Back
ลื่อ - ลื้อ


ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นกรรมการทำพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ของราชบัณฑิตยสถานด้วยผู้หนึ่ง ได้มีโอกาสศึกษาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ จากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายหลายท่านด้วยกัน บางทีก็พบว่าคำบางคำที่ใช้อยู่ในกฎหมายนั้นก็ผิดไปจากที่มีอยู่ในพจนานุกรม ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นความจงใจ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความพลั้งเผลอในเวลาพิสูจน์อักษร

เมื่อวันพุธที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ขณะที่กำลังพิจารณาเรื่อง "ผู้เยาว์" อยู่นั้น ข้าพเจ้าได้เปิดหนังสือ "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" บรรพ ๑ ดู ก็พบว่าในมาตรา ๒๙ มีข้อความดังนี้

"บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าภริยาสามีก็ดี ผู้บุรพการี กล่าวคือ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด ก็ดี ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื้อ ก็ดี ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคลผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

"คำสั่งอันนี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา"

คำที่ข้าพเจ้าข้องใจ ก็คือคำว่า "ลื้อ" ซึ่งอยู่ถัดจาก "เหลน" ออกไป ถ้าพิจารณาข้อความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๒๙ นี้ ก็จะเห็นว่า "ผู้สืบสันดาน" นั้นท่านเรียงลำดับไว้ดังนี้ "ลูก-หลาน-เหลน-ลื้อ" เมื่อ "หลาน" คือ "ลูกของลูก" "เหลน" ก็คือ "ลูกของหลาน หรือ หลานของลูก" แล้ว คำว่า "ลื้อ" ก็ควรจะเป็น "ลูกของเหลน" หรือ "หลานของหลาน" หรือ "เหลนของลูก" แต่เมื่อเปิดดูในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ แล้ว ไม่ปรากฏว่าคำว่า "ลื้อ" ในความหมายที่ว่า "ลูกของเหลน" เลย พจนานุกรม ได้ให้บทนิยามของคำว่า "ลื้อ" ไว้ดังนี้ "น. ไทยพวกหนึ่ง อยู่ในแคว้นสิบสองปันนา." ซึ่งบางทีเราก็เรียกว่า "ไทยลื้อ" หรือมิฉะนั้น ก็เป็นคำสรรพนามในภาษาจีน อันหมายถึงบุคคลที่เราพูดด้วย ตรงกับคำว่า "ท่าน, เอ็ง, มึง" ใน ภาษาไทย หรือ You ในภาษาอังกฤษนั่นเอง คำว่า "ลื้อ" ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คงมิได้หมายถึงคนไทยพวกหนึ่งในแคว้นสิบสองปันนาเป็นแน่ เพราะคนไทยพวกนั้นจะมาเป็น "ผู้สืบสันดาน" ในกฎหมายดังกล่าวนี้ไม่ได้ คำนี้ที่ถูกต้องควรจะเป็น "ลื่อ" มากกว่า ทั้งนี้เพราะคำว่า "ลื่อ" พจนานุกรม ได้ให้บทนิยามไว้ว่า "น. ลูกของเหลน." แต่คำนี้ เราไม่ค่อยได้ใช้กัน เรามักจะเรียกลูกของเหลนว่า "โหลน" ดังเพลงในพระราชนิพนธ์ว่า "ลูกหลานเหลนโหลน ภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย" แต่คำว่า "โหลน" พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ยังมิได้เก็บไว้

คำที่อยู่ในชุดเดียวกัน "ลูก - หลาน - เหลน - ลื่อ" ซึ่งถัดจาก "ลื่อ" ไปก็คือ "ลืด" และ "ลืบ" พจนานุกรมได้ให้ความหมายของคำทั้ง ๒ ไว้ดังนี้

"ลืบ น. ลูกของลื่อ, หลานของเหลน."

"ลืด น. ลูกของลืบ."

คำว่า "ลื่อ - ลืบ - ลืด" ทั้ง ๓ นี้ นักกฎหมายส่วนมากก็ไม่ทราบว่าหมายถึงใคร โดยเฉพาะคำว่า "ลื่อ" นั้น ในกฎหมายตราสามดวงก็มิใช้แล้ว แต่เขียนเป็น ๓ รูปด้วยกัน คือ "ลื่" (ไม่มี อ ตาม) "ลื่อ" (มี อ ตาม) และ "หลื้" (ห ล สระอือ ไม้ไท) ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างมาประกอบคำอธิบายดังนี้

ที่เขียนเป็น "ลื่" (ไม่มี อ ตาม) ดังที่ปรากฏใน "พระไอยการ ลักษณมรดก" หน้า ๓๗ ดังนี้

"๓๗ มาตราหนึ่ง ลูกหลานเหลนลื่ไดบวดเปนสามเณร แลบิดรมานดาปู่หญ้าตายายถึงแก่มรณภาพไซ้ ควรให้ได้ทรัพยส่วนแบ่งปัน ตามพระราชกฤษฎีกาให้เป็นจตุปใจยแก่สามเณรนั้น"

ที่เขียนเป็น "ลื่" (ไม่มี อ ตาม) ดังปรากฏใน "พระไอยการลักษณมรดก" ข้อ ๓๗ ดังนี้

"๓๗ มาตราหนึ่ง ลูกหลานเหลนลี่ไดบวดเป็นสามเณร แลบิดรมานดาปู่หญ้าตายายถึงแก่มรณภาพไซ้ ควรให้ได้ทรัพยส่วนแบ่งปัน ตามพระราชกฤษฎีกาให้เป็นจตุปใจยแก่สามเณรนั้น"

ที่เขียนเป็น "ลื่อ" (มี อ ตาม) ดังปรากฏใน "พระไอยการลักษณมรดก" ข้อ ๑ ดังนี้

"๑ ถ้าแลผู้มีบันดาศักดิตั้งแต่นา ๔๐๐ ขึ้นไปถึงแก่มรณภาพและจะแบ่งปันทรัพยมรดกเป็นส่วน ซึ่งจะได้แก่บิดามานดาแลญาติพี่น้องบุตรภรรยาหลานเหลนลื่อนั้น โดยได้รับราชการแลมิได้รับราชการ แลมีบำเน็จบำนาญ แลหาบำเน็จบำนาญมิได้ ให้ทำเปนส่วนดั่งพระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้นี้

ส่วนที่เขียนเป็น "หลื้" (ห นำ ล สระอือ ไม้โท) นั้น มีปรากฏอยู่ในข้อ ๒๘ วรรค ๒ และ ๓ ดังนี้

"อนึ่งถ้าพี่น้องลูกหลานเหลนหลื้สาขาญาติไปรับราชการอยู่ณะเมือง

แล แขวงจังหวัดไซ้ ให้แบ่งทรัพยบันดาส่วนซึ่งจะได้นั้นไว้ ณะพระคลังก่อน ถ้าผู้นั้นมาแต่ราชการ แล้วจึ่งเอาทรัพยซึ่งไว้ ณะพระคลังนั้นให้"
ข้าพเจ้าจึงขอเสนอว่า คำว่า "ลื้อ" ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๙ นั้น ควรจะได้แก้ไขให้ถูกต้องเป็น "ลื่อ" เสียด้วย.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑ มิถุนายน๒๕๓๕
Back