Back
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชหลักที่ ๑


นับว่าเป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับการอ่านศิลาจารึก โดยเฉพาะศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งเป็นหลักที่ ๑ และเป็นหลักที่ได้มีการอภิปรายกันมาก เพราะบางท่านบอกว่าไม่ใช่ศิลาจารึกของพ่อขุนราม คำแหงดอก หากเป็นศิลาจารึกที่เพิ่งทำขึ้นเมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง ดังที่เป็นข่าวเกรียวกราวกันมาก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นต้นมา

วรรณคดีของไทยเราในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยาตอนต้น ล้วนเป็นหนังสือที่อ่านเข้าใจยากทั้งสิ้น เพราะมีศัพท์ไทยโบราณบ้าง ศัพท์ที่เพี้ยนมาจากภาษาบาลีสันสกฤตบ้าง ราชบัณฑิตยสถานมีวัตถุประสงค์ที่จะทำพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีเหล่านี้ออกมา โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ แล้ว งานชุดแรกที่คณะกรรมการทำพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย จัดทำก็คือ "พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทยสมัยสุโขทัย ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักที่ ๑" และบัดนี้ได้จัดตีพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว งานชุดที่ ๒ ที่ได้ชำระไปแล้ว และกำลังจัดทำต้นฉบับเพื่อตีพิมพ์ต่อไป ก็คือ "ไตรภูมิพระร่วง" หรือ "เตภูมิกถา" งานชุดที่ ๓ กำลังจัดทำอยู่ซึ่งจวนจะเสร็จแล้วเช่นกัน คือ "โองการแช่งน้ำ" แต่ละเล่มรู้สึกว่ามีปัญหาที่ต้องอภิปรายกันมาก ข้าพเจ้าเองในฐานะที่เป็นกรรมการคนหนึ่งก็ได้รับความรู้เพิ่มเติมอีกมากมาย ข้าพเจ้าจะขอยกตัวอย่างคำบางคำมาเสนอท่านผู้ฟัง เช่น คำว่า "เข้า" คณะกรรมการได้แยกเก็บเป็น "เข้า ๑" ถึง "เข้า ๕" ดังนี้

"เข้า ๑ น. ข้าว เช่นในน้ำมีปลา ในนามีเข้า (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๙) เยียเข้า (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๓)."

"เข้า ๒ น. ข้าวของ เช่น เห็นเข้าท่านบ่ใคร่พึน (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๗)."

"เข้า ๓ น. ปี, ขวบ, เช่น เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๔) ปลูกไม้ตาลนี้ได้สิบสี่เข้า (ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๑๒) ให้ขุดเอาพระธาตุออก ทั้งหลายเห็นการทำบูชาบำเรอแก่พระธาตุได้เดือนหกวัน จึงเอาฝังลงในกลางเมืองศรีสัชนาลัย ก่อพระเจดีย์เหนือ หกเข้าจึ่งแล้ว ตั้งเวียงผาล้อมพระมหาธาตุ สามเข้าจึ่งแล้ว (ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๔ - ๘)."

คำว่า "เข้า" ทั้ง ๓ ความหมายที่ใช้ ข ไข่ และสระเอาไม้โท เหมือน กันหมด แต่เครื่องหมายวรรณยุกต์โท ในสมัยนั้นเขียนเป็นรูปวรรณยุกต์จัตวา

"เข้า ๔ ก., ว. เข้า เช่น ขุนสามชนเกลื่อนเข้า (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๖) กูขับเข้าก่อนพ่อกู (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๗) เมื่อจักเข้ามาเวียง (ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๗) เข้ามาดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ (ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๒)"

"เข้า ๕ ก. เข้าข้าง, เป็นฝักฝ่าย, เช่น บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน (ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๖)."

คำว่า "เข้า" ในความหมายที่ ๔ และที่ ๕ ซึ่งเป็นคำกริยานั้น ในศิลาจารึกใช้ ฃ (ขวด) คือ ฃ หัวหยัก และใช้สระเอา วรรณยุกต์โทเช่นกัน

คำว่า "ตรีบูร" ซึ่งเป็นคำที่มีปัญหาคำหนึ่ง พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

"ตรีบูร น. ป้อมปราการ ๓ ชั้น, ป้อมและกำแพง ๓ ชั้น, เช่น รอบเมืองสุโขทัยนี้ ตรีบูรได้สามพันสี่ร้อยวา (ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๗ - ๘)."

คำว่า "ตลาดปสาน" พจนานุกรมศพท์วรรณคดีฯ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

"ตลาดปสาน น. ตลาดที่ตั้งขายของเป็นประจำ เช่น เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้มีตลาดปสาน (ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๑ - ๒) เทียบภาษาเปอร์เซีย บาซาร์ (bazzaar) มลายู ปาซาร์ (pasar) และ เขมร ผสาร แปลว่า ตลาด; บาลี ปสาร แปลว่า เหยียดออก, แผ่ออก, ตลาดปสาน อาจหมายถึงลักษณะของตลาดที่เป็นโรงเรือนต่อเนื่องกันเป็นแถวเป็นแนว"

คำว่า "ตีนนอน" และ "หัวนอน" พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีฯ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

"ตีนนอน" น. ทิศเหนือ เช่น เบื้องตีนนอน เมืองสุโขทัยนี้มีตลาดปสาน (ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๑)."

"หัวนอน น. ทิศใต้ เช่น เบื้องหัวนอน เมืองสุโขทัยนี้มีกูฎีพิหารปู่ครูอยู่ (ดานที่ ๓ บรรทัดที่ ๔)."

นอกจากนั้นยังมี "ภาคผนวก" อธิบายคำวิสามานยนามบางคำ เช่น กาว, ของ, โขง ฯลฯ ด้วย นับว่าเป็นประโยชน์แก่วงการศึกษาวรรณคดีไทยเป็นอย่างยิ่ง เวลานี้ราชบัณฑิตยสถาน ได้วางจำหน่ายแล้วในราคาเล่มละ ๒๕ บาท เท่านั้นเอง.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๗ ธันวาคม๒๕๓๖
Back