Back

มโนหรา - มโนห์รา - มโนรา - มโนราห์

คำที่กำลังมีปัญหาว่าจะเขียนอย่างไรจึงจะถูก ดังที่ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นในบัญชร "พูดไทย เขียนไทย" ใน น.ส.พ.สยามรัฐ อยู่ในขณะนี้นั้น ข้าพเจ้าได้เคยเขียนอธิบายไว้ในรายการ "ภาษาของเรา" มาครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ แล้ว จึงขอนำมาเสนอท่านผู้ฟังอย่างรวบรัดดังนี้

ในหนังสือ "บันทึกความรู้ต่าง ๆ เล่ม ๕" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงพระยาอนุมานราชธน มีข้อความตอนหนึ่ง ดังนี้

"...หนังสือเขมรนั้นฉันอ่านได้ แต่คำพูดของเขานั้นฉันฟังไม่เข้าใจเลย ที่ว่าขุนสัทธาไปหัดนั้นฉันเชื่อแต่คงเป็นทีหลัง ด้วยได้เห็นเขาเล่นเรื่องไชยเชฐอันเป็นเรื่องเล่นกันในกรุง ทีแรกคงเล่นได้แต่โนราเรื่องเดียว เพราะหัดมาได้เท่านั้น ทางปากใต้จึงเรียกว่า โนรา (คือ มโนหรา)..." คำว่า "มโนหรา" ที่ ห มิได้การันต์ ส่วนใน "บัญชีอักษรย่อที่ใช้ในพจนานุกรมนี้" ตามที่ปรากฏในหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานทั้งฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ และฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้บอกไว้ว่า "มโนห์รา : บทละครครั้งกรุงเก่าเรื่อง มโนห์รา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ" คำว่า "มโนห์รา" อันเป็นชื่อหนังสือบททละคนในที่นี้ การันต์ตัว ห

ข้าพเจ้าได้อ่านบทความเรื่อง "พัทลุงเมืองประวัติศาสตร์" ของผู้ใช้นามปากกาว่า "เทวสาโร" ซึ่งตีพิมพ์อยู่ใน หนังสือ "พัทลุงสามัคคี ครั้งที่ ๑๒" (๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๒) เรื่องเกี่ยวกับ "มโนห์รา" ที่นับว่าน่าสนใจมาก จึงขอนำมาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"คำว่า "มโนห์รา" นั้น เป็นภาษาบาลีมีรูปว่า "มโนหรา" แปลตามตัวอักษรว่า "ผู้นำไปซึ่งใจ มีความหมายโดยเนื้อความว่า จิตใจสะดวกสบายรื่นเริงอะไรเหล่านี้ วิธีเขียนเป็นภาษาไทยเราการันต์ตัว ห เสีย จึงอ่านว่า มโนห์รา..."

หนังสือชื่อ "มโนหรานิบาต ฉบับวัดมัชฌิมาวาส สงขลา" ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา จัดพิมพ์ และอาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เป็นผู้จัดทำเชิงอรรถและภาคผนวก ปรากฏว่ามีทั้ง "มโนห์รา" (ห การันต์) และ "มโนหรา" (ห ไม่การันต์) เช่น ในภาคผนวกเรื่อง "มโนหรานิบาตในทัศนะของข้าพเจ้า" อาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ใช้ว่า "มโนหรา" ที่ ห ไม่มีไม้ทัณฑฆาต และแม้แต่คำว่า "นางมโนหรา" ก็มิได้การันต์ตัว ห เช่นกัน เช่น "นางมโนหราฉบับอื่น ๆ เป็นน้องคนสุดท้อง แต่ในมโนหรานิบาต นางมโนหราเป็นพี่ใหญ่ ดังความว่า "มีพระวรบุตร อุดมรูปสุนทรา เจ็ดองค์ทรงลัคณา กัลยาเป็นนารี เชฐานางนั้น ชื่อ เจ้ามโนหรา กินรี"..."

