Back

วัดพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ข้าพเจ้าได้เดินทางจากเชียงใหม่กลับกรุงเทพมหานคร หลังจากไปร่วมประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้แวะไปนมัสการพระพุทธบาท ที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูน มีผู้ถามข้าพเจ้าว่าทำไมวัดนี้จึงชื่อว่า "วัดพระพุทธบาทตากผ้า" มีอะไรที่เกี่ยวกับคำว่า "ตากผ้า" บ้าง ข้าพเจ้าจึงขอนำเรื่องความเป็นมาของชื่อวัดนี้ ตามที่กรมการศาสนาได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือ "ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๑" มาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"วัดพระพุทธบาทตากผ้า เป็นวัดที่สร้างมานานและถือว่าเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง เพราะมีรอยพระพุทธบาทและรอยตากผ้า เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ตามตำนานกล่าวว่า ในอดีต สมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ได้เสด็จมาสู่สุวรรณภูมิโดยพุทธนิมิต ครั้งหนึ่งพระองค์ได้เสด็จมาบริเวณวัดพระพุทธบาทตากผ้า แล้วได้ทรงอธิษฐานประทับรอยพระบาทไว้บนพื้นศิลาใหญ่ และได้ทรงรับสั่งให้พระอานนทเถระนำจีวรไปตากไว้บนผาลาดใกล้ ๆ ที่ประทับ บริเวณที่ตากจีวรนั้นปรากฏเป็นรอยตารางคล้ายตาจีวร วัดนี้จึงได้ชื่อว่า "วัดพระพุทธบาทตากผ้า"

กาลผ่านมาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓ พระเจ้าศรีธรรมาโศกมหาราช ผู้ครองเมืองชมพูทวีปโปรดให้มีการทำสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ ครั้งนั้นก็ส่งพระโสณเถระและพระอุตตรเถระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังสุวรรณภูมินี้ เมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่เข้ามายังสุวรรณภูมิและลานนาไทย พระพุทธบาทแห่งนี้ก็ได้รับการบำรุงรักษา จนสถานที่นี้ได้แปรสภาพเป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่ง

ถึงปี พ.ศ. ๑๒๐๐ พระนางจามเทวี ราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้ (ลพบุรี) ได้เสด็จมาขึ้นครองนครหริภุญชัย พระนางได้สร้างอุโมงค์ครอบรอย พระพุทธบาทไว้ เพื่อเป็นพุทธบูชา เสร็จแล้วได้จัดให้มีการสมโภชเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่

ครั้นปี พ.ศ. ๑๘๒๔ เมืองหริภุญชัย สมัยของพระยายีบาได้เสียให้แก่พระเจ้าเม็งรายมหาราช กษัตริย์ในราชวงศ์เม็งรายได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงสืบมาจนสิ้นราชวงศ์เม็งราย บ้านเมืองเกิดศึกสงคราม ต้องรกร้างว่างเปล่า พระพุทธบาทแห่งนี้ก็มีอันต้องทรุดโทรมลง

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๗๕ พระเถระหลายรูป มีพระครูบาป๋าบารมี วัดสะปุ๋งหลวง เป็นประธาน ได้นำทายกทายิกาสร้างพระวิหารหลังใหญ่ครอบพระอุโมงค์พระพุทธบาทไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อเป็นที่พักอาศัยสำหรับสาธุชนที่ขึ้นมาสักการบูชา

ถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๒ คณะสงฆ์จังหวัดลำพูน มีพระครูพุทธวงศ์ธาดา เจ้าคณะอำเภอป่าซอง วัดฉางข้าวน้อยเหนือเป็นประธาน ฝ่ายฆราวาสมีหลวง วิโรจน์รัฐกิจ (เปรื่อง โรจนกุล) นายอำเภอป่าซอง เป็นประธาน พร้อมกับศรัทธาประชาชนได้พร้อมใจกันไปนิมนต์ครูบาศรีวิชัย นักบุญลือชื่อแห่งลานนาไทย วัดบ้านปราง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มาเป็นประธานในการก่อสร้างวิหารจตุรมุข ครอบรอยพระพุทธบาทจนสำเร็จตั้งแต่นั้นมา ก็ได้มีพระภิกษุสามเณรมาพักอาศัยและอยู่จำพรรษาเป็นครั้งคราว

เนื่องจากบริเวณที่เป็นวัดพระพุทธบาทตากผ้า มีทำเลที่เหมาะสมแก่การบำเพ็ญสมณธรรมอย่างยิ่ง ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ พระมงคลญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดลำพูน วัดพระยืน และพระครูพิศาลพุทธิธร เจ้าคณะอำเภอป่าซาง วัดป่าซางงาม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ฝ่ายฆราวาสมีนายหอม พรหมสิงห์ นายอำเภอป่าซางเป็นประธาน พร้อมด้วยศรัทธาประชาชน ได้พร้อมใจกันไปนิมนต์ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก (พระสุพรหมยานเถร) วัดป่าหนองเจดีย์ ตำบลท่าตุ้ม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มาเป็นประธานในการก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ เช่น พระอุโบสถ กำแพง ถังเก็บน้ำ โรงเรียนปริยัติธรรม ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ เป็นต้น และตั้งแต่บัดนั้นมา วัดพระพุทธบาทตากผ้าก็ได้มีพระสงฆ์อยู่ประจำมาโดยตลอด และเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองตามลำดับจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างจากกรมการศาสนา"

เมื่อหลายปีมาแล้ว ดร. สิงห์ทน คำซาว แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พาข้าพเจ้าไปนมัสการและสนทนาธรรมกับครูบาพรหมจักร อยู่หลายชั่วโมง นับว่าท่านเป็นพระเถระที่มีจริยาวัตรงามมาก และทรงคุณธรรมสูงเป็นที่น่าเคารพนับถืออย่างยิ่ง ท่านได้ถึงมรณภาพไปหลายปีแล้ว ถ้าท่านผู้ใดไปที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า นอกจากจะได้นมัสการรอยพระพุทธบาทแล้ว ยังจะได้ไปกราบเคารพ ครูบาพรหมจักร ซึ่งเขาสร้างเป็นหุ่นขี้ผึ้งประดิษฐานไว้ ณ ที่นั้นอีกด้วย.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๒ พฤษภาคม ๒๕๓๖
Back