Back
สมุดข่อย - สมุดไทย


คำที่คนโบราณใช้หรือพบเป็นประจำในการศึกษาเล่าเรียน แต่คนปัจจุบันไม่ค่อยทราบกันแล้ว ยิ่งเด็กรุ่นใหม่ ๆ อาจไม่เคยได้ยินเลยก็ได้ นั่นคือคำว่า "สมุดข่อย" และ "สมุดไทย" ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามของคำว่า "สมุดไทย" ไว้ดังนี้ "น. สมุดที่ทำด้วยกระดาษข่อยพับเป็นชั้น ๆ, สมุดดำ ก็เรียก"

เรื่อง "สมุดข่อย" หรือ "สมุดไทย" นี้ รองศาสตราจารย์พชรวรรณ จันทรางศุ ได้เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ "ชุด ความคิดและภูมิปัญญาไทย เล่มที่ ๑ : การศึกษา" ที่ "โครงการวิจัยเฉลิมฉลองสมเด็จพระเทพรัตนราช--สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓๖ พรรษา ของสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งหนังสือชุดนี้ ข้าพเจ้าได้รับเชิญเป็น "ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจผลงานวิจัย" ตลอดทั้งเล่ม ซึ่งเมื่อพิมพ์แล้วมีความหนาถึง ๔๖๙ หน้า มีเรื่องที่น่าสนใจรวม ๓๗ เรื่อง ราคา เพียง ๑๒๕ บาทเท่านั้น ข้าพเจ้าขออนุญาตคัดข้อความเพียงบางตอนมาเสนอ เพื่อท่านผู้ฟังจะได้เข้าใจเรื่อง "สมุดข่อยหรือสมุดไทย" ดีขึ้นดังนี้

รองศาสตราจารย์พชรวรรณ จันทรางศุ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

"สมุดข่อย หรือ สมุดไทย คือ เครื่องเขียนหนังสือของไทยมาแต่โบราณกาล เล่มสมุดทำด้วยกระดาษข่อยแผ่นยาวแผ่นเดียวพับกลับไปกลับมาเป็นชั้นให้เป็นเล่มชั้นหนึ่งเรียกว่า "เผนิก" อ่านว่า ผะ - เหนิก หนึ่ง สมุดเล่มหนึ่งโดยมากมีราว ๒๐ - ๔๐ เผนิก ปกสมุดด้านหน้าด้านหนังหุ้มด้วยหนังหรือผ้า และตกแต่งสวยงาม ขนาดของเล่มสมุด หอสมุดแห่งชาติได้กำหนดตามอัตรากว้างยาวไว้ ๓ ชนิดได้แก่

ขนาด ก (ใหญ่) มีอัตรากว้าง ๒๑ - ๓๐ เซนติเมตร ยาว ๗๑ เซนติเมตรขึ้นไป
ขนาด ข (กลาง) กว้าง ๑๑ - ๒๐ เซนติเมตร ยาว ๓๔ - ๗๐ เซนติเมตร
ขนาด ค (เล็ก) กว้าง ๖ - ๑๑ เซนติเมตร ยาว ๒๐ - ๓๔ เซนติเมตร
ขนาดที่นิยมใช้กันได้แก่ ขนาด ข

ลักษณะของสมุดจำแนกตามคุณภาพของกระดาษได้ ๓ อย่าง คือ
อย่างดี กระดาษหนา ขัดเกลี้ยง เรียกว่า สมุดขาว
อย่างกลาง ขัดไม่สู้เกลี้ยงและไม่สู้หนา เรียกว่า สมุดรองทรง
อย่างเลว เล็ก บาง และ หยาบ เรียกว่า สมุดร่าง

โดยทั่ว ๆ ไป สมุดไทยแบ่งเป็น ๒ ชนิด
สมุดไทยสีขาว เขียนตัวอักษรด้วยดินสอดำหรือหมึกดำ ลงบนพื้นกระดาษสีขาว
สมุดไทยสีดำ เขียนตัวอักษรลงบนแผ่นสมุดสีดำด้วยรง (ยางไม้สีเหลือง) น้ำฝุ่นดินสอขาวและรงทอง (เขียนด้วยรงแล้วใช้ทองคำเปลวปิดท้าย)"

นอกจากนั้นรองศาสตราจารย์พชรวรรณ จันทรางศุ ได้เขียนถึง "ประวัติ ความเป็นมาของคำ และวิวัฒนาการ" ไว้ดังนี้

