Back
สื่อสารมวลชนคืออะไร


ในงานฉลอง ๑๐๐ ปีวันประสูติ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ มีหนังสือที่มีคุณค่าทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศอยู่หลายเล่ม ในเล่มที่เป็นภาษาไทย มีเรื่องที่น่าสนใจอยู่เป็นจำนวนมาก เรื่องหนึ่งก็คือ "สื่อสารมวลชนคืออะไร" ที่พระองค์ท่านทรงแสดงในการสัมมนา ณ ศาลาสันติธรรม เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๗ ข้าพเจ้าขอนำข้อความบางตอนในปาฐกถานั้นมาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"วิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์รายวัน และนิตยสาร โทรทัศน์และภาพยนตร์เหล่านี้แหละเป็นสื่อมวลชน ทำการสื่อสารมวลชน

สื่อมวลชน ตรงกับคำอังกฤษว่า mass media และ สื่อสารมวลชนตรงกับคำอังกฤษว่า mass communication

ข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่จะกล่าวเช่นนี้ได้ เพราะได้ผ่านคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานแล้ว ทีแรกกระทรวงศึกษาธิการได้ขอให้บัญญัติศัพท์ mass communication ก่อน ข้าพเจ้าได้เสนอ "สื่อสารมวลชน" คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ก็ได้รับเอาโดยไม่มีข้อยากลำบากอย่างใด เพราะสื่อสารเป็นคำที่ใช้กันมาแล้วสำหรับ communication ส่วนคำว่า มวลชน นั้น ก็พอจะเข้าใจได้ว่าคนมาก ๆ mass ซึ่งเป็นศัพท์วิทยาศาสตร์นั้น ได้บัญญัติว่า "มวล" ไว้แล้ว mass - masses ที่เกี่ยวกับคน ข้าพเจ้าจึงได้นำใช้ไว้นานแล้วว่า มวลชน "สื่อสารมวลชน" ก็พอจะเข้าใจได้ว่า สื่อสารไปสู่มวลชน ซึ่งเป็นความที่ต้องการ

แต่ต่อมา เมื่อกระทรวงศึกษาธิการขอให้บัญญัติให้ตรงกับคำว่า mass media ซึ่งแปลกันว่า "สื่อมวลชน" อยู่แล้วนั้น ได้มีการอภิปรายกันบ้าง บางท่านได้อ้างว่า เป็นศัพท์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องชี้แจงว่า media แปลว่า "สื่อ" นั้น เป็นศัพท์ที่ข้าพเจ้าได้เสนอจริง และ mass แปลว่า "มวล" หรือ "มวลชน" ก็เป็นศัพท์ที่ข้าพเจ้าได้เสนอจริง แต่ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นผู้ผูกศัพท์ "สื่อมวลชน" ขึ้น เมื่อได้ยินครั้งแรกก็รู้สึกงง ๆ เหมือนกัน เพราะแม้คำอังกฤษว่า mass media ก็ไม่แสดงความหมายอย่างชัดแจ้ง ถ้ากล่าวความให้เต็มว่า media of mass communication ก็จะเข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น เมื่อร่นลงมาเป็น mass media ก็ต้องอาศัยความเคยชิน จึงจะเข้าใจ ในภาษาไทยก็เช่นเดียวกัน ถ้าว่า "สื่อในการสื่อสารมวลชน" ก็พอจะเข้าใจได้ แต่เมื่อร่นลงมาเป็น "สื่อมวลชน" ก็ต้องอาศัยความเคยชินสักหน่อย แต่เมื่อเรามีคำว่า "สื่อสารมวลชน" สำหรับ mass communication แล้ว "สื่อมวลชน" ซึ่งใช้กันอยู่แล้ว ก็พอจะใช้คำแปลว่า mass media ได้ ในที่สุดคณะกรรมการบัญญัติศัพท์จึงได้ผ่านไป

