Back

ยศถาบรรดาศักดิ์ - ยศฐาบรรดาศักดิ์

ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันพุธที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่หน้า ๑๙ พบข้อความสั้น ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ในออสเตรเลีย โดยจ่าหัวเรื่องว่า "ออสเตรเลียยกเลิกยศฐาบรรดาศักดิ์" และมีข้อความประกอบข่าวสั้น ๆ ว่า

"แคนเบอร์รา - เมื่อวันจันทร์ สำนักนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียประกาศว่า นายพอล คีตติ้ง นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ตกลงเป็นมั่นเหมาะกับสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธแห่งอังกฤษ ที่จะยกเลิกระบบยศฐาบรรดาศักดิ์แบบอังกฤษในประเทศออสเตรเลีย โดยรัฐบาลของออสเตรเลีย จะไม่เสนอชื่อชาวออสเตรเลียคนใดคนหนึ่งขึ้นรับยศฐาบรรดาศักดิ์จากราชวังอังกฤษอีก แต่จะให้เครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือเหรียญตราเกียรติคุณที่รัฐบาลนายกิฟ วิตแลม ได้ตราไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ แทน"

คำว่า "ยศฐาบรรดาศักดิ์" ซึ่งมีปรากฏอยู่รวม ๓ แห่งด้วยกันนั้น คำว่า "ฐา" ใช้ ฐ ฐานสระอา เฉย ๆ คำนี้บางคนก็เขียนเป็น "ยศฐาน์บรรดาศักดิ์" คือที่ "ฐา" มี น หนูการันต์ด้วย เพื่อแสดงว่ามาจากคำว่า "ฐาน" (ถา - นะ) แต่ เพราะต้องการให้เสียง อา สัมผัสกับ "ดา" ที่ "บรรดาศักดิ์" จึงการันต์ตัว น เสีย คำว่า "ยศถาบรรดาศักดิ์" หรือ "ยศฐาน์บรรดาศักดิ์" คือทั้งชนิด ใช้ "ฐา" หรือ "ฐาน์" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ มิได้เก็บไว้ แต่ทางราชบัณฑิตยสถานใช้ "ยศถาบรรดาศักดิ์" คือ "ถา" ใช้ ถ ถุง สระ อา เสมอ ได้เคยมีผู้ถามข้าพเจ้าว่าทำไมใช้ "ถา" (ถ ถุงสระอา) ข้าพเจ้าก็ตอบไปว่าที่ท่านใช้อย่างนั้นก็เพราะในสมัยโบราณ ท่านแยกใช้เป็น ๒ คำ คือ "ยศถาศักดิ์" กับ "บันดาศักดิ์" ต่อมาท่านได้เอาคำทั้ง ๒ นี้มารวมกันเป็น "ยศถาบรรดาศักดิ์" คือมีความหมายทั้ง "ยศถาศักดิ์" กับ "บรรดาศักดิ์" ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็มิได้มีท่านผู้ใดเขียนอธิบายไว้ ทั้งนี้เพราะคนเก่า ๆ แม้ท่านจะมีความรู้ดี แต่ท่านก็มักไม่พูด และไม่ได้เขียนอะไรไว้ อาจเป็นเพราะไม่ชอบพูด ไม่ชอบเขียนก็ได้ หรือไม่มี "สนาม" ลง คือ ไม่ทราบว่า จะไปพูดที่ไหน ไปลงพิมพ์ที่ไหนก็ได้ ในที่สุดท่านก็ตายไปพร้อม ๆ กับความรู้ของท่าน นับว่าน่าเสียดายอย่างยิ่ง

