Back



การศึกษาภาษาไทยในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับในอดีตแล้วรู้สึกว่าคนไทยในอดีตจะรู้เรื่องภาษาไทยดีและลึกซึ้งกว่าในปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันวิทยาการและเทคโนโลยีได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างมากมาย แต่การศึกษาภาษาไทยก็ไม่สู้ได้ผลเท่าใดนั้น บรรดานิสิตนักศึกษาในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่จะเลือกวิชาภาษาไทยเป็นวิชาเอก แทบจะหาไม่ได้แล้ว ทำให้นึกถึงการศึกษาภาษาไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในสมัยนั้นปรากฏว่ามีทั้งพระเถระผู้ใหญ่ และขุนนางที่มีความรอบรู้ภาษาไทยเป็นอย่างดีเป็นจำนวนมาก เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) และเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ตั้งแต่สมัยที่ท่านมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์

ในยุคนั้นมีหนังสือดี ๆ หลายเล่ม นอกจาก "โบราณศึกษา" ของพระยาปริยัติธรรมธาดา และ "วิธีสอนหนังสือ" ของพระยาศรีสุนทรโวหารแล้ว ยังมีหนังสือ "ศัพท์เทียบ มคธ สันสกฤต ไทย" หนังสือ "โบราณศัพท์" หนังสือ "ศัพท์เขมร" หนังสือ "แบบต้นตัวสะกด" ซึ่งเป็นหนังสือชุดแบบเรียนศัพท์ ของกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ที่ตีพิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐) และหนังสือ "ราชาศัพท์ โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๕๘ หนังสือเหล่านี้ ข้าพเจ้าไม่เคยทราบมาก่อน ต่อมาท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ได้นำหนังสือดังกล่าวให้ข้าพเจ้าถ่ายสำเนาไว้ จึงได้มีโอกาสได้ทราบถึง "ภูมิปัญญา" อันล้ำลึกของบรรพบุรุษที่ข้าพเจ้าไม่เคยทราบมาก่อนเลย จึงขอขอบพระคุณท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ไว้ ณ ที่นี้ ที่ทำให้ข้าพเจ้ามีหูตาสว่างขึ้นอีกมาก

ข้าพเจ้าจะขอยกเพียง "คำนำ" หนังสือ "ศัพท์เทียบ มคธ สันสกฤต ไทย" มาเสนอท่านผู้ฟังพอเป็นแนวเพื่อท่านที่สนใจจะได้หามาอ่านต่อไปดังนี้

