Back



คำที่เป็นสำนวนในภาษาไทยมีอยู่มากมาย บางคำก็ยังหาประวัติความเป็นมาไม่ได้ บางคำก็พอมีประวัติความเป็นมาอยู่บ้าง อย่างคำว่า "ล้วงตับ" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้เก็บเข้าคู่กับคำว่า "ล้วงไส้" และให้บทนิยามไว้อย่างเดียวกันดังนี้ "ก. หลอกลวงให้ตายใจ, ล้วงเอาไปจนหมดเกลี้ยง." ทำไมคำว่า "ล้วงตับ" หรือ"ล้วงไส้" จึงหมายความว่า "ล้วงไปจนหมดเกลี้ยง" นั้น "กาญจนาค-พันธุ์" หรือ ขุนวิจิตรมาตรา อดีตกรรมการชำระปทานุกรมได้เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ "สำนวนไทย" ดังนี้

"ล้วงตับ เป็นสำนวนหมายความว่า ล่อลวงเอาความลับ หรือ ล่อลวงเอาทรัพย์สินเงินทองไปจนหมดตัว มูลของสำนวนมาจากตุ๊กแกกับงูเขียว คือสมัยโบราณเรือนมุงหลังคาจากจึงมักจะมีตุ๊กแกมาอาศัยอยู่ทั่วไปทุกบ้านเรือนก็ว่าได้ ตุ๊กแกนั้นร้องเสมอจนเกิดเป็นนิมิตตุ๊กแกร้อง เช่น ร้องน้อยครั้งไม่ดี ต้องร้องอย่างน้อย ๕ ครั้ง ถือว่าเป็น "นะ โม พุท ธา ยะ" หรือเกินกว่า ๕ ครั้งขึ้นไปจึงจะดี เสียงร้องของตุ๊กแก เราฟังเป็น "ตั๊บแก" ตุ๊กแกร้องไม่ช้า งูเขียวก็มา ตามที่เคยเห็นกัน ตลอดจนตัวข้าพเจ้า (คือ ขุนวิจิตรมาตรา) ได้เห็น (แต่ส่วนมากไม่ได้เห็น เพราะอยู่ในหลังคาจาก) งูเขียวจะเอาหัวล้วงเข้าไปในลำคอของตุ๊กแก เข้าไปลึก และเอาหางพันรอบตัวตุ๊กแก ดูคล้ายกับตุ๊กแกกับงูสู้กัน แล้วตุ๊กแกคาบอมงูไว้ ฉะนั้น ทั้งสองอยู่ในลักษณะ เช่นนั้นราวสัก ๑๕ นาที งูก็ออกมาจากปากตุ๊กแกแล้วต่างฝ่ายต่างก็ไปจากกัน ตามที่เชื่อกันมาแต่โบราณนั้นว่ากันว่า งูเขียวเข้าไปกินตับตุ๊กแก คือ เสียงที่ตุ๊กแกร้อง "ตั๊บแก" นั่นหมายความว่า "ตับแก่" เป็นคำร้องของตุ๊กแก แสดงว่าตับมันแก่แล้ว งูได้ยินเข้าก็มากิน ความเชื่อนี้เกิดเป็นคำกลอนกล่อมเด็กในสมัยโบราณที่ว่า "อ้ายตุ๊กแกเอย ตัวมันลายพร้อยพร้อย งูเขียวตัวน้อยห้อยหัวลงมา เด็กนอนไม่หลับ กินตับเสียเถิดวา อ้ายตุ๊กแกเอย" จากเรื่องดังกล่าวนี้ เลยเกิดคำว่า "ล้วงตับ" ใช้เป็นสำนวนหมายความว่า ล่อลวงหรือล้วงเอาความลับที่ซ่อนอยู่ภายใน มีบทดอกสร้อยของกระทรวงศึกษาธิการสำหรับเด็กนักเรียนร้องเล่น แต่งเปรียบเทียบไว้ ดังนี้

"ตุ๊กเอยตุ๊กแก ตับแก่แซ่ร้องก้องบ้าน เหมือนเตือนหูให้งูรู้อาการน่า รำคาญเสียแท้ ๆ แซ่จริงจริง อันความลับเหมือนกับตับที่ลับแน่ อย่าตีแผ่ให้กระจายทั้งชายหญิง ควรจะปกปิดไว้อย่าไหวติง ที่ควรนิ่งนิ่งไว้ในใจเอย"

สำนวน "ล้วงตับ" หมายตลอดไปถึง ล่อลวงเอาทรัพย์สินเงินทองจนหมดตัวก็ได้ เรื่องตุ๊กแกกับงูเขียวนี้ ตามตำราสัตวศาสตร์ว่าเป็นความจริง แต่งูไม่ได้กินตับตุ๊กแก งูเข้าไปกินอาหารในท้องตุ๊กแก ตามธรรมชาติปรากฏว่า ตุ๊กแกกินตัวแมลงต่าง ๆ เป็นอาหาร เมื่อกินเข้าไปมาก ก็แน่นท้องจึงร้องขึ้น งูเขียวก็มาล้วงคอตุ๊กแกเข้าไปกินตัวแมลงในกระเพาะตุ๊กแก เท่ากับเป็นการช่วยให้ตุ๊กแกหายแน่นท้อง แล้วตัวเองก็อิ่มด้วย ธรรมชาติสร้างให้มาเป็นคู่กันอย่างนั้นเอง ว่าถึงเรือนไทยโบราณที่มักจะมีตุ๊กแก ก็เพราะมุงหลังคาจากรุงรัง เป็นทำเลดีสำหรับพวกแมงมุมมาอยู่ อย่างที่ร้องกันว่า "แมงมุมขยุ้มหลังคา" เลยกลายเป็นที่เหมาะสำหรับตุ๊กแกมาอาศัยได้กินแมลงต่าง ๆ เป็นอาหารไปด้วย งูเขียวก็ชอบที่รกรุงรัง เลยเป็นเพื่อนกลมเกลียวกันไปกับตุ๊กแก ความเชื่อของผู้ใหญ่โบราณแม้จะไม่ตรง ก็นับว่าช่างสังเกตและนำมาใช้เป็นเค้าเข้าเงื่อนดี สุภาษิตสอนหญิงของสุนทรภู่มีว่า "อันแม่สื่อคือปีศาจที่อาจหาญ ใครบนบานเข้าสักหน่อยก็พลอยโผง อย่าเชื่อนักมักตับจะคับโครง มันชักโยงอยากกินแต่สินบน" นี้ก็มุ่งไปถึงเรื่องตุ๊กแกเหมือนกัน" แต่คำว่า "ล้วงไส้" ท่าน "กาญจนาคพันธุ์" มิได้กล่าวถึงเลย

ในเรื่องเกี่ยวกับตุ๊กแกนี้ เรายังเอามาใช้ขู่เด็กเล่นในเวลาที่จะให้เด็กทารก นอนหลับ ถ้าเด็กไม่นอน เราก็มักจะขู่ว่า "ถ้าไม่นอนตุ๊กแกจะกินตับนะ" กลายเป็นว่า งูเขียวกินตับตุ๊กแก แล้วตุ๊กแกก็มากินตับเด็กอีกทอดหนึ่ง.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔
Back