คำว่า "ยศ" พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่า "น. ความยกย่องนับถือเกียรติของตน, เกียรติคุณ, เครื่องกำหนดหมายฐานะหรือชั้นของบุคคล." ส่วนคำว่า "บรรดาศักดิ์" ซึ่งโบราณมักเขียนเป็น "บันดาศักดิ์" เช่นในกฎหมายตราสามดวงเป็นต้นนั้น พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ฐานะของขุนนางซึ่งได้รับพระราชทานเนื่องจากตำแหน่ง แต่ต่อมาไม่เนื่องจากตำแหน่งก็มี." เช่น ยศและบรรดาศักดิ์ของ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หรือ พันตรีหลวงพิบูลสงครามนั้น "พันเอก" หรือ "พันตรี" เป็นยศ ส่วน "พระยาพหลพลพยุหเสนา" หรือ หลวงพิบูลสงคราม" เป็นบรรดาศักดิ์ ความจริงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาหรือเป็นหลวงเท่านั้น ข้อความต่อจาก "พระยา" หรือ "หลวง" นั้นเป็น "ราชทินนาม" คำว่า "ราชทินนาม" (ราด - ชะ - ทิน - นะ - นาม) พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. นามบรรดาศักดิ์ชั้นสัญญาบัตรที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทาน." บทนิยามนี้ ต่อมาได้ปรับปรุงแก้ไขโดยเพิ่มคำว่า "สมณศักดิ์" ต่อจาก "บรรดาศักดิ์" ด้วย ดังเช่น ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานและเลื่อนสมณศักดิ์แก่พระเถระทั้งหลายที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่พระศาสนาไว้มาก เช่น "ทรงพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระราชวรมุนี เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามว่า พระเทพเวที"

ส่วนในกฎหมายตราสามดวง มีทั้ง "ยศถาศักดิ์" และ "บันดาศักดิ์" คำว่า "บันดาศักดิ์" ใช้ "นา" เป็นหลัก เช่นใน "พระไอยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง" ข้อ ๒๘ ว่า

"มาตราหนึ่ง ถ้าจะเอาบันดาศักดินา(บัน - ดา - สัก - นา) พี่น้องลูกหลานให้เอาแต่ลูกๆ ชายหญิงแลลูก ๆ ..." และยังมีข้อความในลักษณะนี้อีกมากมาย เช่น "บันดาศักดิ์นา ๑๐,๐๐๐ หัวเมืองขี่คานหามเก้าอี้กันชิงหุ้มผ้าขาว" "บันดาศักดิ์หัวเมืองนา ๕,๐๐๐ ขี่ยั่วร่มทงยู"

ส่วนคำว่า "ยศถาศักดิ์" หมายถึง "ยศและตำแหน่ง" เช่น ใน "พระไอยการกระบดศึก" ข้อ ๑๔ มีดังนี้

"๑๔ มาตราหนึ่ง ผู้ใดพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่งให้มียศถาศักดิ์ แลเป็นนายหมวดนายกองทแกล้วไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน มีการณะรงสงคราม มิได้อยู่ช่วยราชการ ภาครอบครัวอพยบหนีไปเข้าด้วยข้าศึกแลไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่าดง ท่านว่าเป็นกระบถ ให้ฆ่าเสียทังโคติอย่าให้ดูเยี่ยงอย่างกันต่อไป" หรือข้อความว่า "... ไม่คิดถึงยศถาศักดิ ซึ่งทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเปนถึงเจ้ากรม อาษา..."

ข้อความดังยกตัวอย่างมานี้ แสดงให้เห็นว่า "ยศถาศักดิ์" เป็นเรื่องเกี่ยวกับยศและตำแหน่ง ส่วน "บันดาศักดิ์" นั้นถือนาเป็นหลัก ต่อมาเมื่อเราเลิก "ศักดินา" (สัก - นา แต่ต่อมาออกเสียงเป็น สัก - ดิ - นา) จึงได้เอา "ยศถาศักดิ์" กับ "บันดาศักดิ์" มารวมกันเป็น "ยศถาบันดาศักดิ์" แต่เขียนเป็น "ยศถาบรรดาศักดิ์" ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ คำว่า "ถา" ในที่นี้จึงมิได้เกี่ยวกับคำว่า "ฐานะ" แต่ประการใด.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๖ตุลาคม๒๕๓๕
Back