Back
สมบัติทิพย์ คือ ภาษาไทย


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๔ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาเรื่อง "ภาษาไทยคันฉ่องฉายคุณค่าของอาจารย์" ขึ้นที่ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเชิญเป็นวิทยากร สนทนากับศาสตราจารย์ คุณหญิงเต็มสิริ บุณยสิงห์ เรื่อง "สมบัติทิพย์คือภาษาไทย" ในภาคบ่ายของวันนั้น ข้าพเจ้าขอนำบทความเรื่อง "สมบัติทิพย์คือภาษาไทย" มาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

ภาษาไทยนับว่าเป็นภาษาที่มี "อัจฉริยลักษณ์" ของตนเองอย่างยากที่จะหาภาษาอื่นใดในโลกเสมอเหมือน ทั้งนี้เพราะในภาษาไทยนั้นประกอบด้วยภาษาต่าง ๆ อยู่มากมาย โดยเฉพาะภาษาบาลี สันสกฤต เขมร มอญ อาหรับ จีน และฝรั่ง แต่ภาษาเหล่านั้น เมื่อคนไทยนำมาใช้ ก็จะดัดแปลงหรือโอนชาติให้เป็นไทยทั้งในด้านรูปและเสียงแทบทั้งหมด เช่นเดียวกับชนเชื้อชาติต่าง ๆ ที่ถือกำเนิดในผืนแผ่นดินไทยก็มักจะกลายเป็นคนไทยไปแทบทั้งหมดนั่นเอง

ถ้าเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ จะพบว่าคำไทยที่เก็บไว้ในพจนานุกรมแทบทุกหน้าจะเป็นคำไทยที่มีรากฐานมาจากภาษาต่างประเทศแทบทั้งสิ้น แทบจะไม่มีหน้าใดเลยที่ไม่มีคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ นอกจากคำบางคำที่คนไทยได้บัญญัติขึ้น เช่น ฃ ฅ ซ ฯลฯ เท่านั้น แม้กระนั้นเราก็ยังสามารถนำคำไทยแท้ ๆ ของเราไปใช้กับคำที่เรายืมมาจากภาษาต่างประเทศได้ เช่น คำว่า เซนติเมตร เซนติเกรด แซ็กคาริน ฮอร์โมน ไฮโดรเจน ฯลฯ

คำบาลีสันสกฤตที่เรานำมาใช้ในภาษาไทย เราก็มักเปลี่ยนแปลงปรับปรุงรูปบ้างเสียงบ้าง หรือทั้งรูปทั้งเสียงบ้างให้เป็นไทยเสมอ เช่นคำว่า "ปาป" (ปา - ปะ) ในภาษาบาลีเราก็นำมาใช้เขียนเป็น "บาป" (บาบ) คำว่า "ปุญญ" (ปุน - ยะ) ในภาษาบาลี เราก็นำมาใช้เขียนเป็น "บุญ" (บุน) คำว่า "วย" (วะ - ยะ) ในภาษาบาลีเราก็นำมาใช้เขียนเป็น "วัย" (ไว) หรือบางทีเราเขียนตามแบบบาลีแต่ออกเสียงเป็นแบบไทยก็มีเช่นคำว่า "สิริ" (ส - ริ) ในภาษาบาลี เราก็เขียนว่า "สิริ" แต่ออกเสียงเป็น "สิ - หฺริ" คำว่า "หิริ" (หิ - ริ) เราก็ออกเสียงเป็น "หิ - หฺริ" คำว่า "อุตริ" (อุด - ตะ - ริ) เราก็ออกเสียงเป็น "อุด - ตะหฺริ" หรือคำบางคำทั้งในรูปคำบาลีและรูปคำสันสกฤต ต่างก็ไม่เหมาะกับลิ้นของเรา เราก็แปลงโฉมใหม่เช่นคำว่า "ถูป" (ถู - ปะ) ในภาษาบาลี ถ้าเราจะนำมาใช้และออกเสียงว่า "ถูบ" ก็ไม่เพราะ ถ้านำคำสันสกฤตว่า "สตูป" (สะ - ตู - ปะ) มาใช้ ออกเสียงว่า "สะ - ตูบ" ก็ไม่เพราะ เราจึงเอาคำว่า "ถูป" กับ "สตูป" มาผสมกันเป็น "สถูป" (สะ - ถูป) ก็เพราะดี หรือคำบาลีว่า "ปกติ" (ปะ - กะ - ติ) ไม่ว่าเราจะออกเสียงว่า "ปะ - กะ - ติ" หรือ "ปัก - กะ - ติ" ก็รู้สึกว่าไม่เพราะทั้งนั้น ถ้านำเอาสันสกฤตว่า "ประกฤติ" (ปฺระ - กฺริด) มาใช้ ก็ไม่เพราะ เราจึงดัดแปลงใหม่เป็น "ปรกติ" (ปฺรก - กะ - ติ) ซึ่งมิใช่ทั้งแบบรูปบาลีและสันสกฤต หรือคำในภาษาบาลีและสันสกฤตที่ลงท้ายด้วยเสียงสั้นก็ไม่ถูกกับอัธยาศัยของคนไทย เราก็มักทำให้เสียงพยางค์ท้ายเป็นเสียงยาว เช่นคำว่า "วิธิ" ในภาษาบาลี เราก็ใช้เป็น "วิธี" หรือบางทีคำในภาษาบาลีพยางค์หน้าเสียงยาว พยางค์หลังเสียงสั้น เราก็สลับที่กัน ให้พยางค์หน้าเสียงสั้น พยางค์หลังเสียงยาวก็มี เช่น "วีถิ" ซึ่งแปลว่า "ถนน" เราก็เขียนเป็น "วิถี"

