Back
รูปโฉมโนมพรรณ


คนไทยเรามักเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนกันแทบทุกคน แทบจะเรียกว่ามีความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนอยู่ในสายเลือดทีเดียว เวลาพูดข้อความหรือวลี ต่าง ๆ มักมีทั้งสัมผัสสระบ้าง สัมผัสพยัญชนะบ้าง เช่น ไร่นาสาโท วัดวาอาราม ส้มสูกลูกไม้ ยศถาบรรดาศักดิ์ ฯลฯ บางทีก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าบางคำแทรกเข้ามาได้อย่างไร เช่น "วัดวาอาราม" ก็มีคนถามว่า "วา" แปลว่า "วัด" หรือ "ส้มสูกลูกไม้" ทำไมต้องมีคำว่า "สูก" ด้วย และ "สูก" แปลว่าอะไร ถ้ายืดเสียงมาจาก "สุก" ปัญหาก็จะมีว่า ส้มมีสุกได้ด้วยหรือ ผู้รู้ท่านได้เคยอธิบายให้ข้าพเจ้าฟังว่า คำประเภทนี้แต่ละคำบางทีก็มีความหมายทุกคำ เช่น "ถนนหนทาง" "ถนน" ก็มีความหมาย "หน" ก็มีความหมาย "ทาง" ก็มีความหมาย คือมีความหมายเหมือนกันทุกคำ แต่บางคำก็เสริมเข้ามาโดยไม่มีความหมายอะไร เพียงต้องการให้มีสัมผัสและข้อความข้างหน้าข้างหลังมีพยางค์เท่ากัน ไม่คอนกันเท่านั้น ถึง กระนั้นท่านก็มีหลักของท่าน เช่น "วัดวาอาราม" ความจริงก็คือ "วัด" กับ "อาราม" เท่านั้น แต่ "วัด" มีพยางค์เดียว "อาราม" มี ๒ พยางค์ มันคอนกันจึงเพิ่มคำว่า "วา" เข้ามา คำว่า "วา" เป็นคำสร้างขึ้นใหม่ โดยเอา ว จาก "วัด" และ เสียง "อา" จาก "อาราม" นั่นเองมาผสมกันเป็น "วา" หรือ "ส้มสูกลูกไม้" ก็มาจากคำว่า "ส้ม" กับ "ลูกไม้" ข้างหน้ามีพยางค์เดียว ข้างหลังมี ๒ พยางค์ มันคอนกัน ก็เติมคำว่า "สูก" เข้ามาโดยเอา "ส" มาจากคำว่า "ส้ม" และเสียง "อูก" มาจากคำว่า "ลูก" จึงเป็น "สูก"

ส่วนคำว่า "รูปโฉมโนมพรรณ" นั้น ก็มีผู้ถามว่าคำว่า "โนม" แปลว่ากระไร พจนานุกรมมิได้เก็บไว้ เมื่อมีผู้มาถามข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ต้องใช้วิธีสันนิษฐานเอาว่า คำว่า "โนม" คำนี้คงจะยืดเสียงมาจาก "นม" นั่นเอง เพื่อให้เสียงรับกับคำว่า "โฉม" ซึ่งอยู่ข้างหน้า คำว่า "รูปโฉม" พจนานุกรมก็มิได้เก็บไว้ คำว่า "โนมพรรณ" ก็มิได้เก็บไว้

ปัญหาต่อไปก็คือทำไมต้องใช้ว่า "รูปโฉมโนมพรรณ" ด้วย และคำนี้ใช้ได้เฉพาะกับผู้หญิงเท่านั้นหรือ ก็ขอตอบว่าไม่เคยพบว่ามีใครนำมาใช้กับผู้ชายเลย

เวลาที่พูดกันถึงผู้หญิงว่าจะสวยหรือไม่สวยนั้น เรามักจะพูดว่า "รูปโฉมโนมพรรณของเธอเข้าที" หรืออาจถามว่า "เธอมีรูปโฉมโนมพรรณเป็นอย่างไร" ข้าพเจ้าเข้าใจว่า คำนี้ประกอบด้วยคำ ๔ คำ คือ "รูป + โฉม + โนม + พรรณ"

