Back
หนังสือธรรมจริยา


ในปัจจุบันปัญหาเรื่องเกี่ยวกับสังคมมีมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับภาษาไทยด้วย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ข้าพเจ้าได้พลิก "หนังสืออ่านเพิ่มเติมวิชาสังคมวิทยา ธรรมจริยา เล่ม ๔" ที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นผู้เรียบเรียงและองค์การค้าคุรุสภาจัดพิมพ์แล้ว ทำให้นึกถึงบรรยากาศในโรงเรียนสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นเด็ก ปัจจุบันเห็นว่าหนังสือชุดธรรมจริยา ควรจะจัดพิมพ์ให้ครบชุด จะช่วยแก้ปัญหาเด็กวัยรุ่นในสังคมได้มากทีเดียว

ใน "ภาคสอง บทที่ ๑ สัมพันธวงศ์แห่งมนุษย์" มีข้อความที่น่าสนใจมาก ข้าพเจ้าขอนำมาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า
น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย
เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ ปลูกอื่นไยปลูกไมตรีดีกว่าพาล"
หม่อมเจ้าอิศรญาณ

"๑. ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการอยู่กินในบ้าน ถ้าต่างคนต่างรักกัน ซื่อตรงต่อกัน นับถือและกรุณากันและกัน บ้านก็น่าจะเป็นที่สุขสำราญอย่างยิ่ง แต่เมื่อเราโตขึ้น จิตใจของเรากว้างขวางออกไป ลำพังบ้านเท่านั้นจะไม่พออยู่ จะต้องแลเห็นโลกกว้างขวางออกไปอีกด้วย ลำพังรักบิดามารดาญาติพี่น้องที่อยู่ในบ้านเดียวกันเท่านั้นจะไม่พอ จะต้องรักเพื่อนฝูงนอกบ้านมากออกไปอีก

"๒. เมื่อยังเป็นเด็กอยู่นั้น แต่เพียงอยู่ในบ้านก็รู้สึกกว้างขวางสบายใจพออยู่แล้ว ครั้งโตขึ้นสิ ถ้าจะต้องอยู่ในบ้านเสมอไป ก็จะได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่งเท่ากับถูกขัง อย่าดูอื่นไกลเลย เด็กอ่อน ๆ ถ้าผู้ใหญ่พาอุ้มอยู่แต่ในเรือนก็หายร้องไห้ได้ ครั้นโตขึ้นอีกหน่อยจะต้องให้พาออกไปถึงประตูบ้านจึงจะพอใจ พออายุได้เก้าขวบสิบขวบ ถ้าไม่พาไปไหน ๆ ไกล ๆ บ้าน ก็ไม่เห็นเป็นพาเที่ยว ยิ่งโตขึ้นถึงแก่ได้บวชเรียนแล้วจะมีความกล้าแข็งออกจากความปกครองของบิดามารดาไปตั้งบ้านเรือนของตัวอยู่ในโลกแต่ลำพัง ทั้งนี้ก็เพราะคนเรามีธรรมดาไม่เฉพาะแต่เกี่ยวข้องกับบิดารมารดาญาติพี่น้องในบ้านเท่านั้น ต้องเกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์อื่น ๆ ในโลกทั่วไปด้วย

"๓. ไม่ว่าผู้ใด คงรู้จักเพื่อนบ้านที่อยู่ข้างเคียงกันบ้าง ไม่มากก็น้อย คงเคยไปมาหาสู่กัน และบางทีถึงแก่ร่วมสุขร่วมทุกข์กันก็มี นอกจากเพื่อนใกล้ ๆ เหล่านี้ ยังมีญาติมิตรที่อยู่ห่างไกลกันอีก เมื่อมีกิจธุระหรือมีความระลึกถึงกัน ก็พูดกันด้วยจดหมาย ถึงจะอยู่ไกลกันก็ดุจอยู่ใกล้กันเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าเมื่อเราโตขึ้นแล้ว ถ้าเราจะอยู่ในบ้านของเราแห่งเดียวก็ดี จิตใจของเราก็อาจนึกกว้างขวางออกไปถึงที่ต่าง ๆ ได้ด้วย ไม่จำเป็นที่ตัวเราจะต้องไปเอง

