Back



การศึกษาในปัจจุบัน มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ ทั้งในลักษณะติเพื่อก่อ และติเพื่อทำลาย และที่สำคัญก็คือ มีครูบาอาจารย์บางคนมิได้ทำหน้าที่ครูบาอาจารย์ที่ดีให้เป็นแบบฉบับของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เพราะบางทีก็ขาดคุณธรรมหรือจริยธรรมของครูอาจารย์ ข้าพเจ้า จึงขอนำเรื่อง "วิธีสอนหนังสือ" ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ซึ่งท่านได้เขียนไว้ตั้งแต่สมัยมีบรรดาศักดิ์เป็น "พระศรีสุนทรโวหาร" มาเสนอท่านผู้ฟัง คราวก่อนข้าพเจ้าได้เคยนำมาเสนอท่านผู้ฟังครั้งหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ แล้ว โดยพระยาศรีสุนทรโวหารได้กล่าวถึงปัญญาของเด็กซึ่งมีต่าง ๆ กัน และได้ยกข้อความในลักษณะอุปมาอุปไมยดังที่เราคงจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้วดังนี้

"จะกล่าวด้วยปัญญาของเด็กผู้เล่าเรียนนั้นเล่า ก็มีหลายอย่างแปลก ๆ กัน เด็กบางคนเล่าเรียนได้ รวดเร็วว่องไว แต่ไม่มั่นคงแน่นอน ได้เร็วลืมเร็ว เด็กบางคนมึนช้า กว่าจะจำได้เนิ่นนาน ครั้นจำได้แล้วก็ไม่ลืมมั่นคง เหมือนรอยเหล็กขีดในศิลา เด็กบางคนเป็นมัธยมทั้งสองอย่าง เล่าบ่นก็ไม่ช้านัก ก็ไม่เร็วนัก ปัญญาที่เล่าเรียนก็ไม่สู้ว่องไวเฉียบแหลมเป็นกลาง เด็กบางคนเป็นสันดานธรรมดา ปัญญาทึบ กว่าจะเล่าบ่นได้แต่ละเรื่องแสนยากลำบาก ได้หน้าลืมหลัง วันนี้ได้แล้ว พรุ่งนี้ลืมเล่า ถึงครูจะควบคุมเคี่ยวเข็ญอย่างไร ก็ตกอยู่ในธรรมดาตัวอย่างนั้นเอง ถึงสามเดือน นะโม ก ข ไม่ตลอดได้ เพราะต้องกลับหน้ากลับหลังทบทวนอยู่ร่ำไปไม่รู้จบ จนครูระอาท้อถอยทอดอาลัยไปเอง เหมือนเรื่องนิยายเล่ากันมาว่า ท่านครูผู้หนึ่งเป็นทิศาปาโมกข์ อาจารย์ใหญ่ สอนศิษย์ให้เล่าเรียนอยู่ในสำนักกว่าร้อย ศิษย์ผู้หนึ่งปัญญาเขลา เล่าเรียนอะไรก็จำไม่ได้ ปัญญาเชาวน์ไม่ว่องแววมึนตึงนัก แต่เป็นคนหมั่นในการปฏิบัติครู ท่านอาจารย์มีความเอ็นดู อยากจะให้เด็กผู้นั้นเกิดความฉลาด จะได้เจริญในการเล่าเรียน อาจารย์หมั่นพูดจาแนะนำอยู่เนือง ๆ วันหนึ่งเด็กนั้นไปป่ากับเพื่อนศิษย์ด้วยกันหลายคน ครั้นกลับมาครูจึงถามเด็กนั้นว่า วันนี้เจ้าไปป่าได้เห็นอะไรบ้าง เด็กนั้นบอกว่า ข้าพเจ้าได้เห็นงูเหลือมตัวหนึ่ง ครูถามว่า งูเหลือมนั้นรูปพรรณสัณฐานมันเหมือนกับอะไร ศิษย์นั้นตอบว่า งูเหลือมเหมือนหงอนไก่ ครูได้ฟังก็ดีใจว่าเด็กคนนี้ค่อยมีปัญญาฉลาดขึ้นแล้ว รู้จักสังเกต รูปร่างงูเหลือมกลม ๆ เรียวเหมือนหงอนไก่ แต่มีเชาวน์แล่นไปได้อย่างนี้ก็ดีแล้ว ครูก็ยกยอสรรเสริญศิษย์นั้นต่าง ๆ ศิษย์นั้นได้หน้าตาเพราะครูสรรเสริญก็ดีใจ จึงกำหนดจิตจำไว้ว่า เราตอบแก่ครูว่าเหมือนหงอนไก่ ครูชอบ ครูชมสรรเสริญ วันหนึ่งเด็กนั้นไปป่ากับเพื่อนศิษย์กันอีก ครั้นกลับมาครูถามว่า เจ้าไปป่าวันนั้นพบอะไรบ้าง เด็กนั้นตอบว่า ข้าพเจ้าไปวันนี้ได้เห็นช้าง ที่กลางป่าช้างหนึ่ง ครูถามว่า ช้างนั้นมันเหมือนอะไร เด็กตอบว่า เหมือนกับหงอนไก่ ครูจึงนึกว่า ชะรอยเด็กนี้มันจะดูสังเกตเอาที่งวงช้างกลมเรียวคล้ายกับหงอนไก่ แต่สังเกตได้อย่างนี้ก็ดีอยู่แล้ว ครูก็นิ่งอยู่ วันหนึ่งชาวบ้านเขาเชิญอาจารย์ไปเลี้ยงข้าวปายาส เด็กนั้นก็ไปกับครูด้วย ครั้นกลับมาครูถามว่า วันนี้เจ้าไปกับข้า ชาวบ้านนั้นเขาเลี้ยงอะไรเจ้าบ้าง เด็กตอบว่า วันนี้เขาเลี้ยงข้าวปายาส ข้าพเจ้าได้กินข้าวปายาส ครูถามว่า ข้าวปายาสนั้นมันเหมือนอะไร ศิษย์ตอบว่า ข้าวปายาสเหมือนกับหงอนไก่ ครูได้ฟังก็สังเวชสลดใจ คิดว่าเด็กนี้เราสำคัญว่ามีความฉลาดขึ้นบ้าง มิรู้ก็ตกอยู่ในธาตุธรรมดาของเขานั่นเอง เห็นจะกำหนดใจว่า ซึ่งตอบแก่เราว่าเหมือนหงอนไก่ คำนี้เราชมเราสรรเสริญ ก็เอามาใช้ตอบเราร่ำไป แต่วิจารณปัญญาซึ่งจะรู้ว่าหงอนไก่มันอย่างไรนั้น เห็นจะไม่มีแก่เด็กนี้เลย ครูก็ทอดอาลัยในการที่จะสอนเด็กนั้นต่อไป เรื่องนี้เป็นนิยายบูราณ แม้นถึงในกาลทุกวันนี้ เด็กที่มีปัญญาทึบมึนตึงเช่นนั้นก็มีแน่"