คำว่า "รูป" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "น.ของที่ปรากฏแก่ตา, ร่าง, ร่างกาย, เค้าโครง, แบบ. ..." ซึ่งในที่นี้ก็คงหมายถึง "รูปร่าง" อันได้แก่ "ลักษณะร่างกาย, ทรวดทรง" นั่นเอง อย่างที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า shape นั่นแหละ

คำว่า "โฉม" พจนานุกรม ได้ให้ความหมายไว้ว่า "น. รูปร่าง, ทรวดทรง, เค้า; ..." ในที่นี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงหมายถึง "โฉมหน้า" ซึ่งก็คือ "เค้าหน้า" นั่นเอง เช่น มีเค้าหน้ารูปไข่ หรือสี่เหลี่ยม ทำนองนั้น

คำว่า "โนม" ไม่มี ถ้ายืดเสียงจาก "นม" ก็หมายถึง "น. อวัยวะส่วนที่อยู่บริเวณหน้าอก โดยปรกติมี ๒ เต้า, ส่วนนมของสัตว์บางชนิด อาจมีหลายเต้าก็ได้; ..." คนที่มีนมเกินกว่า ๒ เต้า เช่น นางแซว ซึ่งเป็นข่าวหลายปีมาแล้ว เพราะแกมีนม ๓ เต้า อย่างนี้ถือเป็นกรณียกเว้น

คำว่า "พรรณ" แปลว่า "น. สีของผิว; ..."

เมื่อนำคำว่า "รูป" "โฉม" "โนม" "พรรณ" มารวมกันเป็น "รูปโฉมโนมพรรณ" ก็หมายความว่า คนคนนั้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ยังเป็นสาวอยู่ ไม่ใช่หญิงแก่ ว่าเธอมีรูปร่างหรือทรวดทรงสัณฐานเป็นอย่างไร สูงกี่เซนติเมตร ปัจจุบันก็ต้องสูงกว่า ๑๖๕ เซนติเมตรขึ้นไป สูงเกินไปหรือเตี้ยเกินไปก็ไม่ได้ มาตรฐาน รูปหน้าของเธอเป็นอย่างไร จะเป็นแบบรูปไข่ หรือ กลมอย่างกับพระจันทร์ในวันเพ็ญ หรือหน้าสี่เหลี่ยม ลักษณะนมเป็นอย่างไร ชนิดไข่ดาว หรือ ตาสะแก หรืออกภูเขา เป็นต้น ผิวพรรณเป็นอย่างไร หยาบหรือละเอียด ขาว ขาวเหลือง คล้ำ ดำแดง หรือดำปี๋ ผิวเนียนไหม

เวลามีการประกวดนางสาวไทยก็ดี นางสาวโลกก็ดี นางสาวจักรวาลก็ดี คณะกรรมการและผู้เข้าชมก็ต้องพิจารณาทั้ง ๔ อย่างนี้ไปพร้อม ๆ กัน คือดูทั้งหน้าตา ทรวดทรง อก และผิว ถ้าหน้าตาดี แต่เตี้ยไป หรืออกเล็กไป ก็คงตกรอบ แต่ถ้าได้ลักษณะดีครบทั้ง ๔ อย่าง คือมี "รูปโฉมโนมพรรณ" ดีก็ผ่านเข้ารอบ และถ้าดีที่สุดในสายตาของคณะกรรมการ ก็จะได้รับเลือกเป็น "นางสาวไทย" "นางสาวไทยจักรวาล" "นางสาวโลก" หรือ "นางงามจักรวาล" ต่อไป นี่ก็เป็นเพียงข้อคิด ขอฝากไว้เพื่อช่วยกันพิจารณาต่อไป.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๓๑กรกฎาคม๒๕๓๔
Back