Back

สำนวนไทยที่เนื่องมาจากสำนวนบาลี - สันสกฤต

เมื่อข้าพเจ้าได้ตรวจผลงานชื่อ "ภาษาบาลี สันสกฤตในภาษาไทย" ของอาจารย์จันทร์ศิริ แท่นมณี แห่งภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูเพชรบุรี หลายปีมาแล้ว เห็นว่าเป็นผลงานที่ดีเล่มหนึ่ง ควรแก่การเผยแพร่อย่างยิ่ง ข้าพเจ้าจะขอนำเฉพาะเรื่อง "สำนวนไทยที่ได้มาจากสำนวนบาลีและสันสกฤต" เท่านั้นมาเสนอ เช่น สำนวนว่า

"ฉันใด-ฉันนั้น" แปลจากบาลี-สันสกฤตว่า "ยถา-ตถา" หรือ "ยถา-เอวํ" เช่น นาดีย่อมปลูกข้าวงามฉันใด ภิกษุที่ดีก็ย่อมเป็นที่เจริญของบุญที่กระทำลงไปฉันนั้น

"พระอินทร์มาเขียว ๆ" จากเรื่องพระอินทร์ซึ่งมีร่างกายสีเขียว ซึ่งมักจะลงมาช่วยคน

"มารผจญ" จากพุทธประวัติตอนที่พญามารมาผจญพระสิทธัตถะ ก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

"เห็นกงจักรเป็นดอกบัว" มาจากนิทานเรื่อง มิตตวินทุกะ ซึ่งไปพบเปรตมีกงจักรหมุนอยู่บนหัว แต่เพราะบาปที่ตนทุบตีมารดา จึงมองเห็นเป็นดอกบัวไป จึงขอกงจักรนั้นมาไว้บนหัวตนบ้าง ไทยนำมาใช้ในความหมายว่า "เห็นผิดเป็นชอบ"

"ราชรถมาเกย" การเสี่ยงทายในวรรณคดีบาลี เพื่อหาคนมาเป็นกษัตริย์แทนกษัตริย์องค์ที่สวรรคตไปแล้วโดยมิได้มีรัชทายาท โดยปล่อยราชรถให้แล่นไป ถ้าราชรถไปหยุดตรงหน้าบุคคลใด ก็ถือว่าบุคคลนั้นจะได้เป็นกษัตริย์องค์ต่อไป ไทยนำมาใช้ในทำนองว่า "ไม่ต้องขวนขวายทำอะไรก็ได้ดีเอง"

"ชักแม่น้ำทั้งห้า" คือ การพูดจาหว่านล้อมเพื่อสิ่งที่ต้องการ ได้มาจาก การพรรณนาถึงแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ สาย ในวรรณคดีบาลี ได้แก่แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหี

"พระมาลัยมาโปรด" เป็นสำนวน หมายถึง มาช่วยในยามทุกข์ยาก จากเรื่องพระมาลัยเทวเถรที่ไปโปรดสัตว์นรกฉะนั้น

"ย่างสามขุม" ทำก้าวเป็น ๓ จังหวะของนักมวยเป็นต้น มาจากเรื่องพระนารายณ์ปราบยักษ์ชื่อว่า พลี โดยขอแผ่นดิน ๓ ก้าว ในวามนาวตาร อันหมายถึง สวรรค์ โลก และ บาดาล

"พาลีหลายหน้า" หมายความว่า กลับกลอกไม่ซื่อสัตย์ จากพฤติกรรมของพาลี พญาวานรในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งโกงสุครีพผู้เป็นน้องชาย

"งอมพระราม" หมายถึง ความทุกข์ยากเต็มที่จากการที่พระรามต้องออกเดินดงมาอยู่ในป่า จากเรื่องรามเกียรติ์

"ลูกทรพี" มาจากเรื่องรามเกียรติ์ ตอนทรพีได้ฆ่าพ่อชื่อทรพา จึงเป็นสำนวนหมายถึง "ลูกเนรคุณ"

"วัดรอยเท้า" มาจากเรื่องทรพีในรามเกียรติ์อีกเช่นกัน คือทรพีได้เดินตามและคอยวัดรอยเท้าของทรพาผู้เป็นพ่อ เพื่อดูว่าเท่ากันหรือยัง ไทยเรานำมาใช้เป็นสำนวนว่า แข่งดีกับผู้มีอำนาจ หรือลบหลู่บุญคุณท่านผู้มีคุณ เป็นต้น

"คว่ำบาตร" หมายถึง ไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วย มาจากการที่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ใช้มาตรการลงโทษคฤหัสถ์ที่ล่วงเกินพระสงฆ์ ด้วยการไม่ยอมรับอาหารบิณฑบาตของบุคคลนั้น จนกว่าบุคคลนั้นจะยอมรับผิดและขอขมาสงฆ์ก่อน จึงจะยอมรับอาหารบิณฑบาตต่อไปซึ่งเรียกว่า "หงายบาตร"

"ลงโบสถ์" หมายถึง เข้ากันได้ เป็นสำนวนมาจากการที่ภิกษุสงฆ์ซึ่งมีศีลาจารวัตรอย่างเดียวกันร่วมกันทำอุโบสถสังฆกรรมในโบสถ์ได้ ถ้าปรากฏว่าภิกษุรูปหนึ่งมีศีลวิบัติ ขาดจากความเป็นพระแล้วไม่ยอมสึก ภิกษุสงฆ์องค์อื่น ๆ ก็จะไม่ยอมร่วมอุโบสถสังฆกรรมด้วย เรียกว่า "ไม่ลงโบสถ์กัน"

สำนวนไทยในลักษณะเช่นนี้ยังมีอยู่อีกมากมาย บางทีก็ได้มาจากเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา บางทีก็เป็นสำนวนเปรียบเทียบ ภาษิต คำพังเพย และสำนวนต่าง ๆ เหล่านี้ ราชบัณฑิตยสถาน ได้จัดพิมพ์เป็นเอกสารราคาถูกออกเผยแพร่มาหลายครั้งแล้ว เป็นหนังสือหลายหมื่นเล่มแล้ว ถ้าท่านผู้ใดสนใจก็หาซื้อได้ที่ราชบัณฑิตยสถานหรือตามร้านหนังสือใหญ่ ๆ บางแห่ง.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๖ตุลาคม๒๕๓๕
Back