Back

หมาใน - หมาไน

วันนี้จะขอนำเรื่อง "หมาใน - หมาไน" มาเสนอท่านผู้ฟังอีกสักครั้งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ได้เคยนำมาพูดในรายการนี้มาครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๒ แล้ว เพราะมีผู้เขียนวิจารณ์ลงในบัญชร "พูดไทย เขียนไทย" ของ "เปรียญ ๗" ใน น.ส.พ. สยามรัฐ ทั้งนี้เนื่องจากมีบางคนเห็นว่าควรจะเขียนว่า "หมาไน" โดยที่ "ไน" ใช้สระไอไม้มลาย โดยบอกว่า ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเขียนว่า "หมาใน" โดยใช้สระใอ ไม้ม้วนนั้น ไม่ถูกต้อง และยังบอกว่า "ผิดที่สุดในโลก" ก็ไม่ทราบว่าท่านเอาอะไรมาเป็นเครื่องวัด

คำว่า "หมาใน" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ก็ใช้สระใอไม้ม้วน และให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. หมาป่าพวกหนึ่ง ตัวขนาดเล็ก ขนสั้นเกรียน มักไปเป็นฝูง."

คำว่า "หมาใน" นี้ หนังสือปทานุกรม ฉบับกรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้เก็บเข้าชุดกับ "หมาจิ้งจอก" และ "หมาป่า" โดยให้บทนิยามอย่างเดียวกันดังนี้ "น. สัตว์ในป่ารูปคล้ายหมา ลักษณะและขนต่าง ๆ กัน." แสดงว่า พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ ให้รายละเอียดมากขึ้น ส่วนคำว่า "หมาจิ้งจอก" พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. หมาป่าชนิดหนึ่ง มักเที่ยวหากินเป็นฝูง (อ. Jackal) ; หมาป่าชนิดหนึ่ง ตัวขนาดเล็ก หางเป็นพวง." ส่วนคำว่า "หมาป่า" ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น.หมาจำพวกหนึ่ง หากินเป็นฝูงดุร้ายมาก มีในประเทศหนาว (อ. Wolf)."

จากบทนิยามของหมาทั้ง ๓ ชนิดนี้ ก็จะเห็นว่าเป็นพวกหมาป่าทั้งสิ้น เพียงแต่หมาป่าที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Wolf นั้น อยู่ในประเทศแถบหนาว ส่วนหมาในกับหมาจิ้งจอกนั้น ท่านมิได้บอกไว้ว่าอยู่ในประเทศหนาว แสดงว่าในประเทศแถบอบอุ่นและแถบร้อนก็มี "หมาใน" แตกต่างกับ "หมาจิ้งจอก" ตรงที่หมาในอยู่แต่ในป่า หมาจิ้งจอกชนิดหนึ่งชอบหากินเป็นฝูง อีกชนิดหนึ่งตัวขนาดเล็ก หางเป็นพวงเท่านั้น ท่านมิได้เขียนเป็น "หมาไน" โดยใช้ น สระไอ ไม้มลาย ทั้งนี้ก็คงเป็นเพราะมันไม่มี "ไน" ซึ่งคงมีลักษณะคล้ายเครื่องสำหรับกรอฝ้ายหรือไหมเข้าหลอดกระมัง

คำว่า "หมาใน" ที่ "ใน" ใช้สระใอไม้ม้วนนั้นมีมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือสมัยรัชกาลที่ ๑ แล้วเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้เพราะในคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วงฉบับของพระมหาจันทร์และพระมหาช่วย ซึ่งจารอยู่บนใบลานทั้ง ๒ ฉบับ ล้วนจารว่า "หมาใน" ดังมีข้อความว่า "เทพยดาและครุฑราชนาคราชและยักษ์คนธัพพะกินนรกินนรี และวิทยาธรแลผีหมาในและราชสีห์แลหมีแลเสือเหลืองเสือโคร่งก็มาไว้มากมายท่านนี้..." ส่วนหนังสือไตรภูมิพระร่วง ฉบับกรมศิลปากร ซึ่งอาจารย์พิทูร มลิวัลย์ เป็นผู้ชำระ และกรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในการประชุมสัมมนาเรื่องไตรภูมิพระร่วงในโอกาสฉลอง ๗๐๐ ปีลายสือไทย วันที่ ๑๔ - ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๖ ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาตินั้น คำว่า "หมาใน" ได้แก้เป็นหมาไน" ที่ "ไน" ใช้สระไอไม้มลาย ตามพจนานุกรมภาคอีสาน-ภาคกลางซึ่งอาจารย์พิทูร มลิวัลย์เป็นกรรมการจัดทำด้วยผู้หนึ่ง

ในหนังสือ "บทกลอนกล่อมเด็ก บทปลอบเด็ก และบทเด็กเล่น" ซึ่งเก่ามาก จนกระดาษจะกรอบอยู่แล้ว อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ได้นำมาให้ดู พบว่า ในบทที่ ๒ ซึ่งเป็น "บทปลอบเด็ก" นั้น บทแรกชื่อ "จิงโจ้" มีข้อความ ดังนี้

"จิงโจ้เอย มาโล้สำเภา หมาในไล่เห่า
จิงโจ้ตกน้ำ หมาในไล่ซ้ำ จิงโจ้ดำหนี
ได้กล้วยสองหวี ทำขวัญจิงโจ้ โห่ฮิ้ว โห่ฮิ้ว"

คำว่า "หมาใน" ในบทปลอบเด็ก ซึ่งมีอยู่ ๒ แห่ง ท่านก็ใช้ "หมาใน" ที่ "ใน" ใช้ไม้ม้วนเช่นกัน

ในหนังสือ "ธรรมาธรรมะสงคราม" พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มีตอนหนึ่งว่าดังนี้

"รถทรงกงกำทั้งหมด ตลอดงอนรถ ล้วนแล้วด้วยไม้ดำดง
บัลลังก์มียักษ์ยรรยง ยืนรับรองทรง สลักกระนกมังกร
ลายสิงห์เสือหมีสลอน หมาในยืนนอน อีกทั้งจรเข้เหรา"

คำว่า "หมาใน" ในพระราชนิพนธ์เรื่อง "ธรรมาธรรมะสงคราม" ก็ใช้ น สระใอไม้ม้วนเช่นกัน

ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่านักปราชญ์รุ่นก่อน ๆ รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งชาวไทยได้ยกย่องเทิดทูนเป็น "พระมหาธีรราชเจ้า" นั้นล้วนโง่เขลา ใช้ภาษาผิด ๆ ด้วยกระนั้นหรือ ผู้ที่คิดว่าตนถูกที่สุดในโลก ผู้อื่นผิดที่สุดในโลกนั้น จะเข้าลักษณะที่ Pope กวีเอกคนหนึ่งของโลกได้เขียนไว้ว่า

"We think our father's fools, so wise we grow;
Our wiser sons no doubt will think us so."

ซึ่งกรมพิทยลาภพฤฒิธาดา ได้ทรงนิพนธ์เป็นภาษาไทยไว้ดังนี้

"พวกเราคิดบิดาเราเฉาฉงน เราเป็นคนมีปัญญาจะหาไหน
บุตรของเราคงดีจริงยิ่งขึ้นไป จิตต์ใจเขาคงคิดเหมือนบิดา"

ขอฝากเป็นของขวัญในวันขึ้นพุทธศักราชใหม่ ๒๕๓๖ แต่ท่านผู้มีความรักภาษาไทยทุกท่าน.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๕
Back