Back
ราชบัณฑิตยสถานฝรั่งเศส


มีผู้สนใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของราชบัณฑิตยสถานว่าทำไมจึงแบ่งเป็น ๓ สำนัก คือ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง สำนักวิทยาศาสตร์ และสำนักศิลปกรรม การแบ่งตามที่กล่าวมานี้ได้แบบอย่างมาจากไหน ข้าพเจ้าได้ทราบจากผู้หลักผู้ใหญ่ว่า ราชบัณฑิตยสถานของเรานั้นได้ดำเนินตามแบบราชบัณฑิตย สถานแห่งประเทศฝรั่งเศส

ในเรื่อง "ราชบัณฑิตยสถานแห่งฝรั่งเศส" นี้ คุณเยาวดี พัฒโนทัย แห่งภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เรียบเรียงไว้ดีมาก ข้าพเจ้าขออนุญาตนำส่วนที่เกี่ยวกับ "ประวัติ" ของราชบัณฑิตยสถานฝรั่งเศสมาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"ราชบัณฑิตยสถานแห่งฝรั่งเศสคืออะไร ถ้าจะให้คำจำกัดความอย่างง่าย ๆ ก็คือ สถาบันที่รวมแห่งราชบัณฑิตยสภาทั้งหลายของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ๕ สภา เรียงรายชื่อสภาตามลำดับการก่อตั้งดังนี้

๑. ราชบัณฑิตยสภาฝรั่งเศส
๒. ราชบัณฑิตยสภาทางอักษรศาสตร์และวรรณกรรม
๓. ราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์
๔. ราชบัณฑิตยสภาทางศิลปกรรม
๕. ราชบัณฑิตยสภาทางธรรมศาสตร์และการเมือง

"ในประเทศฝรั่งเศส นอกจากราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศฝรั่งเศสแล้ว ยังมีสถาบันหรือสมาคมนักปราชญ์ อยู่อีกหลายสถาบันด้วยกัน เช่น สภาการแพทย์และศัลยกรรม สภาการเกษตร สภาอุทกศาสตร์ และยังมีองค์การอย่างเดียวกันนี้ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทุกสถาบันล้วนแต่เป็นสถาบันของนักค้นคว้าในกิจการที่มีคุณประโยชน์มากทั้งสิ้น

"ราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศฝรั่งเศสหรือที่เรียกว่า L'Institute de France เป็นสถาบันที่ได้รับการยกย่องทั้งในประเทศฝรั่งเศสและในต่างประเทศว่าเป็นสถาบันที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญและมีชื่อเสียงยากที่สถาบันใดจะเทียบเท่าได้

"เรอนอง (Renan) ได้กล่าวถึงราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศฝรั่งเศสไว้ว่า "สถาบันแห่งนี้เป็นสมบัติเฉพาะของประเทศฝรั่งเศส มีหลายประเทศในโลกที่มีราชบัณฑิตยสภาซึ่งประกอบไปด้วยราชบัณฑิตที่มีชื่อเสียงสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ซึ่งอาจแข่งขันกับสภาของเราได้ แต่ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศเดียวที่มีสถาบันซึ่งเป็นที่รวมแห่งความนึกคิดของมนุษย์ที่เป็น กลุ่มเป็นก้อน อันประกอบด้วยกวี นักปราชญ์ นักประวัติศาสตร์ นักวิจารณ์ นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ นักดาราศาสตร์ นักธรรมชาติวิทยา นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย ปฏิมากร จิตรกร นักดนตรี ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนร่วมคณะเดียวกัน"

ผู้เรียบเรียงได้ทำเชิงอรรถ บอกให้ทราบว่า คำว่า "ราชบัณฑิตยสถาน" นั้น แปลมาจากคำภาษาฝรั่งเศสว่า L'Institute de France และคำว่า "ราชบัณฑิตยสภา" นั้น แปลมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า L'Academie Francaise คำว่า "institute" (เอ็งสตีตึต์) หมายความว่า "สถาบัน" หรือ "สถานที่ตั้งขึ้น" หรืออาจหมายถึง "หลักฐานขนบธรรมเนียม" ก็ได้ ส่วนคำว่า "Academie" (อากาเดมี) ตามปรกติก็หมายถึง "ราชบัณฑิตยสถานฝรั่งเศส" อยู่แล้ว แต่คุณเยาวดี พัฒโนทัย ใช้ว่า "สภา"

ราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศไทย ใช้ภาษาอังกฤษว่า Royal Institute และแบ่งออกเป็น "สำนัก" รวม ๓ สำนัก คำว่า "สำนัก" ใช้ภาษาอังกฤษว่า "Bureau' ความจริงถ้าจะใช้ตามแบบฝรั่งเศสก็น่าจะใช้ว่า "Academy"

ฝรั่งเศสเขามี "ราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์" ไทยเราก็มี "สำนักวิทยาศาสตร์" ฝรั่งเศสเขามี "ราชบัณฑิตยสภาทางศิลปกรรม" ไทยเราก็มี "สำนักศิลปกรรม" ฝรั่งเศสเขามี "ราชบัณฑิตยสภาทางธรรมศาสตร์และการเมือง" ไทยเราก็มี "สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง" ส่วน "ราชบัณฑิตยสภาทางอักษรศาสตร์และวรรณกรรม" ที่ฝรั่งเศสเขามีนั้น เรายังไม่มี เราได้รวมเอางานทางอักษรศาสตร์และวรรณกรรมมาไว้ใน "สำนักศิลปกรรม" เพราะฉะนั้น "สำนักศิลปกรรม" ของเรา จึงเท่ากับ "ราชบัณฑิตยสภา" ของฝรั่งเศสถึง ๒ สภา คือ "ราชบัณฑิตยสภาทางอักษรศาสตร์และวรรณกรรม" กับ "ราชบัณฑิตยสภาทางศิลปกรรม" แต่ปรากฏว่า "สำนักศิลปกรรม" ของไทยเรากลายเป็นสำนักที่เล็กที่สุดไป

คุณเยาวดี พัฒโนทัย ได้บอกถึงปีที่ก่อตั้งสภาต่าง ๆ ไว้ด้วย ดังข้าพเจ้าจะขอสรุปมาเพียงพอทราบเฉพาะปีที่ก่อตั้งดังนี้

๑. ราชบัณฑิตยสภาฝรั่งเศส ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๖๓๕ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๗๘)
๒. ราชบัณฑิตยสภาทางอักษรศาสตร์และวรรณกรรม ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๖๖๓ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๐๖)
๓. ราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์ ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๖๖๖ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๐๙)
๔. ราชบัณฑิตยสภาทางศิลปกรรม เป็นที่รวมของราชบัณฑิตยสภาทางจิตรกรรมและปฏิมากรรม ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๖๔๘ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๙๑) รวมกับราชบัณฑิตยสภาทางสถาปัตยกรรมซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๖๗๑ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๑๔)

คุณเยาวดี พัฒโนทัย ได้กล่าวสืบไปว่า "ราชบัณฑิตยสภาดังกล่าวข้างต้นได้รวมตัวกันเป็นราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศฝรั่งเศส หรือ Institute de France ในปี ค.ศ. ๑๗๙๕ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๓๘) พร้อมกับการตั้ง ราชบัณฑิตยสภาทางธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น นับว่า "ราชบัณฑิตยสภาทางธรรมศาสตร์และการเมือง" ของฝรั่งเศสเป็น "ราชบัณฑิตยสภา" น้องสุดเลย

ข้าพเจ้าหวังว่าท่านผู้ฟัง คงจะพอเข้าใจประวัติความเป็นมาของราชบัณฑิตยสถานฝรั่งเศสที่ไทยเราได้เลียนแบบมาตั้ง "ราชบัณฑิตยสถาน" ของเราบ้างพอสมควร ถ้าท่านต้องการทราบรายละเอียด ก็หาหนังสือ "ราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศฝรั่งเศส" ที่คุณเยาวดี พัฒโนทัย ได้เรียบเรียงไว้มาอ่านเอาเองก็แล้วกัน.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๔ ธันวาคม๒๕๓๔
Back