Back
สวรรค์คต - สวรรคต


คำราชาศัพท์ที่เกี่ยวกับการตายของพระมหากษัตริย์นั้น พจนานุกรมให้ใช้ว่า "สวรรคต" ซึ่งตามศัพท์แปลว่า "ไปสู่สวรรค์" ทั้งนี้ก็เพราะประกอบด้วยคำว่า "สวรรค์" (สะ - หฺวัน) ซึ่งเป็นรูปคำสันสกฤตมาจากคำว่า "สวรฺค" ตรงกับคำบาลีว่า "สคฺค" กับคำว่า "คต" (คะ - ตะ) ซึ่งแปลว่า "ไปแล้ว" เมื่อรวมเข้าด้วยกันก็ควรจะเป็น "สวรรคคต" (สะ - หฺวัน - คะ - คด) แต่คงเพราะ ค ซ้อนกัน ๒ ตัว ออกเสียงว่า "สะ - หฺวัน - คะ - คด" ไม่ถูกกับลิ้นของเรา ท่านจึงตัด ค ออกเสียตัวหนึ่ง จึงเหลือเป็น "สวรรคต" ทำนองเดียวกับ "นิวาส + สถาน" กลายเป็น "นิวาสถาน" หรือ "เทพ + พนม" กลายเป็น "เทพนม" เป็นต้น

หนังสือปทานุกรม ฉบับกรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้เก็บเป็น "สวรร, สวรรค์" มีวงเล็บบอกไว้ว่า "สะหฺวัน" ถ้าอยู่หน้าสมาสอ่านว่า สะหฺวันคะ ไม่การันต์ ค" และบอกว่าเป็นคำสันสกฤต ตรงกับคำมคธหรือบาลีว่า "สคฺค" (สัก - คะ) แล้วก็ให้ความหมายไว้ดังนี้ "น. โลกดี, โลกหน้า, ฟากฟ้า, โลกที่ประกอบด้วยความสุข ที่อยู่ของเทวดามีชื่อเป็นชั้น ๆ มีจาตุมมหาราชิกาเป็นต้น." และมีลูกคำอีก ๑๐ คำ คือ

๑. สวรรคต (ส.สวรฺคต) "ไปสวรรค์" ตาย (ในราชาศัพท์หมายความสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน).
๒. สวรรคคีรี น. "เขาสวรรค์" คือ เขาพระสุเมรุ.
๓. สวรรคชิต ว. ได้สวรรค์.
๔. สวรรคทวาร น. ประตูสวรรค์.
๕. สวรรคบดี น. "เจ้าเมืองสวรรค์" คือ พระอินทร์.
๖. สวรรคพธู น. นางฟ้า.
๗. สวรรคมรรค น. ทางสวรรค์, "ทางในฟ้า" คือทางช้างเผือก.
๘. สวรรคราชย์ น. ประเทศหรือแดนสวรรค์.
๙. สวรรคโลก น. เมืองสวรรค์, เมืองแมน.
๑๐. สวรรคสุข น. ความสุขในเมืองสวรรค์.

ลูกคำต่าง ๆ เหล่านี้คงแปลมาจากภาษาสันสกฤต ส่วนมากคงไม่มีใช้ในภาษาไทย ดังนั้นในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ จึงได้แก้ไขบทนิยาม ตัดลูกคำส่วนมาก มีลูกคำอยู่เพียง ๓ คำเท่านั้น ดังนี้

"สวรรค์ น. โลกของเทวดา, เมืองฟ้า. (ส.; ป. สคฺค)."
"สวรรคต ก. ไปสู่สวรรคต, ตาย (ใช้ในราชาศัพท์สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชินี). (ส. สวรคต)."
"สวรรคบดี ก. ตาย, (ใช้สำหรับเจ้านายชั้นสูง). (กลอน) ก. ตาย."

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ปรับปรุงแก้ไขบทนิยมและลูกคำ รวมทั้งสำนวนบางสำนวนที่มีคำว่า "สวรรค์" อยู่ด้วยดังนี้

"สวรรค, สวรรค์ (สะหฺวันคะ, สะหฺวัน) น. โลกของเทวดา, เมืองฟ้า. (ส. สฺวรฺค; ป.สคฺค)."
"สวรรคต (สะหฺวันคด) ก. ไปสู่สวรรค์, ตาย (ใช้ในราชาศัพท์สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และพระบรมราชวงศ์ ที่ทรงได้รับพระราชทานฉัตร ๗ ชั้น). (ส. สฺวรฺค + คต = ไปสู่สวรรค์)."
สวรรคบดี (สะหฺวันคะบอดี) น. เจ้าเมืองสวรรค์ คือ พระจันทร์. (ส. สฺวรฺคปติ)." (ที่ถูกคือพระอินทร์ คณะกรรมการชำระพจนานุกรมได้แก้ไขแล้ว)
"สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ (สำนวน) น. ความดีหรือความชั่วอยู่ที่ใจตนเอง."
สวรรคาลัย ก. ตาย (ใช้แก่เจ้านายชั้นสูง), (กลอน) ตาย."

อย่างไรก็ดี คำว่า "สวรรคต" ซึ่งแปลว่า "ไปสู่สวรรค์" หรือ "ตาย" นั้น น่าจะเขียนเป็น "สวรรคคต" (สะหฺวันคะคด) ซึ่งก็ได้เสียงที่ไม่เพราะหูคนไทย บางคนก็ตัดตัว ค ออกตัวหนึ่ง บางคนก็การันต์ ค ตัวหน้า ทั้งนี้เพื่อให้อ่านว่า "สะหฺวันคด" แต่เพราะเหตุที่คำภาษาบาลี สันสกฤตที่เรานำมาใช้ในภาษาไทย เราไม่นิยมการันต์กลางคำ จึงออกมาเป็น "สวรรคต" มี ค ตัวเดียว

ต่อมาข้าพเจ้าได้เปิดหนังสือที่เจ้าภาพแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเกื้อ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ต.จ. ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม พบ "บันทึกรายวัน" ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ตอนที่ ๑ มีบันทึกเรื่องหนึ่งชื่อว่า "เรื่องพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรค์คต" คำว่า "สวรรค์คต" (สะหฺวันคด) ท่านการันต์ตัว ค ทำให้เราได้ทราบว่าคำนี้ที่ถูกควรเป็น "สวรรคคต" แต่เพื่อให้เหมาะกับการออกเสียงของคนไทย จึงตัด ค ที่ซ้อนกัน ๒ ตัวออกเสียตัวหนึ่งจึงเป็น "สวรรคต" ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่ถ้าจะถือว่าคำว่า "สวรรคต" เกิดจากคำว่า "สฺวรฺ" ซึ่งแปลว่า "สวรรค์" เข้าสมาสกับคำว่า "คต" เป็น "สวรรคต" ก็ได้เช่นกัน.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๕สิงหาคม๒๕๓๔
Back