Back
สุนทรพจน์ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในการสัมมนาทางวิชาการ ฉลอง ๑๐๐ ปี
พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์


เมื่อวันที่ ๕ - ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๔ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสัมมนาทางวิชาการ ฉลอง ๑๐๐ ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ที่ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันนั้น ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมมีข้อความที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าขอนำข้อความบางตอนในสุนทรพจน์นั้นมาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูง ที่จะได้กล่าวถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยผู้หนึ่ง ผู้ซึ่งโดยตลอดพระชนมายุของพระองค์ท่านนั้น ได้ทรงกระทำแต่สิ่งที่ดีงามและความบริสุทธิ์ในทางสติปัญญา อันเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อโลกทั้งมวล และต่อประเทศชาติที่พระองค์รักยิ่ง ผู้ซึ่งเป็นแบบฉบับอันยิ่งใหญ่สำหรับอนุชนทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ในความสามารถส่วนพระองค์อันเอก อุอย่างยากจะหาผู้ใดเปรียบได้ใกล้เคียง จึงเหมาะสมแล้วที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้แสดงเจตนาอันหนักแน่น เฉลิมพระเกียรติคุณของพระองค์ท่านเป็น "บุคคลสำคัญผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก" ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ ในฐานะนักการทูตและนักวิชาการผู้ยิ่งใหญ่ อันมีความหมายอย่างสูงต่อศักดิ์ศรีและความเคารพตนเองของชนชาวไทยทั้งมวล ให้เราทั้งหลายได้จดจำจารึกไว้ตลอดไป พระนามแห่งเกียรติยศนั้นคือ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

"ในวาระหนึ่งศตวรรษของพระสมภพ เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๔ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวไทย จะได้ย้อนรำลึกถึงพระคุณูปการอันไพศาลด้วยการจัดงานเฉลิมฉลองไปตลอดทั้งปี อันหมายความถึงการสัมมนาทางวิชาการ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโอกาสนี้ด้วย

"แต่การที่จะกล่าวถึงผลงานของพระองค์ท่านที่ปรากฏต่อโลกและต่อประเทศไทยให้ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น เป็นการยากที่จะเป็นไปได้ด้วยการสัมมนาในโอกาสใดโอกาสหนึ่งเพียงครั้งเดียว แต่ขอให้เราหวังกันว่า จะทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์ท่านได้มากกว่าเดิม เพราะสิ่งที่ได้รับเพิ่มขึ้นโดยลำดับนั้น ล้วนแต่เป็นอาภรณ์ประดับสติปัญญา ซึ่งจะเสริมคุณค่าชีวิตของผู้ที่ใฝ่ใจศึกษาได้เสมอ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้ทรงผ่านประสบการณ์หลากหลายอย่างน่ามหัศจรรย์ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าทรงเป็นพระอัจฉริยบุคคลโดยแท้ อัจฉริยภาพของพระองค์ท่านมิได้เกิดขึ้นด้วยพระชาติวุฒิที่สูงส่ง หากเกิดขึ้นด้วยความเปรื่องปราด และประสบการณ์ที่ทรงสั่งสมโดยตลอดมา และมิได้ทรงเก็บงำไว้แต่เฉพาะพระองค์ท่าน เพราะได้ทรงเผื่อแผ่เจือจานในทุกวิถีทางที่ทรงกระทำได้ นับได้ว่าทรงเป็นอัจฉริยบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง

"พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นนักการทูตผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย วันเวลาอันเนิ่นนานที่พระองค์ท่านทรงรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งในฐานะข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการนั้น เป็นช่วงเวลาที่ประวัติศาสตร์ที่ทุกคนจดจำได้ดี บทบาทของพระองค์ท่านในฐานะปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ ก็ดี ในฐานะอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยมก็ดี ตลอดจนในองค์การระหว่างประเทศของโลกในขณะนั้นคือ สันนิบาตชาติก็ดี ล้วนเป็นผลงานระดับดีเลิศที่ทรงกระทำในขณะที่มีพระชนมายุระหว่าง ๓๓ - ๓๕ พรรษาเท่านั้น และเพียงส่วนหนึ่งของพระอัจฉริยภาพที่ปรากฏเรื่อยมาอย่างสม่ำเสมอ

"ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ พระองค์ท่านได้ทรงงานเพื่อประเทศชาติอย่างยากที่จะมีนักการทูตผู้ใดเสมอเหมือน นับตั้งแต่การแก้ไขสนธิสัญญากับนานาชาติ เพื่อความเป็นเอกราชและอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ของประเทศไทย การเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อกำหนดเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส จนกระทั่งการนำประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติได้อย่างรวดเร็ว ท่ามกลางอุปสรรคนานัปการ ภารกิจทั้งหมดบรรลุผลสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง และถือได้ว่าเป็นช่วงตอนที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย

"และในขณะที่ทรงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้ทรงแสดงบทบาทอันสำคัญยิ่งในประชาคมระหว่างประเทศหลาย วาระ ทั้งในองค์การ SEATO, ที่ประชุมเพื่อความตกลงในปัญหาเกาหลี, ที่ประชุม Afro - Asian ณ นครบันดุง และอื่น ๆ อีกมาก

"เกียรติยศอันยิ่งใหญ่อย่างไม่มีชาวไทยผู้ใดเคยก้าวได้ถึงนั้น เกิดขึ้นเมื่อทรงได้รับเลือกเป็นประธานสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ สมัย ที่ ๑๑ ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ ด้วยบทบาทอันเป็นที่ยอมรับนับถืออย่างสูงในประชาคมระหว่างประเทศ เสด็จในกรมฯ ได้ทรงวางพระองค์อย่างเหมาะสม เปี่ยมไปด้วยความสามารถและปรีชาชาญทางการทูต จึงไม่น่าแปลกใจที่ในพิธีอำลาตำแหน่งของพระองค์ท่านจะมีเสียงปรบมืออย่างกึกก้องจากมวลสมาชิกที่พร้อมใจลุกขึ้นยืนเพื่อแสดงมุทิตาจิต อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยกับประธานสมัชชาใหญ่ท่านอื่น

"พระเมตตาธรรมต่อผู้ใต้บังคับบัญชานั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดเช่นกัน ด้วยทรงวางพระองค์เป็นครู มิใช่ผู้บังคับบัญชา จึงเกิดบรรยากาศที่ดีและเป็นประโยชน์ต่องานของประเทศชาติตลอดมาด้วย ทั้งได้ทำให้เกิดอนุชนผู้เปี่ยมไปด้วยความสามารถทำหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศอีกเป็นอันมาก

"ในบทบาทนักวิชาการผู้ยิ่งใหญ่ ตามที่องค์การ UNESCO ประกาศ เชิดชูพระเกียรติคุณอีกโสดหนึ่งด้วยนั้น เป็นตำนานของประเทศอีกบทหนึ่งที่ไม่อาจลืมเลือนได้ด้วยได้ทรงอุทิศเวลาอันมีค่าให้กับการศึกษาตลอดพระ ชนมายุ จึงทรงเป็นหลักแห่งภูมิปัญญาในทางสังคมศาสตร์ในระดับชาติมาโดยตลอด ความเป็นนักวิชาการบริสุทธิ์ของพระองค์ท่านนี้เอง ทำให้ทรงเป็นนักปราชญ์แท้ และได้ทรงถ่ายทอดความรู้อันวิเศษเหล่านั้นสู่ผองชนอย่างเต็มพระสติกำลัง จึงเกิดประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน"
.............................................................

"ในวิชาการด้านอักษรศาสตร์ พระเกียรติคุณยิ่งปรากฏเด่นชัดเมื่อทรงรับตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถาน เพราะพระอัจฉริยภาพในเรื่องการบัญญัติศัพท์นั้นเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป ทั้งศัพท์ในทางการทูต กฎหมายและศัพท์วิชาการแขนงอื่น ๆ จึงทรงอุทิศเวลาในบั้นปลายพระชนม์ชีพเพื่องานของราชบัณฑิตยสถาน จนแม้ทรงพระชราก็มิทรงย่อท้อ คุณูปการของพระองค์ท่านในส่วนนี้จึงเป็นคุณูปการของผู้ให้ โดยมิได้ทรงหวังได้รับผลตอบแทนในรูปใด เว้นแต่ความสำเร็จในทางวิชาการต่อส่วนรวมเท่านั้น"

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๙ กันยายน๒๕๓๔
Back