นี้เป็นเรื่องเปรียบเทียบให้เห็นว่าคนทุกคนนั้นมีสติปัญญาต่างกัน จะไปเคี่ยวเข็ญให้มีปัญญาทัดเทียมกันนั้นไม่ได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว ก็มิใช่คนส่วนใหญ่จะโง่เขลาปัญญาทึบอย่างเด็กในนิยายนั้นเสมอไป ส่วนใหญ่ก็พอที่จะอบรมสั่งสอนได้ ครูอาจารย์จึงไม่ควรท้อถอย แต่ถ้าไปพบเด็กที่โง่เขลาอย่างยิ่งอย่างเด็กใน นิยายนั้น ก็ต้องปลงไว้บ้าง การที่ครูบาอาจารย์ตั้งกุศลจิตที่จะอบรมสั่งสอนศิษย์ให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและมีคุณธรรมจริยธรรมนั้นก็นับว่าเป็นครูบาอาจารย์ที่ดีแล้ว แต่เมื่อพบว่าเด็กคนใดฟังครูอาจารย์สอนไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจก็อย่าเพิ่งสรุปเอาว่าลูกศิษย์โง่ ควรจะยักย้ายถ่ายเทหาวิธีการอื่นแนะนำสั่งสอนต่อไป อันอาจเป็นเหตุทำให้เด็กเกิดความสนใจและเข้าใจขึ้นมาบ้างก็ได้ เพราะในตัวเด็กทุกคนมี "ศักยภาพ" ของความเป็นบัณฑิตอยู่ด้วยกันทุกคน เพียงแต่จะมีมากหรือน้อยเท่านั้น ครูอาจารย์จึงไม่ควรท้อถอยหรือหมดกำลังใจเสียก่อน ต่อเมื่อใช้วิธีใด ๆ แล้ว เด็กก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องปลงใจ นึกเสียว่า แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็มิใช่จะทรงเทศนาสั่งสอนให้คนทุกคนเข้าถึงสัจธรรมได้เสมอไป อย่างนี้ครูอาจารย์ก็จะได้สบายใจขึ้น.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔
Back