"หนังสือเช่นนี้ได้คิดเรียบเรียงขึ้นเป็นแบบเรียนจำพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นจำพวกเดียวกันกับสเปลลิงบุก ของฝรั่ง การที่ต้องมีหนังสือเรียนจำพวกนี้ เพราะเหตุว่าที่จะเรียนหนังสือให้อ่านออกเขียนได้ ให้พอแก่คำที่ใช้กันอยู่ในข้อความในภาษา ก็ย่อมต้องอาศรัยการรู้จักศัพท์นั้น ๆ ซึ่งเป็นถ้อยคำต่าง ๆ ก็การที่ต้องการความรู้อย่างนี้ก็ไม่มีอันใดนอกจากต้องจำศัพท์นั้น ๆ ได้ การที่จะจำศัพท์ นั้น ๆ ได้นั้นย่อมเป็นการยากในการเรียน หนีไม่พ้น เพราะเหตุที่ต้องท่องบ่นจนขึ้นใจจึงจะจำได้ ถ้านักเรียนที่มีความจำมากก็จำได้เร็ว ที่มีความจำน้อยก็จำได้ช้า อยู่เป็นธรรมดา เหตุนี้การสอนสิ่งนี้จึงได้มีผู้คิดกันหลายวิธี หลายทางว่าจะหาอุบายอย่างไรที่จะทำหนทางของความจำให้ง่ายเข้า ตัดเวลาและความลำบากให้น้อยลง ก็ยังไม่เป็นการสำเร็จเด็ดขาดลงไปได้ดังความประสงค์ เป็นแค่แบ่งเบาได้บ้างเล็กน้อย ตามแต่ที่จะทำได้ เช่นกับอย่างฝรั่งเขาใช้ให้นักเรียนท่องจำโคลงฉันท์ เป็นวิธีหนึ่งสำหรับที่จะให้จำง่าย เพราะจำศัพท์ในโคลงฉันท์ที่มีข้อความติดต่อเป็นหนทางที่จะให้จำง่าย และที่จะระฦกได้ดีกว่าจำศัพท์เป็นคำ ๆ นี้อย่างหนึ่ง อย่างนี้ของเราในบัดนี้ได้มีหนังสือเรียนจำพวกหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า จินตกระวีนิพนธ์ ใช้เข้าที่อยู่แล้ว เป็นแต่ผู้สอนต้องหมั่นแปลศัพท์ให้นักเรียนเข้าใจความหมาย อย่าสักแต่ว่าให้อ่านหรือเขียนเลยไป ๆ เท่านั้น แบบเรียนจำพวกนี้ก็จะช่วยให้นักเรียนรู้ศัพท์ต่าง ๆ ขึ้นปากเจนใจได้ง่ายอยู่ทางหนึ่ง ถึงดังนั้น "แบบเรียนศัพท์" หรือ สเปลลิงบุก ก็ยังไม่หมดความจำเป็นที่จะต้องมี แต่จำต้องหาอุบายเรียบเรียงโดยวิธีอย่างไร ซึ่งจะให้เป็นหนทางช่วยนักเรียนให้สังเกตจำง่ายเข้า นั่นเป็นอย่างดีที่สุด

เหตุฉะนั้น หนังสือฉบับนี้จึงเป็นฉบับหนึ่ง ในจำพวกแบบเรียนศัพท์ให้ชื่อว่า "ศัพท์เทียบ มคธ สันสกฤต ไทย" คือ รวบรวมเอาคำอันมาแต่ภาษามคธ และสันสกฤต ซึ่งมีลักษณะอักษรที่ผันแปรไปตามภาษา และมาใช้กันอยู่ในภาษาไทยอย่างไร เรียบเรียงตามลักษณถานของอักษรที่คล้าย ๆ กัน จดไว้เป็นพวก ๆ เพื่อให้เป็นหนทางที่จำง่าย ทั้งให้มีคำแปลความหมายของศัพท์นั้น ๆ และตัวอย่างที่ใช้ด้วย แต่แบบเรียนศัพท์เล่มนี้ได้เลือกเอาศัพท์ที่ใช้อยู่ในภาษาไทย ชุกชุมเท่านั้นมารวบรวมไว้ เพราะประสงค์ให้พอแก่ที่จะต้องการใช้อยู่ทุกวัน เพื่อไม่ให้ต้องเรียนมากกว่าที่จำเป็น

กรมศึกษาธิการ
วันที่ ๑ กันยายน ร.ศ. ๑๒๓
วิสุทธสุริยศักดิ์"

ใน "สารบานเรื่อง" ได้บอกเรื่องที่สำคัญ ๆ ไว้ คือ คำไทยแผลง คำสยามโบราณ คำตัว ห แทนไม้เอก คำกำพุชแผลง คำกำพุชพากย์ คำชวาพากย์ คำราชาศัพท์ คำศัพท์บาฬีแผลง ฯลฯ

ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่าง "ศัพท์เทียบ มคธ สันสกฤต ไทย" สัก ๒ - ๓ คำ ดังนี้

มคธ สันสกฤต ไทยใช้ แปลว่า ตัวอย่าง
อธัม๎มะ อาธัร๎ม อาธรรม์ ไม่เป็นธรรม ใจอาธรรม์
อธรรม์
อสัจจะ อสัต์ยะ อาสัตย์ ไม่จริง คนอาสัตย์
อสัตย์ ไม่มีความจริง
กัน์ตา กาน์ตา กานดา นางงาม ตระกองแก้วกานดา
นางเป็นที่ยินดี
อัส์สะมะ อาศ๎รม อาศรม กุฏิฤๅษี อาศรมศาลา


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔
Back