Back

สำนวนไทยที่น่าสังเกต

ในภาษาไทยเรามีสำนวน คำพังเพย และสุภาษิตอยู่มากมาย จนกระทั่งราชบัณฑิตยสถานได้รวบรวมบรรดาสำนวน ภาษิต และคำพังเพยเป็นเอกสารพิมพ์ออกเผยแพร่ตั้งแต่สมัยที่ข้าพเจ้าเป็นผู้อำนวยการกองศิลปกรรม ทั้งนี้เพื่อให้สะดวกแก่การศึกษาของนักเรียน ราคาก็ถูกมาก คือเพียงเล่มละ ๑๐ บาท เท่านั้น ราชบัณฑิตยสถานได้ตีพิมพ์เผยแพร่มาหลายครั้งแล้วเป็นหนังสือกว่า ๑๐๐,๐๐๐ เล่ม

มีอยู่สำนวนหนึ่ง ที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้เก็บไว้ แต่เอกสาร "ภาษิต คำพังเพย สำนวนไทยประเภทต่าง ๆ" มิได้เก็บไว้ คงจะเผลอไป นั่นคือ สำนวนที่ว่า "พลั้งปากเสียศีล พลั้งตีนตกต้นไม้" ซึ่งพจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "(สำนวน) ก. พูดหรือทำอะไรโดยไม่ระมัดระวังย่อมเกิดความเสียหาย." สำนวนนี้เก็บเป็นลูกคำของคำว่า "พลั้ง" ที่พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ก. พลาดโดยไม่ตั้งใจหรือไม่ทันคิด." และมีลูกคำอีก ๒ คำ คือ

๑. พลั้งปาก ก. พูดไปโดยไม่ทันคิด.
๒. พลั้งเผลอ ว. เผอเรอจนผิดพลาดไป.

เมื่อข้าพเจ้าไปบรรยายในการอบรมผู้ช่วยผู้พิพากษาที่สถาบันตุลาการ ท่านผู้ใหญ่ผู้หนึ่งท่านได้บอกข้าพเจ้าว่าสำนวนที่ว่า "พลั้งปากเสียศีล พลั้งตีนตกต้นไม้" นั้นในกฎหมายตราสามดวงไม่ได้เขียนอย่างนั้น หากเขียนเป็น "พลั้งปากเสียสีน พลาดตีนตกต้นไม้" คำว่า "สีน" ก็คือ "สิน" ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนี้เอง แปลว่า "น. เงิน, ทรัพย์" ในกฎหมายตราสามดวงใช้ทั้ง "สีน" และ "สิน" คือ ถ้าใช้โดด ๆ ก็มีทั้ง "สิน" และ "สีน" แต่ถ้าใช้ควบกับคำอื่นมักจะใช้ "สีน" เช่น สีนค้า สีนจ้าง สีนโจร สีนเดิม สีนไถ่ สีนบน สีนไหม ฯลฯ

สำนวนที่ว่า "พลั้งปากเสียสีน พลาดตีนตกต้นไม้" นั้น มีอยู่ใน "พระไอยการลักษณผัวเมีย" ข้อ ๑๐๓ ที่ว่า

"๑๑๐ มาตราหนึ่ง ผู้ใดให้ไปสู่ขอลูกสาวหลานสาวท่าน บิดามานดา ญาติแห่งหญิงตกปากให้ได้กินขันหมากท่านแล้ว ชายหาผิดมิได้ บิดามานดาญาติแห่งหญิงคิดกินแหนงแคลงใจแกล้งจะมิให้หญิงนั้นแก่ชาย แปรปากหลากคำหาที่กลัวมิได้ ครั้นชายผู้อื่นมาสู่ขออีก บิดามานดา หญิงนั้นก็รับ กลับกินขันหมากชายนั้นเล่า ถ้าชายทังสองเปนความกันท่านว่าให้ลูกสาวนั้นแก่ชายผู้มาสู่ขอก่อนแล้วให้เอาขันหมากชายภายหลังนั้นตั้งไหม บิดามานดาหญิงทวีคูน ยกทุนให้เจ้าของ เหลือนั้น เป็นสีนไหมกึ่ง พิไนกึ่ง แล้วให้ใช้ค่าฤทชาทำเนียมให้แก่ชายภายหลังด้วย เพราะมันทนงศักดิสำหาวล่วงความเมืองท่าน ถ้าบิดามานดาหญิงตกปากให้ บุตรีเปนภรรยาชาย บิดามานดาหญิงรับสีนสอดขันหมากแห่งชายไว้แล้ว แลกลับถ้อยคำมิให้เล่าไซ้ ให้คิดเอาค่าตัวหญิงนั้นตามกระเสียรอายุแล้ว ให้คืน สีนสอดนั้นจงท่วน เหตุพลั้งปากเสียสีน พลาดตีนต้นไม้"

จากข้อความใน "พระไอยการลักษณผัวเมีย" นี้ ก็จะทำให้เราได้ที่มาที่ไปที่ว่า "พลั้งปากเสียสีน" คือออกปากยกลูกสาวให้ชายคนหนึ่งไปแล้ว ยังมารับปากชายอีกคนหนึ่งที่มาขอลูกสาวตน พ่อแม่หญิงจึงต้อง เสียสินไหมทดแทน แต่ที่ปัจจุบันเราเขียนเป็น "พลั้งปากเสียศีล" เพราะเราไม่ทราบที่มาที่ไปของสำนวนนี้ ท่านก็คิดเอาเองว่า คงหมายถึงพูดพล่อย ๆ ไปทำให้ศีลขาด

ส่วนข้อความที่ว่า "พลั้งตีนตกต้นไม้" นั้น กฎหมายตราสามดวงใช้ว่า "พลาดตีนตกต้นไม้" ดูข้อความจะถูกต้องกว่าเพราะในการปีนขึ้นต้นไม้นั้น ถ้า เหยียบพลาด เช่น เหยียบกิ่งพลาดก็อาจตกลงมาได้ ตามปรกติเราจะไม่ใช้กริยา "พลั้ง" กับการขึ้นหรือปีนต้นไม้ คำว่า "พลาด" พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "ก. ไม่ตรงที่หมายในลักษณะเช่น เพลี่ยงไป เลี่ยงไป หรือไถลไป; ผิดพลาดเพราะไม่รู้เท่าหรือเชื่อตัวเองเกินไปเป็นต้น." และมีลูกคำอยู่คำหนึ่งคือ "พลาดท่า" ที่พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ก.เสียที, เสียรู้."

ในการชำระพจนานุกรมต่อไป ก็คงจะต้องเก็บสำนวนว่า "พลั้ง ปากเสียสีน พลาดตีนตกต้นไม้" ไว้คู่กันกับ "พลั้งปากเสียศีล พลั้งตีนตกต้นไม้" ด้วย.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๘กันยายน๒๕๓๕
Back