Back

หริชน - หริจันทร์

ข้าพเจ้าได้อ่านบทความเรื่อง "พวกเขาคือ "จัณฑาล" โดย ไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม ในบัญชร "โลกกว้าง" ใน น.ส.พ.สยามรัฐ ประจำวันอาทิตย์ที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๖ มีข้อความขึ้นต้น ดังนี้

"พวกผู้ชายช่วยกันมัดมือลูกชายช่างซ่อมรองเท้าคนนั้นไว้อย่างแน่นหนา แล้วคนหนึ่งก็จัดการควักลูกตาเขาออกมาทั้งสองข้างก่อนจะใช้มีดเชือดเส้นเลือดใหญ่ที่ข้อมือ ส่วนอีกคนหนึ่งลากเอาท่อนเหล็กแหลมมาสวนเข้าที่ทวารหนักของเขาเป็นการปิดท้าย

"ตลอดคืนนั้น พวกเขาเฝ้าคอยดูการทรมานเหยื่อของตนอย่างมีน้ำอดน้ำทน ชายผู้นั้นตายไปในตอนใกล้รุ่ง

"ฉันได้ยินเขาร้องโหยหวนไม่ขาดปาก และฉันก็รู้ว่าเขากำลังจะตายอยู่แล้ว แต่ฉันไม่รู้ว่าจะเข้าไปช่วยเขาได้อย่างไร ไม่มีทางเอาเลย" สันติเทวีกล่าวถึงลูกชายของนาง คือ ระวิน เดอร์จาตาป ผู้เป็นนักศึกษาวัย ๒๑

"คนเหล่านี้ คือ "หริจันทร์" หรือพวกจัณฑาล ชนชั้นที่แตะต้องไม่ได้ คนเหล่านี้เป็นพวกที่เกิดมาอยู่ในวรรณะที่ต่ำก้นบึ้งที่สุดตามระบบการแบ่งชั้นวรรณะของฮินดูมาแต่โบราณกาล เป็นพวกที่ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีปากเสียงใด ๆ ทั้งสิ้น"

บทความเรื่องนี้ลงท้ายว่า

"กรรณะพิราน ซึ่งเป็นสมาชิกใหญ่ในกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มเสรีภาพพลเรือนแห่งอันตรประเทศ ลงมือสอบสวนกรณีการเหยียดและทำร้ายถึงตาย กับชาวนาที่เป็นพวกวรรณะต่ำ ๒๐ ราย เมือเดือนสิงหาคม ซึ่ง ๖ รายถูกสังหารจากการทะเลาะวิวาทกับพวกวรรณะสูงกว่าในโรงภาพยนตร์ที่หมู่บ้านสุนดูร์

"ตามรายงานของกรรณะพิราน ตำรวจกล่าวว่าพวกที่ฆ่าชาวนาถึงตายช่วยกัน เอาศพคนตายอัดใส่กระสอบแล้วนำไปทิ้งในคลองชลประทานที่ลึกแล้วหนีรอดไป จับมือใครดมไม่ได้

"เราจะแก้กฎหมายให้รัดกุมขึ้นอย่างไร หรือจะมีเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายมาคอยควบคุมอย่างไร เรื่องนี้ก็ไม่มีทางแก้ได้" นายสีตา ราม เกศรี รัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคมแห่งนิวเดลีกล่าว และเสริมว่า "สิ่งที่เราจำเป็นต้องให้พวกวรรณะสูง ๆ เข้าใจให้ถ่องแท้ ก็คือ เลือดของหริจันทร์นั้น มันก็แดงพอ ๆ กับเลือดของพราหมณ์ กษัตริย์ แพทย์ หรือศูทร บรรดาวรรณะที่สูง ๆ นั้นแหละ"

"นายเกศรี เป็นรัฐมนตรีที่มาจากวรรณะจัณฑาล"

