Back
หนังตะลุง


เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔ ในการประชุมคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม แห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้พิจารณาถึงคำว่า "ตะลุง" ซึ่งเป็นชื่อมหรสพชนิดหนึ่งขึ้น ข้าพเจ้าจึงขอนำคำว่า "หนังตะลุง" มาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

คำว่า "ตะลุง" ซึ่งเป็นมหรสพนั้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ชื่อมหรสพอย่างหนึ่ง ใช้หนังสลักเป็นรูปภาพเล็ก เชิดในจอ เรียกว่า หนังตะลุง; จังหวัดพัทลุง เช่น ชาตรีมีแต่ล้วนชาวตะลุง.(อิเหนา)."

เมื่อข้าพเจ้าได้ค้นดูหนังสือชื่อ "รายงานการวิจัย เรื่อง วรรณกรรมประกอบการเล่นหนังตะลุง (ภาคกลาง)" ที่สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ เห็นว่ารายงานวิจัยฉบับนี้ ซึ่งศาสตราจารย์ พันตรีหญิง คุณหญิงผะอบ โปษะกฤษณะ และรองศาสตราจารย์สุวรรณี อุดมผล เป็นผู้วิจัยนั้น มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่มาก ข้าพเจ้าขอนำบางตอนของงานวิจัยนี้มาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

ในส่วนที่เกี่ยวกับ "ความเป็นมาของหนังตะลุงภาคกลาง" นั้น รายงานนั้นได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ดังนี้ "หนังตะลุงมีความเป็นมาอย่างไร ยังถือเป็นยุติไม่ได้ แต่เป็นที่คาดหมายได้แน่นอนว่า หนังตะลุงภาคกลางได้มาจากภาคใต้ ที่เรียกว่า "หนังควน" ของเมืองพัทลุง แต่ต่อมาเรียกกันว่า หนังตะลุง คำว่า "หนังตะลุง" มีผู้สันนิษฐานหลายทาง บ้างก็ว่า คงจะย่อมาจากคำว่า "พัทลุง" บ้างก็ว่ามาจากเสียงกลอง แต่ที่ว่ามาจาก "พัทลุง" น่าจะมีหลักฐานกว่า คำว่า "พัทลุง" ชาวใต้เรียกสั้น ๆ ว่า "เมืองลุง" เมื่อมาเรียก "หนังลุง" คงจะออกเสียงยาก เลยกลายเป็น "ตะลุง" แต่ก็ยังไม่มีข้อยุติในขณะนี้

"หนังตะลุงเริ่มเข้ามาภาคกลางแต่เมื่อไรนั้น ตามหลักฐานในหนังสือเรื่อง "ตำนานอิเหนา" พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์ทรงบันทึกไว้ในเชิงอรรถว่า "...หนังตะลุงนั้นเป็นของใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ พวกบ้านควน (มะ) พร้าว แขวงเมืองพัทลุงคิดเอาอย่างหนังแขก (ชวา) มาเล่นเป็นเรื่องไทยขึ้นก่อน จึงแพร่หลายไปที่อื่นในมณฑลนั้น เรียกว่า "หนังควน" เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) พาเข้ามากรุงเทพฯ ได้เล่นถวายตัวที่บางปะอินเป็นที่แรก เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙" จากหลักฐานที่อ้างอิงมานี้ แสดงให้เห็นว่า หนังตะลุงภาคกลางได้มาจากภาคใต้ในรัชกาลที่ ๕ และจากการสัมภาษณ์ผู้เล่นหนังตะลุงในจังหวัดต่าง ๆ ก็ให้ข้อมูลเช่นเดียวกันว่า ได้มาจากครูหรือบรรพบุรุษที่มาจากภาคใต้ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ก็มีชาวอยุธยาครอบครัวหนึ่งได้นำตัวหนังตะลุงเก่าของบรรพบุรุษมามอบให้เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ว่าตนมีเชื้อสายปักษ์ใต้ คงจะเป็นลูกหลานนายหนังที่ขึ้นมาสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้วตั้งรกรากอยู่ที่นั่น