พอมาถึงภาคผนวก "เรื่องนางมโนห์ราที่ปรากฏในรูปนิทานชาวบ้าน" และ "นิทานเรื่องนางมโนห์รา (สำนวนที่ ๒)" คำว่า "มโนห์รา" การันต์ ตัว ห ทั้ง ๒ แห่ง แต่พอมาถึง "เรื่องนางมโนหราที่ปรากฏในบทเพลงกล่อมเด็กปักษ์ใต้" "บันทึกเกี่ยวกับมโนหรา" "เรื่องนางมโนหราเกี่ยวข้องกับการเล่นโนราของปักษ์ใต้หรือไม่" และ ศัพท์ภาษาใต้ที่ปรากฏในบทละครครั้งกรุงเก่าเรื่องนางมโนหรา" ปรากฏว่าที่คำว่า "มโนหรา" ไม่ได้การันต์ตัว ห เลย จึงนับว่าสับสนอยู่

หนังสือ "พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕" ได้เก็บคำว่า "มโนราห์" โดยเขียน ม สระโอ น(หนู) ร(เรือ) สระอา ห การันต์ และแยกเป็น "มโนราห์ ๑" และ "มโนราห์ ๒" พร้อมกับให้ความหมายไว้ดังนี้

"มโนราห์ ๑ น. ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีแม่บทท่ารำอย่างเดียวกับละครชาตรี, โนรา ก็ว่า, เขียนว่า มโนห์รา ก็มี."

"มโนราห์ ๒ น. ชื่อเพลงไทยทำนองหนึ่ง."

อาจมีผู้สงสัยว่า ถ้าหากคำว่า "มโนราห์" มาจากคำบาลีว่า "มโนหรา" แล้วทำไมในพจนานุกรมจึงได้ย้ายตัว ห ไปไว้หลังสุด

เรื่องนี้ข้าพเจ้าได้ถามกรรมการชำระปทานุกรมรุ่นเก่า ๆ ซึ่งบัดนี้ได้สิ้นพระชนม์ ถึงแก่อนิจกรรมและถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว ท่านได้อธิบายว่า คำที่มาจากภาษาบาลี และสันสกฤต นักปราชญ์แต่เก่าก่อนท่านไม่นิยมการันต์กลางคำ เช่น คำว่า พรหมา พราหมณ์ สามารถ ปรารถนา ท่านก็ไม่การันต์ตัว ห ที่อยู่กลางคำ หรือตัว ร ที่อยู่กลางคำ ใครจะอ่านว่า "พอน - หมา, พรา - หม, สา - มา - รถ, ปรา - รด - นา ฯลฯ ก็ช่าง เรื่องนี้ครูต้องสอนให้เด็กรู้จักอ่าน ต่อมาเกิดมีคำว่า "สาส์นสมเด็จ" ซึ่งเป็นหนังสือรวมลายพระหัตถ์ที่เขียนโต้ตอบระหว่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ขึ้น คำว่า "สาส์น" มาจากคำบาลีว่า "สาสน" (สา - สะ - นะ) ต้องการให้อ่านว่า "สาน" จึงได้การันต์ตัว ส ซึ่งผิดหลักโบราณ เรื่องนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเคยรับสั่งกับเจ้านายพระองค์หนึ่งว่า อีกหน่อยคำว่า "อานม้า" ก็ต้องเขียนว่า อาส์นม้า" ดอก เพราะคำว่า "อาสน" ซึ่งเป็นคำบาลีแปลว่า "ที่นั่ง" ได้เช่นกัน

คำว่า "บริคณห์" นั้นก็มาจากคำบาลีว่า "ปริคฺคหณ" เมื่อแผลง ป เป็น บ แล้ว แทนที่ท่านจะการันต์ตัว ห ซึ่งอยู่กลางคำเป็น "บริคห์ณ" เพื่อให้อ่านว่า "บอ - ริ - คน" ท่านก็ย้ายตัว ห ไปไว้ข้างท้าย เพื่อไม่ให้ผิดหลักที่โบราณาจารย์ท่านสอนไว้ คำว่า "มโนหรา" ก็เช่นกัน ถ้าไม่การันต์ ตัว ห อาจมีผู้อ่านว่า "มะ - โน - หรา" ก็ได้ แต่จะการันต์ตัว ห กลางคำก็จะผิดหลัก ท่านจึงได้ย้าย ห ไปไว้ข้างท้ายคำ เช่นเดียวกับคำว่า "บริคณห์" ดังกล่าวแล้ว ส่วนคนทางใต้ออกเสียงว่า "โนรา" มี ห การันต์บ้าง ไม่มี ห บ้าง ก็คงถือเอาเสียงเป็นหลัก โดยมิได้คำนึงที่มาของคำ.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๕ เมษายน ๒๕๓๖
Back