Back

หมาใน - ปลาไน

ปัญหาเรื่องการเขียนคำว่า "หมาใน" และ "ปลาไน" ยังไม่จบสิ้นกันสักที ทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้าก็ได้เคยอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ในรายการนี้มาอย่างน้อยก็ ๒ ครั้งแล้ว และ ดร.บุญพฤกษ์ จาฏามระ นายกราชบัณฑิตยสถานก็ได้เคยชี้แจงไปยังหนังสือพิมพ์สยามรัฐแล้วแต่ก็ยังมีผู้พยายามหาเหตุผลและหลักฐานมาแสดงว่าต้องเขียนว่า"หมาไน" จึงจะถูก ความจริงแล้วเรื่องของภาษาเป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้น แต่ก่อนนั้น ใครอยากจะเขียนอย่างไรก็เขียนกันไปตามใจชอบ เพราะยังไม่มีพจนานุกรมหรือปทานุกรมเป็นแบบฉบับให้ยืดถือ อย่างคำว่า "ละคร" กว่าจะเป็นที่ยุติกันว่าเขียน ล(ลิง) สระอะ ค(ควาย) ร(เรือ) สะกด ก็ต้องใช้เวลาหลายปี เพราะในหนังสือเก่า ๆ เขียนเป็น "ลคร" คือ ล(ลิง) ค(ควาย) ร(เรือ) สะกด โดยที่ ล(ลิง) ไม่ประวิสรรชนีย์ก็มี เขียนเป็น "ลคอน" คือ ล(ลิง) ค(ควาย) อ และ น(หนู) สะกดโดยที่ ล(ลิง) ไม่ประวิสรรชนีย์ก็มี เขียนเป็น "ละคอน" คือ ล (ลิง) สระอะ ค(ควาย) อ และ น(หนู) สะกดก็มี ที่แต่ละท่านเขียนต่าง ๆ กัน ท่านก็มีเหตุผลของท่านประกอบทั้งนั้น แล้วในที่สุดก็ยุติกันว่าเขียนเป็น "ละคร" คือ ล(ลิง) สระอะ ค(ควาย) ร(เรือ) สะกด ดังที่ใช้อยู่ในทุกวันนี้ เมื่อข้าพเจ้าเข้ามารับราชการที่ราชบัณฑิตยสถานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ นั้น ปรากฏว่าคำว่า "ละคร" ทางกรมศิลปากรยังเขียนเป็น "ละคอน" คือ ล(ลิง) สระอะ ค(ควาย) อ และ น(หนู) สะกดอยู่เลย เพิ่งมายอมเขียนเป็น "ละคร" เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ นี้เอง โดยอธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้นได้มีหนังสือมาขอคำปรึกษาจากราชบัณฑิตยสถานว่าควรจะเขียนอย่างไร ทางราชบัณฑิตยสถานก็ได้ตอบไปว่าควรเขียนเป็น "ละคร" โดยให้เหตุผลว่า คำว่า ละคร นี้ได้เขียนกันมาเช่นนี้นานจนถือเป็นยุติได้ว่าเป็นคำที่ใช้เขียนกันอยู่อย่างนี้ เป็นปรกติในภาษา และไม่น่าจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น ความผิดหรือถูกในเรื่องเกี่ยวกับการเขียนหนังสือนั้นอยู่ที่ผู้ใช้ ถ้ามีผู้ใช้กันมากอย่างไรและเป็นเวลานานพอสมควร ก็คือว่าอย่างนั้นเป็นถูกเพราะเป็น usage แล้ว ไม่ใช่ว่าเมื่อนักปราชญ์หมู่หนึ่งคณะหนึ่งแสดงความเห็นออกมาอย่างไร เราก็ต้องแก้ตัวสะกดตาม ถ้าเป็นเช่นนี้ ความจลาจลก็จะเกิดขึ้นในการเขียนหนังสือไทย... เราควรจะยึดอักขรวิธีที่เคยใช้มานานจนยุติแล้วเป็นหลัก ไม่เที่ยวยักย้ายไปทางโน้นทางนี้ ตามแต่จะพบอะไรเข้าใหม่หรือนึกว่าใหม่ การเขียนตัวสะกดหนังสือไทยก็จะมั่นคงขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงเขียน "ละคร" ตามที่เคยเขียนมานานจนยุติแล้ว"

ในเรื่องการเขียนสะกดคำในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีอยู่เป็นจำนวนมากที่ข้าพเจ้าก็เคยไม่เห็นด้วย เช่นคำว่า "ภูมิใจ" ทำไมไม่เขียนว่า "พูมใจ" หรือ "ภาคภูมิ" ทำไมไม่เขียนว่า "พากพูม" ฯลฯ จะต้องเอาคำรูปบาลีมาเกี่ยวข้องด้วยทำไมกัน น่าจะเขียนเป็นคำไทยแท้ ๆ เสียเลย แต่เมื่อข้าพเจ้าได้รับคำชี้แจงจากที่ประชุมคณะกรรมการชำระปทานุกรม สมัยเมื่อเข้าไปรับราชการใหม่ ๆ แล้ว ข้าพเจ้าก็เห็นด้วย โดยยอมเขียนตามที่ท่านได้เก็บไว้แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดเอกภาพในการเขียนภาษาไทย แต่ละคนต่างก็มีเหตุผลด้วยกันทั้งนั้น แต่เหตุผลก็มิใช่ความจริงเสมอไป เมื่อท่านสมมุติให้เขียนอย่างนี้ และเป็นที่ยุติกันแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่ดื้อดันทุรังไปตามความคิดเห็นของตน เพราะไม่ต้องการให้เกิดความจลาจลในภายหน้าขึ้น

คำว่า "หมาใน" ก็เช่นเดียวกัน ในการประชุมคณะกรรมการชำระพจนานุกรมแห่งราชบัณฑิตยสถาน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ ก็ได้มีมติให้เขียนเป็น "หมาใน" ตามเดิม เพราะตามปรกติ "หมา" ทั้งหลายเวลานี้ล้วนเป็นสัตว์เลี้ยงอยู่ตามบ้านตามวัดแทบทั้งนั้น ที่ยังหลงเหลืออยู่ในป่ามีน้อยลงทุกที เวลานี้แทบจะหาไม่ได้แล้ว "หมาใน หมาป่า หมาจิ้งจอก" ล้วนเป็นหมาที่อยู่ในป่าทั้งนั้น โดยเฉพาะ "หมาใน" นั้น อาศัยอยู่ตามป่าทึบ ส่วน "ปลาไน" ทำไมจึงไม่เขียนเป็น "ปลาใน" บ้าง เพราะมันก็อยู่ในน้ำเหมือน กัน ถ้าหากปลาส่วนใหญ่อยู่บนบก และมีปลาไนเท่านั้นหลงเหลืออยู่ในน้ำ ผิดกับปลาอื่น ๆ ก็น่าจะเขียน "ปลาใน" ได้ เหตุผลคนละเรื่องกันเลย ถ้าอย่างนั้น คำว่า "นางใน หนองใน" ก็มิต้องเขียนเป็น "นางไน, หนองไหน" ด้วยหรือ เพราะต่างก็มีฤทธิ์ทำนองเดียวกับ "ไน" เหมือนกัน

คณะกรรมการชำระพจนานุกรมแห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่จะเขียนว่า "หมาใน" หรือ "หมาไน" "ปลาไน" หรือ "ปลาใน" นั้น ถ้าพูดในแง่เหตุผลก็ไม่มีใครผิดใครถูก แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อการเขียนอย่างใดได้ใช้กันมานานเป็นที่ยุติแล้ว ก็เห็นว่าควรจะเขียนอย่างนั้น มิฉะนั้นแล้ว จะต้องรื้อฟื้นคำอีกหลายคำที่ข้าพเจ้าและคนอื่น ๆ อีกหลายคนไม่เห็นด้วยขึ้นมาพิจารณาวิธีเขียนกันใหม่ ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร เป็นการกวนน้ำให้ขุ่นมากกว่า คณะกรรมการชำระพจนานุกรม ท่านจึงพิจารณาปรับปรุงเฉพาะการนิยามความหมายเท่านั้นว่าถูกต้องเหมาะสมหรือยัง ถ้าเห็นว่าควรจะแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ท่านก็จะได้ปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป หรือถ้าเห็นว่าคำใดยังไม่มีในพจนานุกรม แต่เป็นที่รู้จักและใช้กันแพร่หลายแล้ว ท่าน ก็จะได้พิจารณาเก็บและให้ความหมายหรือบทนิยามเป็นคำ ๆ ไป.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๖ มีนาคม ๒๕๓๖
Back