Back

ภูเขาทอง - บรมบรรพต

งานภูเขาทองวัดสระเกศ นับว่าเป็นงานประจำที่สำคัญยิ่งงานหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ตามปรกติจะเริ่มงานประมาณขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึง วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ แต่ก็มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งร้านขายของก่อนหน้านั้นแล้ว และก็มักจะขายกันจนถึงแรม ๒ - ๓ ค่ำ เดือน ๑๒ เสมอไป ยิ่งในสมัยก่อน ๆ เมื่อ ๗๐ - ๘๐ ปีมาแล้วผู้หลักผู้ใหญ่ท่านเล่าว่า ไม่มีงานวัดใด ๆ จะเกินหน้างานภูเขาทองได้เลย เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กก็ไปเที่ยวทุกคืนเพราะเป็นเด็กวัดสระเกศ แต่ส่วนมากจะไปหาซื้อหนังสือนิยายยุวชนซึ่ง เขาเอามากองขาย ได้สตางค์ค่าขนมมาก็เอาไปซื้อหนังสือนวนิยายยุวชนหมด เพราะทำให้มีความรู้สึกรักชาติและมีความมานะพยายามดี

คำว่า "ภูเขาทอง" ก็เป็นชื่อที่เลียนแบบมาจากกรุงศรีอยุธยา เป็นเจดีย์ที่สร้างอยู่บนภูเขา และภูเขาเองก็เป็นภูเขาที่สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ฐานโดยรอบวัดได้ ๘ เส้น ๕ วา สูง ๑ เส้น ๑๙ วา ๒ ศอก มีบันไดเวียนเป็นทางขึ้นไปถึงองค์เจดีย์อยู่ ๒ ทาง สมัยที่ข้าพเจ้าเป็นเด็กอยู่
ยังมีบันไดตรงทางด้านทิศใต้อยู่บันไดหนึ่งมีขั้นบันไดประมาณ ๗๐ ขั้น แต่เมื่อคราวบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๔๙๗ ได้ทำลาย บันไดนี้ทิ้งเพราะค่อนข้างชัน เด็กวิ่งขึ้น ๆ ลง ๆ บางทีก็อาจพลาดตกลงมา คอหักตายได้

ในการสร้างภูเขาทองนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) ครั้งยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษาเป็นแม่กองสร้างพระราชทานนามว่า "พระเจดีย์ภูเขาทอง" แต่การก่อสร้าง ไม่ได้รับความสำเร็จเพราะบริเวณนั้นเป็นที่ลุ่ม ดินอ่อน ทานน้ำหนักองค์พระเจดีย์ไม่ไหว้ จึงทรุดพังลงมาทุกครั้ง จึงต้องหยุดการก่อสร้างพระเจดีย์นั้นไว้

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) เป็นแม่กองก่อสร้างภูเขาทองต่อ และโปรดให้พระยาราชสงครามเป็นนายช่างทำการซ่อมแปลงภูเขา ก่อพระเจดีย์ขึ้นไว้บนยอด และโปรดให้เปลี่ยนนามพระเจดีย์ภูเขาทองใหม่ว่า "บรมบรรพต" อย่างไรก็ดี การซ่อมพระเจดีย์ได้มาแล้วเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไป ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์ เมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๒๐ และในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ พระองค์ได้พระบรม สารีริกธาตุจากประเทศอินเดียก็ได้โปรดให้บรรจุในพระเจดีย์อีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม คำว่า "ภูเขาทอง" นี้ แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเปลี่ยนนามเป็น "บรมบรรพต" แล้ว ก็ยังมีคนเป็นจำนวนมากเรียกว่า "สุวรรณบรรพต" เพราะมีความหมายตรงกับคำว่า "ภูเขาทอง" ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชบัญญัติ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ประกาศให้เรียกว่า "บรมบรรพต" ดังนี้

"ประกาศเรียกนามภูเขาทอง ศก ๑๑๘

กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระ กรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ภูเขาก่อด้วยอัฐมีพระเจดีย์อยู่ บนยอดอันตั้งอยู่ที่วัดสระเกษ ซึ่งชนเป็นอันมากเรียกว่า ภูเขาทองนั้น เดิมเป็น ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยทรงพระราชดำริห์จะทำเป็นพระเจดีย์ใหญ่เพื่อจะให้มีชื่อเหมือนพระเจดีย์ภูเขาทอง ที่กรุงเก่า ทั้งรูปก็จะทำเช่นนั้นด้วย แต่จะให้ใหญ่กว่าการนั้นไม่สำเร็จด้วย ทรุดดินฟูดขึ้นโดยรอบ จึงเป็นทิ้งค้างอยู่ คนก็คงเรียกพระเจดีย์ ภูเขาทองตาม นามซึ่งโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้เมื่อแรกสร้าง แต่เพราะเหตุที่ไม่เป็นรูปพระเจดีย์ มีแต่กองอิฐ ต้นไม้ขึ้นคลุมรก ตัววัดก็ไม่ได้ชื่อวัดภูเขาทองชื่อวัดสระเกษอยู่ตามเดิมด้วย เพราะฉะนั้นต่อมาคำต้นที่เรียกว่าพระเจดีย์นั้นจึงได้หายไปเหลืออยู่แต่ ภูเขาทองเพราะเป็นกองอิฐใหญ่แดงอยู่ ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีชวด ฉอศกจุล ศักราช ๑๒๒๖ มีงานพระเมรุพระบรมบรรพตที่ท้องสนามหลวงแล้วทรงพระราชดำริห์เริ่มสร้างพระเจดีย์บนยอดภูเขาทองครั้นถึงเดือน ๖ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปก่อพระฤกษ์แลโปรดเกล้าฯ ให้มีลครข้างในเปนการฉลองด้วยโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อภูเขาทองว่า บรมบรรพต เหมือนอย่างพระเมรุบรมบรรพตที่เคยเรียกมาแล้ว คำ บรมบรรพต นี้ ยังใช้อยู่ในราชการ มิได้โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่บัดนี้มีผู้เรียกบรรพตว่า (สุวรรณบรรพต) ซึ่งเป็นชื่อที่ทรงแปลคำไทย เป็นภาษามคธรังสกฤตเอาเอง ไม่มีผู้ตั้งแต่งในราชการโดยมากหนา ขึ้นเป็นการผิดจากนามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ เพราะฉะนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า เจติยสถาน ที่นี่มิได้พระราชทานนามเปลี่ยนใหม่ว่า สุวรรณบรรพตเลยอย่าให้ผู้ใดเรียก แลใช้ในหนังสือราชการให้คงใช้เรียกว่า (บรมบรรพต) อันเปนนามถูกต้อง นั้นเทอญ

ประกาศมา ณ วันที่ ๒๔ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๘"

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้มีประกาศให้เรียก "ภูเขาทอง" ว่า "บรมบรรพต" แล้ว แต่ก็ยังมีผู้เรียกว่า "สุวรรณบรรพต" อยู่บ้าง แม้แต่สมณศักดิ์ของพระครูสัญญาบัตรที่วัดสระเกศก็ยังมีทั้ง "พระครูสุวรรณบรรพตพิทักษ์" และ "พระครูพิทักษ์บรมบรรพต" อยู่.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๕
Back