"๔. ในทุกวันนี้โลกเจริญขึ้นมากกว่าแต่ก่อน เราอาจมีจดหมายจากเมืองเรา ไปถึงผู้ใดที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ ได้ทั่วโลก และต้องเสียสตางค์ค่าไปรษณีย์เพียงนิดหน่อยเท่านั้น ทางไกลก็เหมือนใกล้ ถึงบ้านเมืองใดเรายังไม่เคยไปเห็นก็ดี เราอาจนึกถึงและมีการเกี่ยวข้องกับคนในบ้านเมืองนั้นได้ เพราะการจำเป็นของการเลี้ยงชีพบังคับให้มนุษย์เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ทำการเพื่อกันและกันและอาศัยกันอุดหนุนกันอยู่ดังนี้

"๕. อย่าดูอื่นไกลเลย อาหารที่เรากินทุกวันนี้ เราก็ได้อาศัยแรงคนอื่น ทำให้ ข้าวเราซื้อจากคนขาย คนขายยังต้องซื้อมาจากโรงสีอีกทีหนึ่ง โรงสีต้องมีเครื่องมือสำหรับสีข้าว ตำข้าว เครื่องมือเหล่านี้ ต้องอาศัยแรงช่างทำ ถ้าเป็นเครื่องจักร ก็ต้องซื้อมาจากประเทศอื่น รู้จักว่าจะมีคนทำกี่มากน้อย ไหนจะขุดหาแร่เหล็ก ไหนจะทำเหล็กให้เป็นเครื่องจักร และไหนจะบรรทุกเครื่องจักรใส่เรือกลไฟมาส่งถึงเมืองเรา

"๖. เมื่อโรงสีมีเครื่องมือสำหรับสีข้าวแล้ว โรงสียังจะต้องซื้อข้าวจากชาวนา ชาวนาจะต้องลงแรงทำนา ปลูกข้าว จ้างผู้อื่นเขาทำคราดไถและเครื่องมือทำนาต่าง ๆ ทั่วไปอีก นี่แหละกว่าข้าวจะได้มาถึงปากเรา ผู้อื่นก็ต้องมีส่วนช่วยทำจนนับไม่ถ้วน ส่วนกับข้าวก็เหมือนกัน ถ้าเราตรวจดูให้ละเอียดเช่นนี้แล้ว ก็จะเห็นว่าเราก็อาศัยแรงผู้อื่นนับด้วยหมื่นแสนเหมือนกัน

"๗. ถ้าจะมีปัญหาว่า ทำไมคนจึงต้องช่วยกันทำ? ของใคร ๆ ก็ทำจะไม่ได้หรือ ตอบได้ว่าไม่ได้เป็นอันขาด เราจะปลูกข้าวเอง สีและฝัดซ้อมเอง ทำเครื่องมือสำหรับใช้เอง เที่ยวหาผักปลาเป็นกับข้าวเอง บางทีเราจะต้องอดข้าวตาย ไม่เช่นนั้นก็ต้องกินอย่างคับแค้น เพราะไม่มีเวลาจะทำได้ทั่วไป สิ่งของต่าง ๆ ที่เราได้มาใช้และบริโภค เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ต่าง ๆ กันทั่วโลก เราจะไปเที่ยวหามาแต่ลำพังตนเองไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยกัน และส่งขายกันเป็นทอด ๆ ดังกล่าวมาแล้ว คนเราจึงต้องเกี่ยวข้องกันเป็นธรรมดา ถ้าไม่เช่นนั้นจะต้องนุ่งใบไม้ขุดโพรงนอนใต้ดิน และเก็บผลไม้กินตามมีตามเกิดอย่างคนป่า เพราะอะไร ๆ ก็จะต้องทำของตัวเอง และย่อมจะไม่มีเวลา ไม่มีความสามารถ ทำได้ทุกอย่างอยู่เอง"

ท่านผู้ฟังจะเห็นว่าข้อความในบทที่ ๑ นี้เป็นภาษาไทยที่ง่าย ๆ เด็ก ๆ ก็อ่านเข้าใจได้โดยไม่ยาก หนังสือประเภทนี้ กระทรวงศึกษาธิการน่าจะได้นำมาจัดพิมพ์เผยแผ่ให้แพร่หลายต่อไป เพราะจะได้ทั้งภาษาไทยที่ดี และพร้อมกันนั้นก็เป็นการส่งเสริมจริยธรรมไปในตัวด้วย เพราะเป็นการสอนจริยธรรมที่เต็มไปด้วยเหตุด้วยผลที่น่าเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง.



จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๕ กรกฎาคม๒๕๓๔
Back