Back

สุราบายา

ในช่วงวันที่ ๒๓ - ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ข้าพเจ้าและคณะกรรมการทำพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมแห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้เดินทางไปศึกษาด้านโบราณวัตถุและโบราณสถานที่ประเทศอินโดนีเซีย วันแรกที่ไปถึงก็ไปพักที่โรงแรมในเมืองสุราบายา ๑ คืน ก่อนที่จะเดินทางไปยังเกาะบาหลี

ในตอนที่เราพักกันอยู่ที่เมืองสุราบายา ก็ได้อภิปรายกันถึงความหมายของชื่อเมืองสุราบายาว่าหมายความว่ากระไร ทั้งนี้เพราะประเทศอินโดนีเซียเคยนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานมาก่อนที่จะหันไปนับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้นภาษาบาลีและสันสกฤตจึงยังคงมีอิทธิพลอยู่ในภาษาชวามากทีเดียว

บางคนได้แสดงความเห็นว่า คำว่า "สุราบายา" มาจากคำบาลีว่า "สุรา + อาปายะ" คำว่า "อาปายะ" คงมาจากคำว่า "อาปะ" จึงแปลว่า "น้ำ" เสียง "ยะ" นั้นยึดออกไป แบบเดียวกับในลังกา คำว่า "อารามะ" ก็ยึดเสียงเป็น "อารามยะ" ดังนั้น "สุราบายา" จึงน่าจะแปลว่า "น้ำสุรา" หรือ "ดื่มสุรา" ซึ่งแสดงว่าชาวสุราบายาเดิมคงชอบดื่มสุรามาก

บางคนก็บอกว่าอาจมาจาก "สุรา + อปาย" ก็ได้ คือเป็นการสอนว่าสุรานั้นเป็นอบาย คือทางที่จะนำไปสู่ความเสื่อม ดังนั้นจึงไม่ควรดื่ม หรือถ้าจะดื่มบ้างก็ให้ดื่มอย่างมีสติ

ภาษาบาลีและสันสกฤตได้มีอิทธิพลอยู่ในภาษาของชาวชวามาก แม้แต่คำขวัญของเขาซึ่งข้าพเจ้าเคยสังเกตเมื่อคราวเดินทางไปอินโดนีเซียครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้พบคำขวัญที่ห้องประชุมสาธารณะแห่งหนึ่งในเมืองโซโกฮาร์โย (Sokohardjo) คำขวัญอยู่ใต้ภาพครุฑขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอินโดนีเซีย เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "Bhinneka Tunggal Ika" และแปลเป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า "Divided remains one" หรือ "Two but one" ซึ่งข้าพเจ้าได้ตีความว่า "แม้ประเทศอินโดนีเซียจะประกอบด้วยชนเผ่าต่าง ๆ มากมาย เช่น ชวา สุนดะ มทุระ บาหลี จีน ฯลฯ แต่ก็รวมกันเป็นหนึ่ง คือ อินโดนีเซีย" ข้อความนี้คัดมาจากจารึกที่บาหลีซึ่งประชาชนนับถือทั้งศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนา แม้เขาจะนับถือทั้ง ๒ ศาสนา คือ นับถือทั้งพระพุทธเจ้าและพระศิวะ เขาก็สามารถเอามาผสมกลมกลืนกันได้อย่างสนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ เขานับถือ "ศิวะพุทธะ" เช่นเดียวกับในเนปาล สาเหตุนี้เองจึงได้ทำให้เกิดคำขวัญว่า "Bhinneka Tunggal Ika" ความจริงข้อความนี้เป็นคำเพี้ยนมาจากคำบาลี ๒ คำ คือ Bhinneka - ภินเนกะ ประกอบด้วยคำว่า "ภินน" ซึ่งแปลว่า "แตก, แยกกัน" กับ "เอก" ซึ่งแปลว่า "หนึ่ง" แม้คำว่า "อิกะ" ก็มีความหมายเท่ากับ "เอกะ" คือ "หนึ่ง" นั่นเอง

ชื่อชาวอินโดนีเซียซึ่งแม้จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็จะมีคำบาลีปะปนอยู่มาก แต่บางทีเสียงก็เพี้ยน ๆ ไปจากเดิมบ้าง ซึ่งก็เป็นธรรมดาไม่ว่าในภาษาใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะบางทีเราก็รับมาทั้งดุ้นใช้เหมือนของเดิมเขาทุกอย่าง บางทีก็มาปรับใช้โดยปรับรูปบ้าง ปรับเสียงบ้าง ยิ่งในภาษาไทยเรายิ่งมีมาก

คำว่า "สุราบายา" นี้ ผู้นำเที่ยวซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองบอกว่า ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ "สุรา" ซึ่งแปลว่า "ปลาฉลาม" กับ "บายา" ซึ่งแปลว่า "จระเข้" อันนับว่าเป็นสัตว์ที่ดุร้ายทั้งคู่ ต่อมาเมื่อเราไปชมพิพิธภัณฑ์เมืองสุราบายาแล้วก็ได้ไปแวะที่สวนสัตว์ของเขาซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับพิพิธภัณฑ์นั่นเอง ตรงกลางถนนด้านหน้าของสวนสัตว์เขาทำรูปปั้นของปลาฉลามกับจระเข้ขนาดใหญ่ กำลังต่อสู้กัน แสดงว่า "ฉลาม และ จระเข้" เป็นสัญลักษณ์ของ เมืองสุราบายา

การแปลคำต่าง ๆ เรามักจะเอาความรู้หรือความเข้าใจของเราเป็นหลัก ซึ่งมักจะผิดได้ง่าย ๆ ทางที่ดี ควรจะต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ตำนาน และขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีของเขาดูก่อน ซึ่งจะทำให้ความผิดพลาดของเราลดน้อยลงได้

อย่างไรก็ตาม คำต่าง ๆ ในภาษามลายูและชวานั้น ได้รับอิทธิพลจากคำภาษาบาลีและสันสกฤตของอินเดียมากทีเดียว ส่วนใหญ่ก็คงเนื่องมาจากศาสนาและวรรณกรรมของอินเดียนั่นเอง

การศึกษาในเรื่อง "ภาษา" ต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบกันในลักษณะนี้ ก็มีเรื่องสนุก ๆ อยู่มาก ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งที่สนใจในเรื่องนี้มาก.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๓ กันยายน ๒๕๓๖
Back