คำที่ข้าพเจ้าสนใจมากในบทความนี้คือว่า "หริจันทร์" ซึ่งเราได้ยินและพบว่าเขียนกันอย่างนี้บ่อย ๆ ความจริงคำนี้ถอดมาจากคำในภาษาบาลีและสันสกฤตว่า "Harijana" ซึ่งที่ถูกควรจะถูกเป็น "หริชน" (หะ - ริ - ชน) คือ "คนของพระเจ้า" ทั้งนี้เพราะอักษร J ซึ่งเป็นตัวโรมันนั้นใช้แทนตัว "ช" ในภาษาบาลีและสันสกฤต ถ้าเป็นตัว "จ" อักษรโรมันจะใช้ตัว "c" ตัว "ch" เท่ากับ "ฉ" "j" เท่ากับ "ช" (ช้าง) และ "jh" เท่ากับ "ฌ" (เฌอ) พวก "หริชน" เหล่านี้ถือว่าเป็นบุคคลที่ต่ำต้อย ใครจะไปแตะต้องมิได้ (untouchable) แต่มิได้หมายความว่ามีอำนาจมากจนเจ้าหน้าที่ไม่กล้าเข้าไปแตะต้อง หากหมายถึงเป็นเสนียดจัญไร อย่าว่าแต่ไปแตะต้องเลย แม้เงาของพวกนี้มาสัมผัส ก็จะพลอยเป็นเสนียดจัญไรไปด้วย บ่อน้ำหรือสระน้ำของพวกพราหมณ์ พวกหริชนเหล่านี้จะไปตัก ไปใช้มิได้ เพราะจะทำให้น้ำในสระหรือบ่อน้ำพลอยมีมลทินไปด้วย

ในหนังสือ "บ่อเกิดลัทธิประเพณีอินเดีย" ซึ่งข้าพเจ้าเป็นผู้แปล และราชบัณฑิตยสถาน ได้จัดตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ มีข้อความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงพวก "หริชน" ดังนี้

"...ศาสนานั้นอาจสร้างโลกใหม่ที่มิได้ถือเอาวรรณะหรือสีผิวหรือจำนวนรายได้ที่ได้รับมาเป็นเครื่องตัดสินตำแหน่งทางสังคมของมนุษย์ แต่ทว่าใช้แบบชีวิตที่เขาเป็นอยู่เป็นเครื่องตัดสิน เป็นโลกที่คนจนเก็บภาษีคนมั่งมี เป็นโลกที่สังคมมนุษย์มิได้ตั้งอยู่บนความเสมอภาคแห่งท้อง แต่ทว่าอยู่บนความเสมอภาคแห่ง วิญญาณ เป็นโลกที่พวกหริชน (untouchable) อาจแต่งงานกับราชธิดากษัตริย์ได้ เป็นโลกที่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเป็นดุจของฝากชนิดหนึ่ง และเป็นโลกที่ไม่ยอมให้สะสมเงินทุนซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตที่มีความมั่งคั่งที่แท้จริงมีอำนาจเหนือคนจน..."

นี้เป็นตอนหนึ่งแห่ง "สุนทรพจน์และคำปราศรัย" ของ มุฮัมมัด อิกบาล (Iqbal) กวีและนักปรัชญาคนสำคัญคนหนึ่ง ในยุคแห่งการฟื้นฟูศาสนาอิสลาม

ในบทความของคุณไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม มีการเขียนผิดอยู่อีก ๒ แห่ง คือ คำว่า "อันตรประเทศ" นั้นที่ถูกคือ "อันธรประเทศ" และคำว่า วรรณะแพทย์" นั้นที่ถูกคือ "วรรณะแพศย์" ไม่ใช่ "วรรณะหมอ" ครับ หากหมายถึง ชนชั้นกลาง เช่น พวกพ่อค้า สถาปนิก วิศวกร ฯลฯ


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๙ เมษายน ๒๕๓๖
Back