Back

สำนวนไทย : ยุให้รำ ตำให้รั่ว

ภาษาไทยนับว่าเป็นภาษาที่มีอัจฉริยลักษณะของตนเองอยู่มากมายหลายประการที่แตกต่างกับภาษาอื่น ๆ ที่ข้าพเจ้าสนใจมากประการหนึ่งก็คือ "สำนวน" ชนิดที่เป็นคำพังเพย เพราะบางสำนวนอ่านแล้วทั้งขัดหูและขัดตา แต่บางทีก็จนใจ เพราะหาที่มายังไม่ได้ เช่นสำนวนที่ว่า "ยุให้รำตำให้รั่ว" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "(สำนวน) ก.ยุให้แตกกัน, ยุให้ผิดใจกัน." นอกจากนั้นก็ยังมีสำนวนว่า "ยุแยงตะแคงแซะ" กับ "ยุแยงตะแคงรั่ว" อีก ซึ่งพจนานุกรมได้เก็บไว้คู่กัน และให้ความหมายไว้ว่า "ก.ยุให้ทั้ง ๒ ฝ่ายแตกกัน." แต่ที่ข้าพเจ้าสงสัยก็คือ ทำไม "ยุให้รำ" จึงใช้เข้าคู่กับ "ตำให้รั่ว" เพราะข้อความมิได้ใกล้เคียงกันเลย คำว่า "รำ" ที่เป็นคำกริยา พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ก.แสดงท่าทางเคลื่อนไหวคนเดียวหรือหลายคน โดยมีลีลาและแบบท่าของการเคลื่อนไหวและมีจังหวะลีลาเข้ากับเสียงที่ทำจังหวะเพลงร้องหรือเพลงดนตรี, อาการที่แสดงท่าคล้ายคลึง เช่นนั้น, ฟ้อน." ส่วนคำว่า "รั่ว" พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ก. อาการที่อากาศหรือของเหลวเป็นต้นไหลเข้าหรือออกทางรอยแตกหรือรูที่เกิดจากความชำรุด เช่น น้ำรั่ว ฝนรั่ว. ว. มีรอยแตกหรือมีรู ซึ่งเกิดจากความชำรุดที่อากาศหรือของเหลวเป็นต้น เข้าออกได้ เช่น เรือรั่ว หลังคารั่ว; แพร่งพราย เช่น ข่าวรั่ว ข้อสอบรั่ว." ไม่มีความหมายใด ๆ ที่คำว่า "รำ" กับคำว่า "รั่ว" ใกล้เคียงกันเลย

ข้าพเจ้าได้สอบถามศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ว่าทางภาคพายัพหรือไทยเผ่าอื่น ๆ คำว่า "รำ" ที่มีความในทำนองเดียวกัน "รั่ว" มีบ้างไหม ท่านก็ได้เปิดดูในหนังสือ "พจนานุกรมล้านนา - ไทย" ฉบับแม่ฟ้าหลวง ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ได้จัดทำขึ้นในวโรกาสที่ "แม่ฟ้าหลวง" คือสมเด็จพระบรมราชชนนี เจริญพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ พบว่า ในคำว่า "รำ" พจนานุกรมล้านนา - ไทย ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
"ก ๑. พรำ, กรำ, รด อย่างกรำฝนหรือฝนตก
ก ๒. ม้วนอย่างม้วนเสื่อ
ก ๓. เข่นลง, ทำให้ยุบลง, ทุบ เช่น ไล่รำเข้าป่า - ไล่ทำร้ายขับให้หนีเข้าสู่ป่า
น ๑. ลักษณนามเรียกสิ่งที่เป็นม้วนอย่างม้วนเสื่อเป็นต้น
น ๒. มาตราวัดความยาวเท่ากับหนึ่งวา มักใช้กับผ้า" ฮำ ก็ว่า.

จากความหมายใน ก ๓. ที่ว่า "เข่นลง, ทำให้ยุบลง, ทุบ" ก็พอทำให้สันนิษฐานได้ว่า สำนวนที่ว่า "ยุให้รำ" นั้น มิได้หมายความว่า ยุให้ออกไปรำ เช่นรำวงหรืออะไรทำนองนั้น คงจะหมายความว่า ยุให้เขาต่อสู้ชกต่อยกันมากกว่า เพราะความจะเข้ากับ "ตำให้รั่ว" ได้เป็นอย่างดี ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงสมัยที่เป็นเด็กโดยเฉพาะพวกเด็กวัด เด็กโต ๆ มักจะยุให้เด็กเล็ก ๆ ชกกัน แต่ไม่ค่อยมีใครยอมลงมือก่อน เพราะถ้าถูกพระจับได้ ใครลงมือชกก่อน จะถูกตีมากกว่าคนที่ถูกชกหรืออาจถูกตีเพียงคนเดียวก็ได้ ตามปรกติ จะยืนเผชิญหน้ากันพร้อมกับกำมือเป็นกำปั้นไว้เตรียมชก แต่ก็ไม่มีใครยอมชกก่อน เด็กโต ๆ ก็จะเขียนวงกลมที่พื้นดินเป็น ๒ วง บอกว่าวงหนึ่งสมมุติเป็นหัวพ่อของคนหนึ่งและอีกวงหนึ่งเป็นหัวพ่อของอีกคนหนึ่ง แล้วจะยุว่าถ้าใครลบหัวพ่อของอีกฝ่ายหนึ่งได้ก็เป็นพ่อของอีกฝ่ายหนึ่ง การลบก็ต้องยื่นเท้าออกไปลบ พอคนหนึ่งยื่นเท้าออกไปลบหัวพ่อของอีกคนหนึ่ง คนที่หัวพ่อถูกลบจะชกทันที ต่อจากนั้นก็ชกกันนัวเนียไปหมด บางทีก็เลยถูกตีทั้งคู่ รวมทั้งคนยุด้วย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยเราแม้จะอยู่ต่างจังหวัด มีการศึกษาน้อย แต่เรื่องศักดิ์ศรีนี่ใครจะมาดูถูกดูหมิ่นไม่ได้ ผิดกับคนสมัยนี้ แม้จะมีการศึกษาสูงมีความรู้ความสามารถ มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง ๆ บางทีก็ลืมศักดิ์ศรีของตนไปประจบสอพลอคนที่มีอำนาจวาสนาขึ้นมาก แม้จะมีความรู้ต่ำต้อยกว่าตน ก็ตาม

สำนวนในลักษณะอย่างนี้ ยังมีอีกหลายสำนวน ดังที่ข้าพเจ้าได้เคยกล่าวถึงมาบ้างแล้ว เช่น "พลัดที่นา คาที่อยู่" หรือ "พลั้งปากเสียศีล พลั้งตีนตกต้นไม้" ว่า ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงใช้ว่า "พลัดที่นาคลาที่อยู่" เป็นต้น ข้าพเจ้าจะได้นำสำนวนในลักษณะเช่นนี้มาเสนอท่านผู้ฟังในโอกาสต่อไป.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๙กันยายน๒๕๓๕
Back