แต่ "สื่อสารมวลชน" มีความหมายว่ากระไรแน่ เราจะต้องพิจารณากันต่อไป

ในการสื่อจะต้องมีผู้ส่งสาร มีสาร และมีผู้รับสาร ตามคำนิยามในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน สื่อ หมายความว่า ทำการติดต่อให้ถึงกัน นี่ก็ตรงกับคำว่า communicate ซึ่งแปลว่า ทำให้ร่วมกัน ผู้ส่ง มีสาร หรือสิ่งที่มีความสำคัญ หรือมีความหมายก็แสดงออก (express) เมื่อทำให้สารที่แสดงออกมานั้นไปถึงผู้รับ และผู้รับได้รับสารนั้นไว้ ก็เป็นการสื่อสาร แต่สารตามที่ผู้รับรับไว้นั้น อาจไม่เหมือนกันแท้กับการที่ผู้ส่งมุ่งหมายจะส่งก็ได้ เพราะผู้รับย่อมตีความหมายเอาเองตามความรู้สึกนึกคิดของตน หรืออีกนัยหนึ่ง ก็ตามการประสบ (experience) ของตน ถ้าเป็นการสื่อสาร โดยตรงระหว่างผู้ส่งกับผู้รับ โดยผู้ส่งพูดตรงต่อผู้รับหรือแสดงตรงต่อผู้รับ เป็นการสื่อสารเฉพาะหน้ากัน ดังเช่นที่ข้าพเจ้ากำลังพูดอยู่โดยตรงต่อหน้าท่านทั้งหลาย หรือแสดงอยู่โดยตรงต่อท่านทั้งหลายเช่นนี้ ข้าพเจ้าก็อาจสังเกตปฏิกิริยาของท่านได้ว่า ท่านสนใจหรือไม่สนใจ ชอบหรือไม่ชอบ และยิ่งถ้ามีคำถามคำตอบกันได้ ผู้ส่งสารก็อยู่ในฐานะที่จะทราบได้ชัดขึ้นว่า ผู้รับสารมีปฏิกิริยาอย่างไร ผู้ส่งสารก็อาจดัดแปลงสารให้สมใจผู้รับสารได้ดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะพูดถึงการประกาศสินค้าก็เช่นเดียวกัน ถ้าได้ชี้แจงและเกลี้ยกล่อมเฉพาะหน้าได้แล้ว ก็จะได้ผลแน่นอนกว่าประกาศแจ้งความทางหนังสือพิมพ์ ทางวิทยุกระจายเสียง ทางโทรทัศน์ หรือทางภาพยนตร์ การสื่อสารเฉพาะหน้ากัน เป็นวิธีสื่อสารที่ดีจริง และถึงแม้จะใช้วิธีสื่อสารมวลชน ก็ไม่แปลว่า จะไม่ต้องใช้วิธีสื่อสารเฉพาะหน้า เช่นในการประกาศสินค้า ก็มีกรณีที่ใช้ทั้งสองวิธีประกอบกันจึงจะได้ผลดีที่สุด อุปสรรคในการสื่อสารเฉพาะหน้ากัน ก็อยู่ที่ผู้รับสารมีได้น้อยเมื่อเปรียบกับการสื่อสารมวลชนซึ่งมีผู้รับสารได้เป็นเรือนแสนเรือนล้าน ฉะนั้น ถึงแม้จะไม่ทราบปฏิกิริยาของผู้รับสารโดยแน่ชัด การที่เข้าถึงผู้รับสารเป็นจำนวนแสนจำนวนล้านก็มีประโยชน์อย่างใหญ่หลวง"

อย่างไรก็ตาม คำว่า "สื่อสาร" "สื่อมวลชน" และ "สื่อสารมวลชน" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้

"สื่อสาร ก. นำหนังสือหรือข้อความของฝ่ายหนึ่งส่งให้อีกฝ่ายหนึ่ง."

"สื่อมวลชน น. สื่อกลางที่นำข่าวและความรู้ไปสู่มหาชน เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์."

"สื่อสารมวลชน น. การติดต่อสื่อสารสู่มหาชนโดยอาศัยเครื่องมือหรือสื่อกลางต่าง ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์."

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๖ กันยายน๒๕๓๔
Back