๕
Back