Back

สาหัส - สากรรจ์ - สลักสำคัญ

คำในภาษาไทยที่เราได้ยินได้ฟังอยู่บ่อย ๆ อันแสดงถึงความรุนแรงคำหนึ่ง ก็คือ คำว่า "สาหัสสากรรจ์" ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ว่า "ว. ร้ายแรงมาก." โดยเก็บเป็นลูกคำของคำว่า "สาหัส" ซึ่งพจนานุกรม บอกว่าเป็นคำบาลีและสันสกฤต และได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ว. ร้ายแรง, รุนแรงเกินสมควรยิ่งนัก."

หนังสือ "ปทานุกรม บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต" ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในคราวอายุครบ ๕ รอบ หม่อมหลวงบัว กิติยากร ในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๒ ได้ให้ความหมายของคำบาลีว่า "สาหส" ไว้ว่าเป็น "ไวพจน์ของ ทณฺโฑ ทณฺโฑ เป็นอุบายเอาชนะอริราชอย่างหนึ่ง หมายเอาการรุกรบ ; เป็นไปในอรรถคือ พลกฺการ (ทำตามกำลัง, รุนแรง)" ในภาษาสันสกฤตก็เป็น "สาหส" เช่นกัน ส่วนคำว่า "สากรรจ์" นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงมาจากคำว่า "ฉกรรจ์" นั่นเอง

ส่วนคำว่า "ฉกรรจ์" ไม่ทราบว่ามาจากภาษาอะไร เพราะในภาษาเขมรเท่าที่ข้าพเจ้าได้ตรวจดูแล้วยังไม่พบคำนี้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "ว. ห้าวหาญ เช่น ใจฉกรรจ์, แข็งแรงสมบูรณ์ เช่น วัยฉกรรจ์ ชายฉกรรจ์, รุนแรงอาจถึงอันตราย เช่น แผลฉกรรจ์." คำว่า "ฉกรรจ์" นี้ มักใช้คู่กับ "ฉกาจ" พจนานุกรมจึงได้เก็บคู่กันเป็น "ฉกาจ, ฉกาจฉกรรจ์" และได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ว. เก่งกาจ, ดุร้าย, กล้าแข็ง."

เหตุที่ทำให้คำว่า "ฉกรรจ์" กลายเป็นสากรรจ์" นั้นก็เนื่องมาจากตัว ฉ นั้น อาจแผลงเป็น ส ได้ เช่น ฉลาก - สลาก ฉลาด - สลาด ฉลัก - สลัก ฯลฯ ดังนั้น "ฉกรรจ์" จึงแผลงเป็น "สกรรจ์" ได้ แต่เมื่อเอาไปเข้าคู่กับคำว่า "สาหัส" คำว่า "สกรรจ์" จึงยึดเสียงเป็น "สากรรจ์" เพื่อให้รับกับคำว่า "สาหัส" จึงได้สำเร็จรูปเป็น "สาหัสสากรรจ์" ดังที่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ แล้ว

คำในภาษาไทยที่ข้าพเจ้าสงสัยมานานแล้วคำหนึ่งคือคำว่า "สลักสำคัญ" เช่น เราพูดว่าเรื่องนี้ไม่สลักสำคัญอะไร จะพูดเพียง "สำคัญ" คำเดียวไม่พอหรือ ทำไมจึงต้องมีคำว่า "สลัก" นำหน้าด้วย และคำว่า "สลัก" มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า "สำคัญ" หรือไม่

คำว่า "สลัก" พจนานุกรมได้แยกเก็บเป็น "สลัก ๑" และ "สลัก ๒" ดังนี้

"สลัก ๑ ก. สกัดกั้น เช่น สลักไว้ ; น. เครื่องกั้นหรือกลอนประตูหน้าต่างแบบเก่าที่ลงไว้เพื่อไม่ให้เลื่อนหรือผลักเข้าไปได้ เช่น ลงสลักประตู."

"สลัก ๒ ก. ทำให้เป็นลวดลายงาม โดยวิธีใช้สิ่วเจาะ เป็นต้น หรือใช้สิ่งอื่นขีดเขียนเป็นตัวหนังสือ." แล้วก็บอกเทียบภาษามลายูว่า selak คำนี้ตรงกับภาษาเขมรว่า "ฉลาก่" ซึ่งออกเสียงว่า "สะ - หลัก"

ส่วนคำว่า "สำคัญ" พจนานุกรม ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "ว. เป็นพิเศษกว่าธรรมดา เช่น เรื่องสำคัญ, มีคุณค่า เช่น ของสำคัญ , มีชื่อเสียง เช่น คนสำคัญ, ควรกำหนดจดจำ. ก.เข้าใจ, คะเน, สังเกต, เช่น สำคัญผิด. น. เครื่องหมาย, เครื่องจดจำ, เช่น ถือหลักเขตเป็นสำคัญ."

ข้าพเจ้ารู้สึกว่าคำว่า "สลัก" กับ "สำคัญ" มีความหมายมิได้ใกล้เคียงกันเลย แต่คำนี้คงใช้กันมานานแล้ว เพราะในหนังสือ "อักขราภิธาน-ศรับท์" ของหมอปรัดเล ก็ได้เก็บคำว่า "สลักสำคัญ" ไว้ โดยให้ความหมายไว้ดังนี้

"สลักสำคัญ, คือ การที่จดหมายเอาถ้อยคำไว้เป็นสลักสำคัญ, อย่างหนึ่ง จับของได้ที่โจร, ว่าได้ของสลักสำคัญไว้."

ส่วนหนังสือ "ปทานุกรม" ฉบับกรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้ให้ความหมายของคำว่า "สลักสำคัญ" ไว้ดังนี้ "ว. เป็นหัวใจของสิ่ง, เป็นข้อใหญ่ใจความ." เพราะฉะนั้นคำว่า "สลักสำคัญ" จึงนับว่าเป็นสำนวนไทยที่ใช้มากว่า ๑๐๐ ปีแล้ว คงจะมีความหมายอย่างที่พจนานุกรมได้ให้ไว้ว่า "สำคัญมาก, สำคัญยิ่ง" คือมีความสำคัญมากอาจถึงกับต้องสลักปักใจไว้ก็ได้

คำที่เป็น "สำนวน" นั้นบางทีก็แยกความหมายออกเป็นคำ ๆ ได้ แต่บางทีก็แยกออกไม่ได้ เพาะถ้าแยกออกเป็นคำ ๆ แล้ว อาจมีความหมายไม่ตรงกันที่คนทั่ว ๆ ไป เขาเข้าใจกัน.



จำนงค์ ทองประเสริฐ
๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๖
Back