Back

วาสนา

คำภาษาบาลีที่เรานำมาใบ้ในภาษาไทยคำหนึ่งซึ่งมีความหมายเพี้ยนไปจากเดิมอยู่บ้างและใช้ไปในทางดี นั่นคือคำว่า "วาสนา" ซึ่งพจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. บุญบารมี, กุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ." แต่คำนี้ในความหมายทางบาลีนั้นใช้ได้ทั้งทางดีและไม่ดี หนังสือ "ปทานุกรมบาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต" ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ได้ให้ความหมายของคำว่า "วาสนา" ไว้ดังนี้ "ธรรมชาติเครื่องอบรม ; ความแต่ง , ความปรุง , ความอบรม." ข้าพเจ้าจำได้ว่าเมื่อเรียนบาลี แปลหนังสืออรรถกถาพระธรรมบท ได้มีกล่าวถึงพระเถระรูปหนึ่งที่ชอบกล่าวคำที่ไม่สุภาพจนติดปาก ภิกษุกลุ่มหนึ่งได้ประสบมาด้วยตนเองจึงไปกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระองค์ได้ตรัสบอกว่าภิกษุรูปนั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่เหตุที่พูดคำไม่สุภาพจนติดปากนั้น เป็นเพราะ "วาสนา" คือสิ่งที่ได้รับการอบรมมาตั้งแต่เป็นคฤหัสถ์ยังละไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่กิเลสละได้หมดแล้วก็ตาม ตามศัพท์คำว่า "วาสนา" จึงแปลว่า "ความอบรม"

บังเอิญข้าพเจ้าไปซื้อหนังสือแจกงานศพที่หน้า ส.ทร. ได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง พิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายเฮอร์เบิร์ต ลิงค์ แห่งห้าง บี.กริมม์ แอนด์ โก เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ในหนังสือนี้มีบทพระนิพนธ์ ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อยู่หลายเรื่อง รวมทั้งเรื่อง "วาสนา" ด้วย ข้าพเจ้าเห็นว่ามีประโยชน์มาก จึงขอนำมาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"คำว่า "วาสนา ในภาษาไทยนั้นมักจะใช้ในทางดี แต่อันที่จริงนั้นเป็นคำกลาง ๆ แปลว่า อยู่ตัว ก็มีลักษณะเป็นอันเดียวกับ สันดาน และ นิสัย สิ่งที่อยู่ตัวแล้วอย่างนี้แก้ยาก แต่ว่าไม่ใช่แก้ไม่ได้ ถ้าไม่แก้แล้วเอาดีไม่ได้ ทำอย่างไร ๆ ก็เอาดีไม่ได้ จะมาบวชเรียนพรรษา ๒ พรรษา ๒๐ พรรษา ๓๐ ปี หรือตลอด ชีวิต ถ้าไม่แก้แล้วเอาดีไม่ได้ และก็จุดสำคัญของการปฏิบัติพระพุทธศาสนานั้นต้องการแก้สิ่งที่อยู่ตัวอันนี้ให้อยู่ตัวในทางที่ดี แก้ให้เป็นไปในทางดี

ในการแก้นั้น ก็ไม่ยากเย็นอะไร ก็แก้วิธีเดียวกัน การอยู่ตัวนั้นเกิดจากการทำบ่อย ๆ เหมือนม้วนกระดาษนั้น กระดาษก็ม้วนตัวอยู่ตัวไม่คลี่ออก จับให้คลี่ออก ก็ม้วนเข้าตามเดิม เพราะฉะนั้น ก็ตั้งใจทำดีบ่อย ๆ ซึ่งทีแรกก็เป็นการยาก เป็นความทุกข์ เป็นความเดือดร้อน ติดขัดโน่นติดขัดนี่ เสียโน่นเสียนี่ อะไรต่าง ๆ แต่ก็ต้องตั้งใจทำ อันนี้แหละจึงมาถึงที่ว่าต้องรู้อริยสัจ ต้องรู้ว่าความทุกข์ที่บังเกิดขึ้นนั้น ติดขัดต่าง ๆ นั้น ไม่ได้เกิดจากความดี หรือ สิ่งที่ดี แต่เกิดจากตัณหา การดิ้นรนทะยานอยากของจิต หรือเกิดจากกิเลสโลภ โกรธ หลง เป็นต้น ที่มาเป็นตัววาสนาคอยดึงใจเราอยู่ เพราะฉะนั้น ก็ต้องสำนึกตัวเองว่า เราอย่ามีตัณหาเป็นวาสนา อย่ามีโลภ โกรธ หลง เป็นวาสนา อย่ามีความชั่วเป็นวาสนา ขอให้เรามีความดีเป็นวาสนา มีธรรมะเป็นวาสนา

