Back

วัดพนัญเชิง

ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีวัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่มาก องค์หนึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั้งชาวไทยและชาวจีนมากวัดหนึ่ง คือ วัดพนัญเชิง ซึ่งได้ทราบว่าภายในพระวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธไตรรัตนนายก พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้างถึง ๗ วา ๑๖ นิ้ว นั้นได้ชำรุดทรุดโทรม ได้ซ่อมแซมกันมาหลายครั้งหลายหนแล้ว ขณะนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างบูรณะ ซ่อมแซมภายในพระวิหารอยู่

วัดพนัญเชิงเป็นวัดโบราณสร้างมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เฉพาะ พระพุทธไตรรัตนนายกนั้นในประวัติว่าสร้างขึ้นเมื่อ ๑๘๖๗

ในพระราชพงศาวดารเหนือกล่าวไว้ว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงสร้างขึ้นในที่ที่พระราชทานเพลิงนางสร้อยดอกหมาก พระอัครมเหสี ได้สถาปนาขึ้นเป็นพระอารามพระราชทานว่า "วัดเจ้าพระนางเชิง" เมื่อจุลศักราช ๔๐๖ ปี มะโรง ฉศก ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เรียกกันว่า วัดพแนงเชิงบ้าง วัดพระเจ้าพแนงเชิงบ้าง แต่โดยมากเรียกย่อว่า "วัดพแนงเชิง" ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๔ ได้มีพระราชกฤษฎีกาไว้ว่า "วัดพนัญเชิง"

วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์จากกษัตริย์ราชวงศ์จักรีกันต่อ ๆ มา ใน พ.ศ. ๒๓๓๙ รัชกาลที่ ๔ เสด็จปิดทองพระพุทธเจ้าพนัญเชิงที่วัดนี้ และทรงถวายพระนามว่า "พระพุทธไตรรัตนนายก" และเสด็จมาติดพระเนตรถมปัดอีกครั้ง ในครั้งนั้นได้โปรดให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐีจัดตั้งเครื่องสังเวยตามแบบธรรมเนียมจีน ในสมัยต่อมาเจ้าอาวาสของแต่ละยุคได้สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ปัจจุบัน วัดพนัญเชิง เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร

ถาวรวัตถุและปูชนียวัตถุที่สร้างขนาบพระวิหารหลวงนี้ ได้แก่ พระอุโบสถและพระวิหารเขียน

พระอุโบสถนั้นพระยาชาวรามัญเป็นผู้สร้างมีขนาดยาว ๘ วา ๑๘ นิ้ว กว้าง ๕ วา ๖ นิ้ว มีหน้ามุขเป็นมุขลด ประตูด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูป

พระวิหารหรือที่เรียกกันว่า พระวิหารเขียน เพราะมีภาพเขียนอยู่ข้างใน สร้างโดยบุตรเขยพระยาชาวรามัญ สร้างพร้อมพระอุโบสถ มีขนาดยาว ๘ วา ๑๘ นิ้ว กว้าง ๔ วา ๒ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว มีหน้ามุขเป็นมุขลด จิตรกรรมฝาผนังเป็นเรื่องมารผจญ มีภาพพลมาร มารผจญ มารหนี และลายกระถางต้นไม้ต่าง ๆ

โดยเหตุที่วัดพนัญเชิงนี้เรียกชื่อกันไปต่าง ๆ ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ ๔ ทรงมีประกาศให้เรียกว่า "วัดพนัญเชิง" แล้ว แต่ก็ยังมีคนเรียกว่า วัดพแนงเชิงบ้าง วัดพระเจ้าพแนงเชิงบ้างอยู่อีก พระองค์จึงได้ทรงมีประกาศออกมาฉบับหนึ่ง ชื่อ "ประกาศเตือนสติในคำที่เรียกภูษามาลา และวัดพนัญเชิง" (ไม่มีศักราช) มีข้อความดังนี้

"ภูษามาลาคำนี้เรียกมาแต่บุรมบุราณ ก็จะกลับเอาต้นเป็นปลายเรียกว่า มาลาภูษา กีดหูนัก เหมือนจะไปเรียก มหาดไทยว่า ไทยหมาด กระลาโหม จะไปเรียกวา โหมกระลา ฟังไม่ได้เลย เพราะอย่างนั้นให้คงเรียกว่า ภูษามาลา ตามเดิม อย่าเรียกว่า มาลาภูษา กลับหน้าเป็นหลังเลยเป็นอันขาด ถ้าใครอยากเรียกอย่างนั้นอยู่ก็ให้ผูกคอตาย เชือดคอตาย ฤๅกินยาตายไปเสียให้พ้นเมืองมนุษย์เถิด ไปเรียกอยู่ในเมืองผีให้สบาย

"วัดพนัญเชิงอีกคำหนึ่งว่า วัดพระเจ้าพนัญเชิง ให้คงเรียกอยู่ตามเดิม อย่าอุตริเล่นลิ้นเรียกว่า ผนังเชิง เพราะเขาเรียกอย่างนั้นทั้งบ้านทั้งเมืองแต่ไหน ๆ มา มาแปลงว่า ผนังเชิงก็ไม่เห็นเพราะเจาะเปนยศเปนเกียรติอะไร สำแดงแต่โง่ของผู้แปลง ไม่รู้ภาษาเดิมว่าเขาตั้งว่าพนัญเชิงด้วยเหตุไร ประการหนึ่งวัดนั้นก็เป็นวัดราษฎร์ ไทยจีนเป็นอันมากเขานับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ก็ผู้เจ้าของวัดเดิมที่ตั้งชื่อไว้นั้นจะเป็นผีสางเทวดาสิงสู่อยู่อย่างไร มาแปลงเรียกขึ้นใหม่ ๆ ดูเหมือนผู้แปลงก็จะไม่สู้สบาย ไม่พอที่จะย้ายก็อย่ายกไปเลย ให้คงไว้ตามเดิมเถิด"

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ นี้ ทรงสนพระราชหฤทัยในทุกเรื่อง แม้แต่คำศัพท์ต่าง ๆ รวมทั้งชื่อด้วย พวกเราซึ่งก็เป็นคนไทยเช่นเดียวกัน ควรจะมีความสนอกสนใจในภาษาไทยให้มาก เพื่อเราจะได้ใช้ภาษาได้ถูกต้องทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนต่อไป.



จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕
Back