Back

สัมมามรรค

ข้าพเจ้าได้อ่านบทความในบัญชร "ซอยสวนพลู" ของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใน น.ส.พ.สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ซึ่งเป็นบทความวิจารณ์ปาฐกถาธรรมของท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิเมธี หรือที่คนทั่ว ๆ ไปรู้จักในนามของ ปัญญานันทะภิกขุ แห่งวัดชลประทานรังสฤษฎ์ ซึ่งเป็นปาฐกถาธรรมอบรมนักการเมืองให้มีสติในการพูดไว้บ้าง ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชได้เขียนสนับสนุนปาฐกถาธรรมไว้ตอนหนึ่งดังนี้

"ท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิเมธีได้กล่าวในการแสดงปาฐกถาธรรมเรื่องให้ระวังปากกันบ้างว่า การที่นักการเมืองให้สัมภาษณ์โดยไม่ระวัง อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง นักการเมืองไม่จำเป็นจะต้องตอบคำถามทุกคำถามของผู้สื่อข่าว บางอย่างควรพูด บางอย่างไม่ควรพูด หากพูดแล้วเกิดความเสียหายแก่รัฐบาลหรือผู้ใดก็ไม่ควรพูด

"คำตักเตือนของท่านเจ้าคุณคราวนี้ ผมคิดว่าตรงกับพระพุทธวจนะที่มีไว้เกี่ยวกับการพูด ได้แก่เรื่องไม่จริง ก็ไม่ควรพูด เมื่อพูดแล้ว ก็ควรจะพูดในทางที่ดี ถ้าหากสิ่งใด แม้เป็นเรื่องจริง แต่พูดไปแล้ว อาจเกิดความเสียหายหรือเกิดความขัดแย้งแล้ว ความจริงนั้นก็ไม่ควรจะพูด

"ทั้งนี้ผมเข้าใจว่าอยู่ในหลักสัมมาวาจา อันเป็นมรรคหนึ่งในสัมมามรรค"

ข้อความที่ข้าพเจ้าติดใจก็ตรงที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่า "สัมมาวาจา เป็นมรรคหนึ่งในสัมมามรรค"

เท่าที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาเล่าเรียนมายังไม่เคยพบคำว่า "สัมมามรรค" เคยพบแต่ "มรรค ๔" อันหมายถึง "อริยมรรค ๔" ได้แก่ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตมรรค ซึ่งคู่กับ "อริยผล ๔" ได้แก่ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตผล นอกจากนั้นก็คือ "อัษฎางคิกมรรค" หรือ "อัฏฐังคิกมัค" ซึ่งแปลว่า "มรรคมีองค์ ๘" หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" แปลว่า "ทางสายกลาง"

มรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นทางสายกลาง และเป็นทางสายเดียวเท่านั้นที่จะนำไปสู่วิมุตติ คือ ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ - ความเห็นชอบ คือ ความเห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ หรือในปฏิจจสมุปบาท (อ่านว่า ปะ - ติด - จะ - สะ - มุบ - บาด)

๒. สัมมาสังกัปปะ - ความดำริชอบ คือ ความดำริที่จะออกจากกาม ความดำริในอันที่จะไม่พยาบาท และความดำริในอันที่จะไม่เบียดเบียน

๓. สัมมาวาจา - การเจรจาชอบ คือ การเว้นจากวจีทุจริต ๔ ตั้งอยู่ในวจีสุจริต ๔ ได้แก่ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด และไม่พูดเพ้อเจ้อ

๔. สัมมากัมมันตะ - การกระทำชอบ คือ การเว้นจากกายทุจริต ๓ ตั้งอยู่ในกายสุจริต ๓ คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ และเว้นจากการประพฤติผิดในทางกามารมณ์

๕. สัมมาอาชีวะ - การเลี้ยงชีวิตชอบ คือ การเว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด เช่น ค้าคน ค้ายาเสพย์ติด

๖. สัมมาวายามะ - ความเพียรชอบ คือ ความเพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ๑ เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ เพียรสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ๑ และเพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมและให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น ๑

๗. สัมมาสติ - การระลึกชอบ คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย กำกับดูรู้เท่าทันกาย ๑ ตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา กำกับดูรู้เท่าทันเวทนา ๑ ตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต กำกับดูรู้เท่าทันจิต หรือสภาพและอาการของจิต ๑ และตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม กำกับดูรู้เท่าทันธรรม ๑

๘. สัมมาสมาธิ - การตั้งจิตมั่นชอบ คือ การเจริญสมาธิตามแนวของฌาน

เท่าที่กล่าวมานี้ ไม่มี "สัมมามรรค" นอกจาก "องค์ ๘ ของมรรค" ดังกล่าวมาแล้วก็ยังมีคำที่ขึ้นต้นด้วย "สัมมา" อีก คือ "สัมมาญาณะ" หมายถึง การรู้ชอบ ได้แก่ ผลญาณ (ผล - ละ - ยาน) คือ ญาณอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากมรรคญาณ (มัก - คะ - ยาน) เช่น โสดาปัตติผล เป็นต้น และปัจจเวกขณญาณ "สัมมาวิมุตติ" คือ ความพ้นชอบ ได้แก่ การบรรลุอรหัตผล และ "สัมมาปฏิบัติ" คือ การปฏิบัติชอบ อันได้แก่ การดำเนินตามมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง

ที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่า "สัมมาวาจา อันเป็นมรรคหนึ่งในสัมมามรรค" คงจะเป็นความพลั้งพลาด น่าจะเป็น "สัมมาวาจาอันเป็นองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ" มากกว่า.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๗ เมษายน ๒๕๓๖
Back