Back
มรดกทางสังคม


ถ้อยคำที่เรามักได้ยินอยู่บ่อย ๆ ประโยคหนึ่งก็คือ "วัฒนธรรมเป็นมรดกทางสังคม" ก็มีผู้สงสัยว่า "มรดกทางสังคม" หมายความว่ากระไร เพราะคำว่า "มรดก" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "ทรัพย์สมบัติของผู้ตาย; (กฎหมาย) ทรัพย์สินทุกชนิดตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตาย เว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้, เรียกส่วนรวมของทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ตาย ว่า กองมรดก."

ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือ "วัฒนธรรมวิทยา" ซึ่งเป็นหนังสือ "ประมวลกฎหมาย ระเบียบและประกาศว่าด้วยวัฒนธรรม" ที่อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ กรรมการสำนักวัฒนธรรมจิตใจ เป็นผู้เรียบเรียงมีอยู่ตอนหนึ่งที่ว่าด้วย "มรดกทางสังคม" เห็นว่าน่าสนใจมาก จึงขออนุญาตนำมาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"มีคำอธิบายความหมายอย่างสั้น ๆ ของคำว่า วัฒนธรรม อยู่คำหนึ่ง คือคำว่า "มรดกทางสังคม" (Social Heritage) ซึ่งเป็นคำมีความหมายอันกว้างขวางควรที่จะได้นำมาพิจารณาในที่นี้

"มีคำเทียบที่ทำให้ความหมายของคำว่า "มรดกทางสังคม" ชัดขึ้น คือคำว่า "มรดกทางพืชพันธุ์" (Germinal Heritage) อันแสดงว่า คนเราอาจได้รับมรดกทางสายโลหิตก็มี เช่น โรคภัย ความสมบูรณ์ เค้าหน้า ทรวดทรง และผิวพรรณ มรดกทางสายโลหิตนี้ เรียกว่า Germinal Heritage ก็ได้ เรียกว่า "พันธุกรรม" (Heredity) ก็ได้ แต่ยังมีอยู่อีกสิ่งหนึ่งที่น่าจะถ่ายทอดกันทางสายโลหิตไม่ได้ เพราะจะต้องอาศัยการสั่งสอน การเลียนแบบ การดูตัวอย่าง สิ่งนั้น คือ วัฒนธรรม เมื่อวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ถ่ายทอดกันทางสังคม คือการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ได้เห็นแบบอย่าง ได้ฟังคำชี้แจง เป็นต้น ก็รับไว้สืบต่อกันมา ฉะนั้น นักสังคมศาสตร์จึงพยายามอธิบายคำว่า "วัฒนธรรม" ด้วยคำว่า "มรดกทางสังคม" ซึ่งเป็นคำที่สั้น แต่มีความหมายกว้างขวาง

"เราจะเห็นได้ว่า แม้มารดาบิดาจะเป็นคนมีวัฒนธรรมสูงสักเพียงไร แต่ถ้านำบุตรธิดาแยกไปไว้ที่อื่น ติดต่อคลุกคลีกับคนกลุ่มอื่น บุตรธิดานั้นก็รับเอาแบบอย่างที่ใกล้ชิดติดต่อเกี่ยวข้องนั้น เช่น เด็กชาวตะวันตก ถ้านำไปให้ชาวแอฟริกัน เลี้ยงแต่เล็ก ๆ ก็จะมีความเป็นอยู่ ความเชื่อถือ และภาษาที่พูดแบบชาวแอฟริกันไป สายโลหิตของพ่อแม่มิได้ทำให้เด็กนั้นเข้าใจแบบแผน ความเป็นอยู่แบบชาวตะวันตก หรือภาษาพูดได้เลย เมื่อวัฒนธรรมต้องถ่ายทอดทางสังคม ด้วยการดูตัวอย่าง เลียนแบบ แนะนำสั่งสอนเป็นต้น ดังกล่าวมานี้ ก็ทำให้เกิดความเข้าใจชัดขึ้นอีกข้อหนึ่งว่า ทุกคนอาจเป็นผู้มีวัฒนธรรมอันดีและสูงเหมือนกันหมด ไม่เลือกชาติสกุล ไม่เลือกฐานะ ยากดีมีจน วัฒนธรรมเป็นของกลาง เป็นจุดนัดพบที่จะให้คนทั้งหลายอยู่ในระเบียบอันดีงามร่วมกันโดยไม่ต้องท้อแท้ใจว่าเป็นเรื่องติดตัวมาตั้งแต่เกิด

"นักสังคมศาสตร์คนหนึ่ง คือ เอดเวิร์ด บี. รอยเตอร์ (Edward B. Reuter) กล่าวว่า "ต้นกำเนิดของวัฒนธรรมคือ การค้นพบ (Discovery) กับ การประดิษฐ์ (Invention), ลักษณะที่เจริญเติบโตของวัฒนธรรมคือ การสะสม (Accumulation), สื่อกลางของวัฒนธรรม คือ การคมนาคม (Communication), กลไกของวัฒนธรรม คือ การเลียนแบบ (Imitation) และ การพร่ำสอน (Inculcation), เนื้อหาของวัฒนธรรม คือ กระสวนหรือแบบฉบับความประพฤติ (Patterns of Behavior) และผลสุดท้ายของวัฒนธรรม คือ แบบแห่งบุคลิกภาพ (Types of Personality) และ ตัวความเชื่อถือรวมทั้งการปฏิบัติตามความเชื่อถือซึ่งเกี่ยวโยงกัน (Bodies of interrelated belief and practice)"

และอีกตอนหนึ่ง ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้สรุปไว้ในตอนท้ายของเรื่อง "มรดกทางสังคม" ดังนี้

"จึงเป็นอันสรุปความในตอนนี้ได้ว่า คำว่า วัฒนธรรม นี้ มีผู้อธิบายว่า ได้แก่มรดกทางสังคม จะสืบต่อทางสายโลหิตไม่ได้ และนับได้ว่า เป็นเหตุ แวดล้อม ซึ่งมนุษย์อาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดีขึ้นได้นั้น ได้ให้ความอุ่นใจแก่เราข้อหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในความควบคุมของมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีแบบฉบับความเป็นอยู่ ความประพฤติ และความฝังใจในบางสิ่งบางอย่างได้ การจะปลูกฝังให้มนุษย์มีความฝังนิยมในสิ่งที่ดีงาม และฝังใจรังเกียจความชั่วช้าทั้งหลายก็เป็นสิ่งที่อาจทำได้ และอาจทำได้ทันทีที่ตัวเราเองก่อน การไม่ยอมปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรมนี้เป็นเรื่องที่มนุษย์เราได้ทำมาแล้วมากหลาย แม้ทางพระพุทธศาสนาก็สั่งสอนไว้อย่างสนับสนุน ให้ลงมือทำให้ลงมือปรับปรุงให้ดีขึ้น."

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๘ กรกฎาคม๒๕๓๕
Back