Back



ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือที่พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) และ นายทรง สาลิตุล เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ เรื่อง "ลายพระหัตถ์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทานพระพินิจวรรณการ เรื่องตรวจชำระหนังสือพระอภัยมณีและประชุมบทละครดึกดำบรรพ์ ในหนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมลายพระหัตถ์ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงมีไปถึงพระพินิจวรรณการในช่วง พ.ศ. ๒๔๖๗-- ๒๔๖๘ มีเรื่องที่ให้ ความรู้ในด้านภาษาไทยอยู่มากมาย เพราะเมื่อพระองค์ทรงตรวจแก้คำใดพระองค์จะทรง ชี้แจงเหตุผลประกอบดังข้าพเจ้าจะขอนำข้อความบางตอนของลายพระหัตถ์เหล่านั้นมาเสนอท่านผู้ฟังต่อไป

ในลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๖๘ มีข้อความดังนี้

"พระพินิจ

ฉันได้แก้ปรู๊ฟเรื่องพระอภัยส่งมาให้นี้แล้ว ฉันแก้แต่เฉพาะที่ตรงความไม่สนิท จะเป็นด้วยลอกคัดกันต่อ ๆ มาผิด หรือจะพลาดพลั้งมาแต่ผู้แต่งนั้นไม่ทราบ แต่ฉันเห็นควรแก้ให้ดีขึ้นได้ ก็แก้ลงตามใจนั้นอย่างหนึ่ง กับแก้ที่เรื่องพิมพ์ผิดหลงตาพระพินิจอยู่อีกอย่างหนึ่งเท่านั้น ส่วนกระบวรใช้ตัวอักษรฉันไม่ได้แก้ เพราะจะผิดแนวที่เคยใช้มาแล้วไป ฉันแก้ตรงไหนไว้ ได้หมายดินสอแดงไว้หัวบรรทัด เพื่อจะได้หาดูได้เร็ว ๆ ที่พิมพ์มาแล้ว กรมพระดำรงทรงแก้ไว้อย่างไร ฉันก็ไม่ได้เห็น ที่ทำไปนี้จะถูกทางหรือไม่ก็วิตกอยู่ ถ้าพระพินิจนำขึ้นถวายทอดพระเนตรเป็นตัวอย่างเสียทีจะดี ถ้าโปรดอย่างที่แก้คราวนี้แล้ว ต่อไปก็ทำได้โดยง่าย

ต่อไปนี้ ขออธิบายตรงที่ฉันแก้ ซึ่งกลัวอยู่ว่าพระพินิจจะสงสัย มีสองแห่ง คือ หน้า ๓๔๑ บรรทัด ๑๘ วายุภักษ ผู้แต่งคงหลงเรียก วายุพัดษ วางรับสัมผัสให้กับ หัสดิน เมื่อเขียนให้ถูกเป็น วายุภักษ ก็ขัดกันกับ หัสดิน ฉันหาอภิธานโมเนีย ก็เผอิญได้คำ ภัส แปลว่า กิน เหมือนกัน จึงแก้เป็น วายุภัส หน้า ๓๔๖ บรรทัด ๑๑ อายุกขะ บาลี อายุโก เท่านั้น ตัว ข เกิน จึงเปลี่ยนเอา "เป็น" เข้าแทน "ขะ" เป็น "อายุกเป็นทุกขัง" เห็นว่าเรียบร้อย ไม่เสียสัมผัสตามเจตนาผู้แต่งเดิม ความก็ไม่เสีย
ต่อไปนี้จะขอทักแห่งที่ใช้อักษรผิด แต่ไม่ได้คิดจะให้แก้มิได้ เป็นแต่ขอให้รู้สึกเท่านั้น

