Back

ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย

ภาษาไทยเป็นภาษาที่น่าสนใจมากภาษาหนึ่ง เมื่อภาคฤดูร้อนข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่อง "สมบัติทิพย์ คือภาษาไทย" ถวายบรรดาสามเณรภาคฤดูร้อนที่วัดเบญจมบพิตร ซึ่งมีจำนวนร่วม ๒๐๐ รูป ปรากฏว่านักเรียนที่มาบรรพชาเป็นสามเณรในปีนี้ส่วนมากเป็นนักเรียนโรงเรียนวัดเบญจมบพิตรกับนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ ข้าพเจ้าบรรยายเป็นเวลา ๓ ชั่วโมง ติดต่อกัน ก็ปรากฏว่าสามเณรทั้งหลายส่วนมากตั้งอกตั้งใจฟังเป็นอย่างดี เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ นี้ มีเด็กนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบคนหนึ่งโทรศัพท์ไปหาข้าพเจ้า บอกว่าเป็นสามเณรภาคฤดูร้อนวัดเบญจมบพิตร ได้ฟังคำบรรยายภาษาไทยวันนั้น รู้สึกประทับใจมาก เพราะตามปรกติก็สนใจวิชาศาสนาและภาษาไทยอยู่แล้วและสอบได้ระดับ ๔ คือ เกรด A ทั้ง ๒ วิชา และได้บอกว่าได้อ่านหนังสือ "สมบัติทิพย์ คือภาษาไทย" ที่ข้าพเจ้านำไปถวาย ท่านอาจารย์ของสามเณรแล้วมีความสนใจมาก อยากจะได้ไว้สักเล่มหนึ่ง ข้าพเจ้าก็บอกให้ไปพบที่ราชบัณฑิตยสถานในวันจันทร์ที่ ๙ สิงหาคม ก่อน ๑๖.๐๐ น. เพราะหนังสือนี้ข้าพเจ้าได้จัดพิมพ์ถวายท่านเจ้าคุณพระธรรมกิตติโสภณ วัดสระเกศ เมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๓๕ และก็ได้แจกในงานนั้นหมดนานแล้ว ทางสมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยอาจจะจัดพิมพ์เผยแพร่ในโอกาสต่อไป

ข้าพเจ้าได้เปิดหนังสือ "ภาษาไทย ภาษาจีน" ของคุณเฉลิม ยงบุญเกิด ดูพบคำว่า "ส่วย" ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

"ส่วย ๑ น. ของที่เรียกเก็บจากพื้นเมืองส่งเป็นภาคหลวง ตามวิธีเรียกเก็บภาษีอากรในสมัยโบราณ ; เงินช่วยราชการตามที่กำหนดเรียกเก็บจากราษฎรชายที่มิได้รับราชการทหารเป็นรายบุคคล, รัชชูปการ ก็ว่า."

"ส่วย ๒ น. ชนชาติพูดภาษาตระกูลมอญ - เขมร พวกหนึ่ง อยู่ทางภาคอีสาน."

คำว่า "รัชชูปการ" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ยันกันกับ "ส่วย" ดังนี้ "น. เงินช่วยราชการตามที่กำหนดเรียกเก็บจากราษฎรชายที่มิได้รับราชการทหารเป็นรายบุคคล." แต่มิได้บอกว่า "ส่วย ก็ว่า."

คำว่า "อากร" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามว่า "น... ; ค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่รัฐบาลเรียกเก็บ เช่น อากรรังนก อากรมหรสพ." ส่วนคำว่า "ภาษี" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. เงินที่รัฐเรียกเก็บจากบุคคล ทรัพย์สิน หรือธุรกิจ เพื่อใช้ในการบริหารหรือการพัฒนาประเทศ เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีสุรา ภาษียาสูบ. -"

ข้าพเจ้าเคยสงสัยสำนวนไทยที่ว่า "ส่วยสาอากร" ว่าหมายความว่ากระไร โดยเฉพาะคำว่า "ส่วย" เป็นภาษาอะไร "สา" เป็นภาษาอะไร ส่วนคำว่า "อากร" ข้าพเจ้าไม่สงสัยเพราะเป็นคำภาษาบาลี แต่มิได้แปลอย่างที่เราใช้คู่กับภาษี หากแปลว่า "หมู่, กอง; บ่อเกิด, ที่เกิด, เช่น ทรัพยากร ศิลปากร; _" ดังที่พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้

ต่อมาเมื่อข้าพเจ้าเปิดหนังสือ "ภาษาไทย ภาษาจีน" ของคุณเฉลิม ยงบุญเกิด ได้พบคำว่า "ส่วย" ซึ่งคุณเฉลิม บอกว่าภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า "ส่วย" เช่นกัน แต่ภาษาจีนกวางตุ้ง ออกเสียงว่า "ซุย" แปลว่า "ภาษีอากร"

ท่านอาจารย์ทองสืบ ศุภะมารค อดีตกรรมการชำระปทานุกรม แห่งราชบัณฑิตยสถานผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้เคยอธิบายสำนวนไทยให้ข้าพเจ้าฟังว่า บรรพบุรุษของเราท่านฉลาด ในการอนุรักษ์ของเก่าและรับของใหม่ไป พร้อม ๆ กัน เช่น ข้อความว่า "ถนนหนทางมารควิถี" ซึ่งความจริงก็คือคำทั้ง ๕ อันได้แก่ "ถนน, หน, ทาง, มารค, วิถี" ก็ล้วนแปลว่า "ทาง" ทั้งนั้น หรือ "ชั่วช้าเลวทรามสิ้นดี" ทั้งคำว่า "ชั่ว, ช้า, เลว, ทราม" ก็แปลว่า "สิ้นดี" ทั้งหมด แต่คำบาง, คำเอามาซ้อนกันแล้วจำนวนพยางค์มันคอนกัน ท่าน ก็มีวิธีทำให้มันได้ดุลกัน เช่น คำว่า "วัดวาอาราม" ก็คือ "วัด" กับ อาราม" คำหน้ามีพยางค์เดียว คำหลังมี ๒ พยางค์ มันคอนกัน ก็เติม "วา" แทรกเข้ามา และก็มิได้แทรกมาโดยไม่มีหลักเกณฑ์ ความจริงท่านเอา "ว" มาจาก "วัด" คำหน้า และเอาเสียง "อา" มาจากคำว่า "อาราม" "ว" กับ "วา" ผสมกันก็กลายเป็น "วา" หรือ "ส้มสูกลูกไม้" ก็คือ "ส้ม" กับ "ลูกไม้" ส่วนคำว่า "สูก" "ส" ก็มาจาก "ส้ม" พยางค์หน้า เสียง "อูก" ก็มาจาก "ลูก" คำหลัง ข้าพเจ้าก็คิดว่าข้อความที่ว่า "ส่วยสาอากร" ก็คงเช่นเดียวกัน ที่คำว่า "สา" นั้น ตัว "ส" ก็มาจาก "ส่วย" เสียง "อา" ก็มาจาก "อากร" นั่นเอง ข้าพเจ้าจึงมีความรู้สึกว่าภาษาไทยนั้นมีอัจฉริยลักษณะของตนอย่างน่าพิศวง และน่าศึกษามากทีเดียว.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๖
Back