"หนังตะลุงได้แพร่หลายและเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคกลางตอนใต้ อาจจะเป็นเพราะหนังตะลุง เป็นมหรสพประเภทเล่นเงา เช่นเดียวกับหนังใหญ่ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในภาคกลาง หนังใหญ่ใช้ต้นทุนสูง ผู้คนมาก ผู้ที่จะหาไปเล่นน้อย หนังตะลุงนั้นค่าใช้จ่ายต่ำกว่าหนังใหญ่มาก ตัวหนังเล็กกว่า การสลักก็ง่ายกว่า ใช้คนน้อย การสร้างโรง การขนส่งสะดวกกว่า และยังมีบทตลกเรียกเสียงเฮฮาจากคนดู จึงแพร่หลายได้รวดเร็ว ลูกศิษย์ผู้เรียนจากครูชาวใต้ ได้แยกย้ายกันไปตามจังหวัดต่าง ๆ หนังตะลุงจึงได้เป็นมหรสพภาคกลางเพิ่มขึ้น"

ในส่วนที่เกี่ยวกับ "ตัวหนัง" นั้นยังแบ่งออกเป็น ๓ พวกด้วยกัน ดังที่รายงานการวิจัยฯ ฉบับ ดังกล่าวได้กล่าวถึงไว้ดังนี้

"ตัวหนังตะลุงแกะแบบเดียวกับหนังใหญ่ แต่ย่อส่วนให้เล็กลง วิธีแกะหนังตะลุงก็ทำนองเดียวกับหนังใหญ่ ใช้หนังวัว หนังควาย มาฟอกแล้วขูด นำไปตากให้แห้ง ตัวหนังมี ๓ ชั้น คือ

หนังครู หรือหนังตัวครู คือ หนังชั้นสูง ได้แก่ ฤๅษี พระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร พระราม ทศกัณฐ์ ฯลฯ

หนังเล่น คือหนังที่นำออกเชิดเล่นเป็นเรื่องตามบทบาท เช่น ตัวมนุษย์ พระ นาง ยักษ์ ลิง ฯลฯ

หนังกาก ตัวประกอบ เช่น ตัวตลก ผี ต้นไม้ สัตว์ ภูเขา ฯลฯ

สำหรับตัวตลกมักจะแกะเป็นรูปต่าง ๆ กัน ให้เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนั้น ๆ"
ดนตรีที่ใช้ประกอบในการแสดงหรือเชิดหนังตะลุง ได้แก่

๑. กลองชาตรี ๒ ใบ
๒. โทนชาตรี ๒ ใบ
๓. ปี่ใน
๔. ฉิ่ง
๕. ฉาบ
๖. กรับ
๗. โทน

บางคณะก็อาจเพิ่ม ซอด้วงบ้าง ใช้ปี่ชวาแทนปี่ในบ้าง บางคณะก็มีระนาดเอก บางคณะก็อาจมีโน้งเหน่งด้วย

เจ้าของคณะหนังตะลุง มักเรียกกันว่า "นายหนัง"

เรื่องเกี่ยวกับ "หนังตะลุง" มีอีกมากมาย เช่น การแกะตัวหนังตะลุง การเก็บตัวหนังและการจัดหนัง โรงหนัง การให้แสง คนเชิด ขนบการแสดง การไหว้ครู บทเบิกโรง เรื่องที่แสดง การพากย์ การเจรจา ฯลฯ ถ้าท่านผู้ใดสนใจก็ควรหารายละเอียดได้จากหนังสือ "รายงานการวิจัยเรื่องวรรณกรรมประกอบการเล่นหนังตะลุง (ภาคกลาง)" ที่สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่ ครับ.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๘ พฤศจิกายน๒๕๓๔
Back