คำบางคำที่เราเอามาจากภาษาเขมร บางทีเราก็เขียนอย่างเขมรแต่ออกเสียงอย่างไทย บางทีก็เขียนสับกัน บางทีก็เปลี่ยนตัวสะกดให้เป็นแบบไทย เช่นคำว่า "ทูล" เขมรออกเสียงเป็น "ตูล" เราก็เขียนอย่างเขมร แต่ออกเสียงเป็นไทยว่า "ทูน" เช่น ทูลเกล้าทูลกระหม่อม บางทีเราก็เปลี่ยนตัวสะกดเป็นแบบไทยเป็น "ทูน" แต่ใช้ต่างกับ "ทูล" ในรูปเดิม คือ "ทูล" เราใช้เป็นราชาศัพท์ แต่ "ทูน" เราใช้เป็นคำสามัญ เช่น ทูนหัว คำว่า "มนทิน" นั้นเขมรเขียนเป็น "มนทิล" ที่ "มน" ใช้ น สะกด และที่ "ทิล" ใช้ ล สะกด ผิดกับของไทยเรา คำเขมรว่า "เดิร" ใช้ ร สะกด เราเขียนเป็น "เดิน" ใช้ น สะกด ว่า "ถนล" ของเขมร เขาใช้ ล สะกด เรานำมาใช้ในภาษาไทยเป็น "ถนน" ใช้ น สะกด หรือคำว่า "โปรส" ในภาษาเขมร ใช้ ส สะกด เราเขียนเป็น "โปรด" ใช้ ด สะกด

คำภาษาบาลีและสันสกฤตที่เรามาเข้าสมาสโดยการบัญญัติศัพท์ขึ้นเองก็ดี หรือเป็นคำสมาสที่มีมาแต่เดิมในภาษาของเราก็ดี เราก็ออกเสียงตามแบบของเรา คือไม่ถือว่าจะต้องออกเสียงตามภาษาเดิมอย่างเคร่งครัด ในเมื่อเสียงนั้นขัดกับหูและลิ้นของเรา เช่นคำว่า "ปรม" (ปะ - ระ - มะ) ในภาษาบาลี เรานำมาใช้เขียนเป็น "บรม" และออกเสียงว่า "บอ - รม" ถ้าใช้เป็นส่วนหน้าของสมาสก็จะออกเสียงว่า "บอ - รม - มะ" เช่น บรมราชโองการ บรมราชินีนาถ บรมโอรสาธิราช ฯลฯ

คำที่มาจากภาษาสันสกฤต ที่มี ฤ ตาม เช่น ทฤษฎี พฤษภาคม ฯลฯ ตามปรกติเราจะออกเสียง ฤ กล้ำกับพยัญชนะตัวหน้า เช่น ทฤษฎี (ทฺริด - สะ - ดี) พฤษภาคม (พฺรึด - สะ - พา - คม) แต่บางคำเราออกเสียงกล้ำไม่ได้ เพราะไม่เหมาะกับลิ้นของเรา เราก็ออกเสียงแยกได้ เช่น "คฤหัสถ์" ซึ่งที่ถูกควรออกเสียงว่า "คฺรึ - หัด" หรือ "คฤหาสน์" ซึ่งควรออกเสียงว่า "คฺรึ - หาด" เราก็ออกเสียงเป็น "คะ - รึ - หัด" "คะ - รึ - หาด" หรือตัว ฤ ซึ่งตามหลังตัว ห หรือ น เราก็มักออกเสียงกล้ำไม่ได้ ก็ต้องออกเสียงแยกแบบไทย ๆ เช่น หฤทัย (หะ - รึ - ไท) นฤบาล (นะ - รึ - บาน)

ภาษาไทยจึงนับว่าเป็น "สมบัติทิพย์" อย่างหนึ่งที่กินไม่รู้จักเบื่อ ถ้าหากผู้ใดมีความสนใจและพยายามศึกษาในแง่มุมต่าง ๆ แล้ว จะทำให้เกิดสนุกในภาษาไทยเป็นอย่างมากทีเดียว เพราะภาษาไทยมีแง่มุมต่าง ๆ ให้เราศึกษาและวิเคราะห์อยู่มาก.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๓๐กันยายน๒๕๓๔
Back