Back

สิงคโปร์ - สิงหปุระ

การแข่งขันกีฬา "ซีเกมส์" ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพซึ่งได้เริ่มเปิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖ อันเป็นการเปิดการแข่งขันฟุตบอลเปิดสนามระหว่างไทยกับพม่าเป็นคู่แรก ต่อมาจึงได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖ และปิดรายการด้วยการแข่งขันชิงเหรียญทองเหรียญสุดท้าย ด้วยการแข่งขันฟุตบอลระหว่างไทยกับพม่าอีกเช่นเคย เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ซึ่งได้นำความสนุกสนานตื่นเต้นมาให้แก่ผู้ชมรอบสนาม รวมทั้งคนไทยที่ฟังถ่ายทอดรายการทางสถานีวิทยุ และชมการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ในบ้านของตนด้วย อย่างไม่เคยพบรายการระทึกใจเช่นนี้มาก่อนเลย

มีหลายคนที่มีความสงสัยว่าทำไมประเทศสิงคโปร์จึงมี "สิงโต" เป็นสัญลักษณ์และเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Lion City ได้มาถามข้าพเจ้าว่า "สิงค" กับ "สิงห" มันเกี่ยวข้องกันอย่างไร

ข้าพเจ้าได้เคยคิดถึงเรื่องนี้อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็มิได้เคยเขียนไว้ ณ ที่ใด ข้อสำคัญประการหนึ่งที่เราจำเป็นจะต้องระลึกถึงอยู่เสมอก็คือ ดินแดนแถบเอเชียอาคเนย์ทั้งหมดได้รับอิทธิพลจากอินเดียทั้งในด้านศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตซึ่งก็มาพร้อม ๆ กับศาสนา นั้น ๆ จึงได้มีอิทธิพลอยู่ทั่วไปในเอเชียอาคเนย์ เพียงแต่บางทีเสียงหรือสำเนียงก็เพี้ยน ๆ กันไปบ้าง เมื่อเขียนตัวหนังสือตามเสียงก็ทำให้ยิ่งเพี้ยนกันไปใหญ่ ชื่อคนชื่อเมืองต่าง ๆ แม้ในประเทศอินโดนีเซียหรือมาเลเซียซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็ยังมีชื่อที่เป็นภาษาบาลีและสันสกฤตปนอยู่มาก ทั้งนี้ก็เพราะศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนาได้เข้ามามีอิทธิพลอยู่ในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามามีอำนาจเป็นเวลาหลายร้อยปี อย่างคำว่า "ภาษา" ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย ก็ใช้คำว่า "ภาษา" เช่นเดียวกัน

ในด้านนิรุกติศาสตร์ การออกเสียงตัว ข ค กับ ห ฮ บางทีก็สับกันได้ อย่างคำว่า "หนวกหู" ผู้ใหญ่บางทีก็ออกเสียงว่า "หนวกขู" อย่างเวลาเด็ก ๆ เล่นกันเกรียวกราว ท่านกำลังจะหลับ ท่านก็หลับไม่ลง จึงมักดุเด็ก ๆ ว่า "หนวกขูจริง ๆ ไปเล่นที่อื่น" หรือเด็กเล็ก ๆ เมื่อเข้าเรียนโรงเรียนอนุบาล ครูสอนให้อ่าน ก ไก่ ข ไข่... พอถึง ฮ นกฮูก เด็ก ๆ มักจะออกเสียงเป็น "ฮ นกคูก" เสมอ

ในหนังสือ "นิรุกติศาสตร์" ของพระยาอนุมานราชธน ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในตอนที่ว่าด้วย "พยัญชนะลำคอ" ไว้ตอนหนึ่งดังนี้

"โดยเหตุที่เสียง ห ฮ เป็นเสียงอย่างเราหายใจออกมาจากปากช่องหลอดลมโดยแรงผิดกับลักษณะการออกเสียงพยัญชนะตัวอื่น ในตำราสัทศาสตร์จึงเรียกว่า พยัญชนะเสียงหนัก (aspirates) บาลีและสันสกฤตเรียกว่า ธนิต ถ้าเราออกเสียงพยัญชนะตัวอื่น แต่ให้มีเสียงหนักซึ่งปนอยู่ด้วย เรียกว่า การทำให้เป็นเสียงหนัก (aspiration) เช่น เราออกเสียง ก แต่ให้มีเสียงหนักมาก่อน (pre - aspiration) หรือให้เสียงหนักตามเสียง ก (aspiration) ก็จะเป็นเสียง ข (ห + ก หรือ ก + ห = ข) ในทำนองเดียวกัน จ ก็เป็น ฉ ต ก็เป็น ถ ป ก็เป็น ผ หรือ กล่าวง่าย ๆ คือ เสียงอักษรกลาง จะกลายเป็นอักษรสูงไป

"ถ้าการออกเสียงหนักนี้ ไม่ใช่เสียงหนักชนิดแข็ง คือ ห แต่เป็นเสียงหนักชนิดอ่อน คือ ฮ เสียงจะกลายเป็น ค ช ท พ คืออักษรต่ำไป เสียง ก จ ต ป แม้มี ห หรือ ฮ ผสมอยู่ จะเป็น จ ฉ ถ ผ หรือ ค ข ท พ ก็ยังเป็นเสียงไม่ก้องอยู่ตามเดิม (ค ช ท พ ไม่ใช่เป็นเสียงก้อง จะต้องเป็น g j d b จึงจะเป็นเสียงก้องได้)

จากหลักนิรุกติศาสตร์ที่ว่าด้วย "พยัญชนะลำคอ" ดังกล่าวนี้เอง คำว่า "หนวกหู" จึงกลายเป็น "หนวกขู" และ "นกฮูก" จึงกลายเป็น "นกคูก" ได้ ข้อนี้ฉันใด คำว่า "สิงห" ก็กลายเป็น "สิงค" ได้ และคำว่า "โปร" ก็มา "ปุร" ในภาษาบาลีนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ "สิงหปุระ" จึงกลายเป็น "สิงคโปร์" ได้ นอกจากคำว่า "โปร์" แล้วในมาเลเซียยังมีคำว่า "เปอร์" ลงท้ายชื่อเมือง เช่น กัวลาลัมเปอร์ ด้วย คำว่า "เปอร์" และคำว่า "โปร์" ก็มาจากคำว่า "ปุระ" เช่นกัน ภาษาไทยเราใช้เป็น "บุรี" ภาษาฝรั่งก็มีหลาย ๆ คำที่มีที่มาตรงกัน เช่นคำว่า polis, burg, borough, boro, bury ฯลฯ ก็ตรงกับคำว่า "ปุร" ทั้งสิ้น.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๑ มิถุนายน ๒๕๓๖
Back