หน้า ๓๓๗ บรรทัด ๓ ศีร์ษะ เขียน สีสะ ได้หรือไม่ พูดว่า สีสะ นี้เป็นเสียงมคธ ทำไมไปแยกภาษา สํสกฤตมาเขียน ซึ่งเสียงไม่ลงกัน จนต้องฆ่าตัว ร ตรงกลาง ลงทัณฑฆาตตามอักษรวิธีของเราได้แต่ตัวท้าย คือ การันต์

หน้า ๓๓๘ บรรทัด ๑๑ พูล เป็นคำเขมร เขาเขียน ภูล ก่อนนี้เราก็เขียน ภูล พึ่งมาแก้เป็น พูล พูน เร็ว ๆ นี้ ผู้แก้เป็นนักปราชญ์ รู้แต่คัมภีร์บาลีเล่มเดียว คำที่ไม่ต้องด้วยภาษาบาลีแล้ว เห็นว่าใช้อักขรบาลี ไม่ได้ นั่นเป็นโง่ที่สุด เขียน พูล เขมรจะอ่านว่า ปูล

หน้า ๓๓๘ บรรทัด ๒๐ ปัถพี กับหน้า ๓๔๓ บรรทัด ๑๕ ปัถพิน นี่ผิดมาแต่โบราณแล้ว บาลีเป็น ปฐวี สํสกฤตเป็น ปฤถวี

หน้า ๓๔๐ บรรทัด ๑๑ เหิน ผิด เหิร ถูก เป็นภาษาเขมร

หน้า ๓๔๕ บรรทัด ๑๒ กุฎิ์ อยากทราบว่าลงทัณฑฆาตทำไม ให้อ่านว่า กุ จะได้ผลดีขึ้นอย่างไร แลไม่เห็น"

นี่เป็นเพียงตอนหนึ่งของลายพระหัตถ์ ฉบับวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๘ เท่านั้น ข้าพเจ้าขอให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อท่านผู้ฟังบางท่านจะได้เข้าใจดียิ่งขึ้นดังนี้

คำว่า "ศีรษะ" ที่เราเขียนอยู่ทุกวันนี้ ที่ตัว ร เรามิได้ใส่ไม้ทัณฑฆาต เพราะเรายึดหลักว่า คำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตจะไม่การันต์กลางคำ คำที่ตรงกับคำบาลีว่า "สีสะ" ถ้าเราต้องการให้ออกเสียงว่า "สี - สะ" ก็น่าจะเอาคำบาลีมาใช้ เพราะถ้าเขียน "ศีรษะ" บางคนอาจอ่านว่า "สี - ระ - สะ" ก็ได้ และบางคนก็เขียนผิดเป็น "ศรีษะ" ซึ่งจะพบเห็นอยู่บ่อย ๆ คำบาลีและ สันสกฤต อื่น ๆ เช่น พรหม พราหมณ์ ปรารถนา สามารถ ฯลฯ เราก็มิได้การันต์กลางคำเป็น พรห์ม พราห์มณ์ ปราร์ถนา สามาร์ถ ในการอ่านก็ต้องสอนกัน แต่ก็น่าแปลกที่คำว่า "สาส์นสมเด็จ" ทำไมพระองค์ท่านจึงการันต์ตัว ส ที่อยู่กลางคำ ทั้ง ๆ ที่ผิดหลักดังที่ พระองค์รับสั่งไว้

คำว่า "ปัถพี" ปัถพิน" นั้นเป็นรูปผสมระหว่างบาลีกับสันสกฤต ถ้าเขียนเป็นรูปบาลี ต้องเป็น "ปฐพี" ถ้าเขียนเป็นรูปสันสกฤตก็ต้องเป็น"ปฤถวี" แต่ออกเสียงยาก ท่านจึงเขียนเป็นรูปผสม ทำนองเดียวกับคำว่า "สถูป" ถ้าเป็นรูปบาลีต้องเป็น "ถูป" ถ้าเป็นรูปสันสกฤตต้องเป็น "สตูป" แต่ไทยเราใช้เป็น "สถูป" เป็นต้น.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๙ มีนาคม ๒๕๓๔
Back