Back

หลักเกณฑ์การอ่านหมายเลขโทรศัพท์ - รหัสไปรษณีย์

ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยแห่งราชบัณฑิตยสถาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้พิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์การอ่านหมายเลขโทรศัพท์ รหัสไปรษณีย์ และเลข แผ่นป้ายทะเบียนรถ ซึ่งทางฝ่ายเลขานุการได้ติดต่อสอบถามไปยังองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทย และกรมการขนส่งทางบก ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้ง ๓ แห่งนั้นด้วยดี จึงขอสรุปหลักเกณฑ์ต่าง ๆ มาเสนอท่านผู้ฟัง ดังนี้

๑. สรุปหลักเกณฑ์การเขียนและอ่านหมายเลขโทรศัพท์
ก. การเขียน มีหลักเกณฑ์ดังนี้
๑. หมายเลขโทรศัพท์ภายในประเทศให้เขียนขึ้นต้นด้วยรหัสทางไกลหรือรหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ภายในวงเล็บ เว้น ๑ ตัวอักษร ตามด้วยเลขรหัสชุมสายเว้น ๑ ตัวอักษรหรือใช้เครื่องหมายยัติภังค์คั่น ตามด้วยหมายเลขโทรศัพท์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
๑.๑ หมายเลขโทรศัพท์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น (๐๒) ๒๕๓ - ๑๒๓๔ หรือ (๐๒) ๒๕๓ ๑๒๓๔
๑.๒ หมายเลขโทรศัพท์ในต่างจังหวัด เช่น (๐๓๒) ๒๑ - ๑๒๓๔ หรือ (๐๓๒) ๒๑ ๑๒๓๔
๑.๓ หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น (๐๑) ๒๒๑ - ๑๒๓๔ หรือ (๐๑) ๒๒๑ ๑๒๓๔

๒. หมายเลขโทรศัพท์ต่างประเทศ ให้เขียนขึ้นต้นด้วยเครื่องหมายบวก "+" ตามด้วยรหัสประเทศ เว้น ๑ ตัวอักษร ตามด้วยรหัสทางไกลหรือรหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยให้ตัดเลขศูนย์ที่นำหน้ารหัสทิ้ง เว้นหนึ่งตัวอักษร ตามด้วยรหัสชุมสาย เว้น ๑ ตัวอักษร หรือ ใช้ เครื่องหมายยัติภังค์คั่น ตามด้วยหมายเลขโทรศัพท์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
๒.๑ หมายเลขโทรศัพท์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น + ๖๖ ๒ ๒๕๓ - ๑๒๓๔ หรือ ๖๖ ๒ ๒๕๓ ๑๒๓๔
๒.๒ หมายเลขโทรศัพท์ในต่างจังหวัด เช่น + ๖๖ ๓๒ ๒๑ - ๑๒๓๔ หรือ + ๖๖ ๓๒ ๒๑ ๑๒๓๔
๒.๓ หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ +๖๖ ๑ ๒๒๑ - ๑๒๓๔ หรือ + ๖๖ ๑ ๒๒๑ ๑๒๓๔

ข. การอ่าน มีหลักเกณฑ์ดังนี้
ในการอ่านหมายเลขโทรศัพท์ ให้อ่านหมายเลขโทรศัพท์เรียงกันไปและอ่านเลข ๒ ว่า "โท" ทุกตัว ยกเว้น "๒" ส่วนที่เป็นรหัสประเทศและรหัสทางไกล ให้อ่านว่า "สอง"แทน โดยมีลำดับการอ่านดังนี้

อ่านรหัสประเทศ (ถ้ามี) รหัสทางไกลหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ รหัสชุมสายและหมายเลขโทรศัพท์ เช่น
(๐๒) ๒๕๓ - ๑๒๓๔ หรือ (๐๒) ๒๕๓ ๑๒๓๔ อ่านว่า "รหัสทางไกล ศูนย์-สอง หมายเลขโทรศัพท์ โท - ห้า - สาม หนึ่ง - โท - สาม - สี่"
(๐๓๒) ๒๑ - ๑๒๓๔ หรือ (๐๓๒) ๒๑ ๑๒๓๔ อ่านว่า "รหัสทางไกล ศูนย์ - สาม - สอง หมายเลขโทรศัพท์ โท - หนึ่ง หนึ่ง - โท - สาม - สี่"
(๐๑) ๒๒๑ - ๑๒๓๔ หรือ (๐๑) ๒๒๑ ๑๒๓๔ อ่านว่า "รหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ ศูนย์ - หนึ่ง หมายเลขโทรศัพท์ โท - โท หนึ่ง หนึ่ง - โท - สาม - สี่"
+ ๖๖ ๒ ๒๕๓ - ๑๒๓๔ อ่านว่า "รหัสประเทศ หก - หก รหัสทางไกล สอง หมายเลขโทรศัพท์ โท - ห้า - สาม หนึ่ง - โท - สาม - สี่"
+ ๖๖ ๓๒ ๒๑ - ๑๒๓๔ อ่านว่า "รหัสประเทศ หก - หก รหัสทางไกล สาม - สอง หมายเลขโทรศัพท์ โท - หนึ่ง หนึ่ง - โท - สาม - สี่"
+ ๖๖ ๑ ๒๒๑ - ๑๒๓๔ อ่านว่า "รหัสประเทศ หก - หก รหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ หนึ่ง หมายเลขโทรศัพท์ โท - โท - หนึ่ง หนึ่ง - โท - สาม - สี่"

๒. สรุปหลักการอ่านรหัสไปรษณีย์ของการสื่อสารแห่งประเทศไทย
รหัสไปรษณีย์เป็นกลุ่มตัวเลขที่กำหนดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้ทราบถึงปลายทางของสิ่งของที่ส่งทางไปรษณีย์ และใช้แทนราย ละเอียดของพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อความสะดวกในการคัดแยกและส่งต่อสิ่งของทางไปรษณีย์ไปยังปลายทางให้ทำได้ถูกต้องและรวดเร็ว

รหัสไปรษณีย์ประกอบด้วยตัวเลข ๕ ตัว โดยตัวเลข ๒ ตัวแรก ใช้หมายถึงจังหวัด ส่วนตัวเลข ๓ ตัวที่เหลือ หมายถึงที่ทำการไปรษณีย์ เช่น รหัสไปรษณีย์ ๒๒๐๐๐ ตัวเลข "๒๒" หมายถึง จังหวัดจันทบุรี ส่วนเลข "๐๐๐" หมายถึง ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขจันทบุรี ซึ่งรับผิดชอบการนำจ่ายสิ่งของทางไปรษณีย์ในพื้นที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดจันทบุรี

การอ่านรหัสไปรษณีย์ที่ถูกต้อง จึงต้องอ่านเรียงกันไป เช่น
รหัสไปรษณีย์ ๒๒๐๐๐ อ่านว่า "สอง - สอง - ศูนย์ - ศูนย์ - ศูนย์"


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๕ มกราคม ๒๕๓๖
Back