แต่การที่จะมีความดีมีธรรมะเป็นวาสนานั้น จะต้องหมั่นปฏิบัติความดี ให้ความดีอยู่ตัวเหมือนอย่างกระดาษที่ม้วนอยู่ นำมาจับคลี่ปอย ๆ บางทีก็ต้องบังคับ เอาอะไรทับไว้ ไม่ยอมให้กระดาษม้วนตัวกลับ เพราะถ้าคลี่กระดาษมาตามเดิมแล้วก็จะไม่ม้วนกลับ ฉันใดก็ดี แม้จะมีกิเลสเป็นวาสนา หรือมีความชั่วเป็นวาสนาอยู่ แต่เมื่อทำความดีบ่อย ๆ มีธรรมะเป็นสรณะดังกล่าวมาแล้ว อบรมสติ อบรมปัญญา ตักเตือนตนเองว่า ตนเองทำตนเองเข้า อะไรเหล่านี้เป็นต้น ทำดีบ่อย ๆ แล้วก็จะสร้างวาสนาในทางดี ความดีหรือธรรมะจะมาเป็นวาสนา และเมื่อมีความดีมีธรรมะแล้ว จะกลับไปทำความชั่วอีก ก็จะไม่ยอมทำ ใจไม่ยอมทำ เหมือนอย่างกระดาษที่ม้วนตัวอยู่แล้วกลับคลี่ใหม่ กระดาษก็ไม่ยอมคลี่ ฉันใดก็ดี

นี้เป็นลักษณะของจิตซึ่งต้องมีความรู้ในอริยสัจมาประกอบให้เป็นตัวปัญญา ให้รู้จักว่าขณะที่ทำความดีจะเดือดร้อนเสียนั่นเสียนี่ต่าง ๆ นั้น นั่นเพราะมีตัณหาเป็นสมุทัย มีกิเลสเป็นสมุทัย ให้รู้จักว่านั่นเป็นตัวทุกข์ นั่นเป็นสมุทัยคือตัณหา และการที่ปฏิบัตินั้นแหละเป็นตัวมรรค แล้วก็จะดับตัณหาได้ ก็เป็นทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ซึ่งเป็นตัวความสุขอันเป็นผลของการปฏิบัติให้รู้จักเหตุรู้จักผลควบคู่กันไปด้วย ดังนี้เป็นตัวปัญญา ต้องอาศัยตนเองปฏิบัติทั้งนั้น ให้ทำไปแล้วจะกลับตัวได้ ใครที่วาสนาชั่ว ก็จะกลับมีวาสนาดี วาสนาชั่วนั้นไม่สำคัญที่ชาติกำเนิดหรือทรัพย์สมบัติอะไรทั้งหมด แต่สำคัญที่ความดีความชั่วนี้แหละ เมื่อมีความดีเป็นวาสนา วาสนาดี เมื่อมีความชั่วเป็นวาสนา วาสนาชั่ว อันนี้เป็นสิ่งสำคัญให้มีความสำนึกอยู่ ปฏิบัติตนให้มีธรรมะเป็นสรณะ เมื่อมีธรรมะเป็นสรณะก็จะมีวาสนาดี ตนเองก็เป็นที่พึ่งของตนเองได้ อันนี้แหละเป็นจุดสำคัญที่จะต้องมีสรณะ"

บทพระนิพนธ์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในเรื่อง "วาสนา" ก็มีเพียงเท่านี้ จากบท พระนิพนธ์นี้ก็คงพอทำให้เราเข้าใจความหมายของคำว่า "วาสนา" ที่ถูกต้องเป็นอย่างดี ใครอยากเป็นใหญ่เป็นโต มีเกียรติมีชื่อเสียงก็ต้องพยายามอบรมบ่มนิสัยให้ประกอบอยู่ในบุญกุศลคุณงามความดีอยู่เสมอ เราก็สามารถที่จะเป็นใหญ่เป็นโต หรือได้ดิบได้ดีเช่นกัน ขอให้ทำความดีนั้นติดต่อกันไปนาน ๆ ก็จะทำให้เราเป็นคนมีวาสนาดีเอง.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๖
Back