"สมุดไทยหรือเดิมเรียกว่า สมุดข่อย เพราะทำจากต้นข่อย และในภาคใต้เรียกว่า "บุด" เหตุที่มาเรียกสมุดไทยนั้น เพราะประสงค์จะให้แตกต่างกับสมุดที่มาจากต่างประเทศ คนไทยได้ใช้สมุดไทย ในการบันทึกเหตุการณ์ เรื่องราวและคำสอนต่าง ๆ มานานแล้ว ตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยการเขียนตัวหนังสือลงบนกระดาษข่อยทำเป็นสมุดไทย จนกระทั่งมีการพิมพ์ตัวหนังสือด้วยเครื่องพิมพ์ การใช้สมุดไทยจึงลดน้อยลงและเลิกใช้ไปแล้วในปัจจุบัน

"สมุดข่อยทำจากเปลือกข่อยที่ไม่แก่จัด ลอกเปลือกแช่น้ำไว้ ๓ - ๔ วัน เพื่อหมักให้เปื่อย บีบน้ำออกให้หมด และฉีกให้เป็นฝอย นำไปใส่ไว้ในกระบอก ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ (เรียกว่า รวม) แล้วนำลงนึ่งในกระทะ กลับเปลือกข่อยให้สุกทั่วกันประมาณ ๔๘ ชั่วโมง นำไปแช่ในน้ำปูนขาว ๒๔ ชั่วโมง ล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้งเอาค้อนทุบเปลือกข่อยจนแตกละเอียด ปั้นเป็นก้อนกลม นำก้อนข่อย ไปละลายน้ำในครุไม้ไผ่ ใช้มือตีให้เปลือกข่อยผสมกับน้ำจนได้ที่ แล้วจึงเทลงในแบบพิมพ์ที่มีลักษณะเป็นตะแกรงกรอบไม้รูปสี่เหลี่ยม กรุด้วยผ้าหรือลวดมุ้ง ขึงให้ตึงกับขอบไม้ แบบพิมพ์นี้เรียกว่า พะแนง ยกพะแนงวางลงในน้ำนิ่ง เทข่อยที่ละลายแล้วลงในพะแนง เขี่ยให้เยื่อข่อยกระจายทั่วพะแนง ยกพะแนงขึ้นจากน้ำ วางพิงไว้เฉียง ๆ ใช้ไม้ยาว ๆ รีดให้น้ำตกและหน้าข่อยเรียบเสมอกัน ตากแดดให้แห้งสนิท แล้วจึงลอกอกจากพะแนง จะได้แผ่นกระดาษไปทำเป็นเล่มสมุด

"วัตถุที่ใช้เขียนสมุดข่อยนี้มีหลายอย่าง เช่น ดินสอขาวและน้ำหมึกซึ่งมีทั้งสีดำที่ทำจากเขม่าไฟ หรือหมึกจีนสีต่าง ๆ

"สมุดไทยขาวใช้สีดำเขียนโดยการนำลูกยอป่ามาตำแช่ไว้ ก็จะได้หมึกสีดำหรือสีน้ำตาลแก่ หรือบางทีเอาสีดำจากตัวปลาหมึกก็ได้ วัสดุที่ใช้เขียนนั้นมีหลายชนิด เช่น เหล็กปลายแหลม ไม้ไผ่เหลาให้เหมือนปากไก่ เป็นต้น ส่วนสมุดไทยดำนั้น เขียนได้หลายวิธี คือ ใช้ดินสอพองหรือฝุ่นหินเขียน จะเป็นสีขาวปรากฏบนสมุดไทยดำ อีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้ยางไม้ที่เรียกว่า "ยางรง" มีสีเหลืองเป็นหมึกเขียนจะได้สีเหลืองบนแผ่นสมุดสีดำ เรียกว่า "รงเหลือง" และอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า "รงทอง" ใช้เขียนด้วยรงแล้วปิดด้วยทองคำเปลว เมื่อรงแห้งใช้มือลูบทอง ทองที่ถูกรงก็จะติดอยู่ ส่วนอื่นจะหลุดไป ตัวอักษรที่ปราฏจะเป็นสีทอง"

เรื่อง "สมุดข่อย หรือ สมุดไทย" ที่รองศาสตราจารย์พชรวรรณ จันทรางศุ ได้วิจัยไว้นี้ คงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจในภูมิปัญญาไทยมากทีเดียว.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๘ มิถุนายน๒๕๓๕
Back