Back
สุขารมณ์ - สุขารมย์


คำที่ยังเขียนกันสับสนอยู่อีกคำหนึ่ง ก็คือคำว่า "สุขารมณ์" ซึ่งบางทีก็มีผู้เขียนเป็น "สุขารมย์" ทั้งนี้เพราะเรามีคำว่า "รื่นรมย์, เริงรมย์" เป็นแนวเทียบ

คำว่า "รมย์" เป็นคำสันสกฤต พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ว. น่าบันเทิง, น่าสนุก, พึงใจ, งาม. มักใช้ ประกอบคำอื่น เช่น รื่นรมย์ เริงรมย์." ถ้าเป็นบทร้อยกรอง บาทีก็ใช้คำว่า "รมเยศ" ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับ "รมย์" นั่นเอง นอกจากนั้นก็มีคำว่า "รมนีย์" ซึ่งมีความหมายคล้าย ๆ กัน เพราะมาจาก "ธาตุ" หรือรากศัพท์ที่เป็นบาลีและสันสกฤตอย่างเดียวกัน พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ว. น่าบันเทิงใจ, น่าสนุก, พึงใจ, งาม." ซึ่งก็มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า "รมย์" นั่นเอง

ส่วนคำว่า "สุขารมณ์" เป็นคำที่เอา "สุข" กับ "อารมณ์" มาเข้าสนธิกัน จึงเป็น "สุขารมณ์" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ความรู้สึกว่าเป็นสุข; เรียกลัทธิทางจริยศาสตร์ที่ถือว่า การแสวงหาความสุขสำราญ เป็นยอดคุณธรรมแห่งชีวิตของมนุษย์ว่า "คติสุขารมณ์"."

คำว่า "คติสุขารมณ์" เป็นศัพท์ทางปรัชญา ตรงกับภาษาอังกฤษว่า hedonism หนังสือพจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ - ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ศัพท์บัญญัติไว้ ๒ คำ คือ "คติสุขารมณ์" กับ "รตินิยม" และได้ให้คำอธิบายย่อ ๆ ไว้ดังนี้ "ทรรศนะที่ถือว่าสุขารมณ์ (pleasure) เป็นสิ่งประเสริฐที่สุดหรือเป็นความดีสูงสุดของชีวิต ทรรศนะนี้สอนให้บุคคลมุ่งแสวงหาความสุขทางผัสสะหรือความสุขสบาย หรือโลกียสุขในชีวิตปัจจุบัน."

คำว่า "โลกียะ, โลกีย์" พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่า "ว. เกี่ยวกับโลก, ทางโลก, ธรรมดาโลก, ของโลก." ส่วนคำว่า "โลกียสุข" พจนานุกรมยังมิได้เก็บไว้

คำว่า "pleasuse" ที่พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา ให้ศัพท์บัญญัติไว้ว่า "สุขารมณ์" นั้น ได้ให้คำอธิบายไว้ดังนี้ "อารมณ์ที่มีสุข ความรู้สึกที่มีลักษณะเป็นสุขทางกายมากกว่าทางใจ และมีลักษณะเป็นการชั่วคราว ตรงกันข้ามกับ ทุกขารมณ์ (pain)." และบอกให้ดู happiness และ pain ประกอบ

คำว่า "happiness" พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา ได้ให้ศัพท์บัญญัติและคำอธิบายย่อ ๆ ไว้ดังนี้ "ความสุข : นักปรัชญาบางคนแยกความแตกต่างระหว่างความสุขกับสุขารมณ์ (pleasure) โดยถือว่า ความสุขมีความหมายกว้างกว่าสุขารมณ์ คือมีความหมายรวมทั้งความสุขทางร่างกายและจิตใจ และมีลักษณะจีรังยั่งยืนมากกว่าสุขารมณ์ ส่วนสุขารมณ์มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับประสาทสัมผัสมากกว่าและมีลักษณะชั่วครู่ชั่วยามมากกว่า, ดู pleasure ประกอบ"

ส่วนคำว่า "pain" ที่ได้บัญญัติศัพท์ไว้ว่า "ทุกขารมณ์" นั้น พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ : "อารมณ์ที่มีทุกข์ ความรู้สึกที่มีลักษณะเป็นทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ ตรงข้ามกับสุขารมณ์ (pleasure) ดู pleasure ประกอบ"

คำว่า "สุข" และ "ทุกข์" ในภาษาบาลีนั้น โดยทั่ว ๆ ไปหมายถึงทั้งความสุขกายสุขใจ และทุกข์กายทุกข์ใจ แต่ถ้ามีคำว่า "โสมนัส" อยู่คู่กับ "สุข" แล้ว คำว่า "สุข" ก็หมายถึง "ความสุขทางกาย" เท่านั้น ส่วน "โสมนัส" หมายความว่า "ความสุขใจ" และคำว่า "ทุกข์" ก็เช่นกัน ถ้าอยู่คู่กับ "โทมนัส" แล้ว คำว่า "ทุกข์" หมายถึง "ความทุกข์ทางกาย" เท่านั้น ส่วน "โทมนัส" หมายถึง "ความทุกข์ทางใจ"

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายของคำว่า "สุข" "โสมนัส" "ทุกข์" และ "โทมนัส" ไว้ดังนี้

"สุข น. ความสบาย, ความสำราญ, ความปราศจากโรค."
"โสมนัส น. ความสุขใจ, ความปลาบปลื้ม, ความเบิกบาน."
"ทุกข์ น. ความยากลำบาก, ความไม่สบายกายไม่สบายใจ."
"โสมนัส น. ความเสียใจ, ความเป็นทุกข์ใจ."

เมื่อเปรียบเทียบความหมายของคำว่า "สุข" กับ "ทุกข์" และ "โสมนัส" กับ "โทมนัส" แล้วจะเห็นว่ายังไม่สอดคล้องกันดีนัก จำเป็นจะต้องปรับปรุงแก้ไขความหมายให้สอดคล้องและรับกันต่อไป.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑ ธันวาคม๒๕๓๔
Back