Back

หลักเมือง

สถานที่สำคัญแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ ๆ กับพระบรมมหาราชวัง ในกรุงเทพมหานคร ที่มีประชาชนเข้าไปแสดงความเคารพกราบไหว้กันทุกวันมิได้ขาด ก็คือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเป็นดุจเป็นใจเมืองของกรุงเทพมหานครนั่นเอง ตามจังหวัดต่าง ๆ ส่วนมากก็มีศาลหลักเมืองด้วย แต่ทางภาคเหนือเรียกว่า "อินทขีล" ซึ่งเป็นคำบาลีก็หมายความว่า "หลักเมือง" นั่นเอง

ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือ "วงวรรณคดี" ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑ พบเรื่อง "หลักเมือง" พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก จึงขอนำมาเสนอท่านผู้ฟังต่อไป

ในเรื่อง "หลักเมือง" นี้ บรรณาธิการ ได้ทำบันทึกไว้ว่า "บันทึกรับสั่งนี้มีเรื่องสั้นรวมประมาณ ๕๐ เรื่อง เรื่อง "หลักเมือง" เป็นเรื่องหนึ่งมี่มีอยู่ในบันทึกนี้ เหตุที่จะเกิดบันทึกรับสั่งนี้ก็เพราะหลังจากเสด็จกลับจากปีนังประทานโอกาส ให้หม่อมราชวงศ์ สุมนชาติ สวัสดิกุล เข้าเฝ้าซักถามปัญหาเกี่ยวกับโบราณคดีและวรรณคดีของไทย ณ วังวรดิศ ในระหว่างเวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา ถึง ๑๘.๐๐ นาฬิกา ทุกวัน ปัญหาส่วนมากทรงตอบทันทีทันควัน บันทึกไว้แล้วอ่านถวายในวันรุ่งขึ้น เป็นเรื่องที่น่ารู้น่าอ่านทั้งสิ้น" ในปัญหาเรื่องประเพณีการตั้งหลักเมืองมีความเป็นมาอย่างไรนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงตอบไว้ดังนี้

"หลักเมืองเป็นประเพณีพราหมณ์ มีมาแต่อินเดีย ไทยตั้งหลักเมืองขึ้นตามธรรมเนียมพราหมณ์ ที่จะเกิดหลักเมืองนั้น คงเป็นด้วยประชุมชนนั้นต่างกัน ที่อยู่เป็นหมู่บ้านก็มี หมู่บ้านหลาย ๆ หมู่รวมเป็นตำบล ตำบลหลาย ๆ ตำบลตั้งขึ้นเป็นอำเภอ อำเภอหลาย ๆ อำเภอ นั้นเดิมเรียกว่า เมือง เมืองหลาย ๆ เมืองรวมเป็นเมืองใหญ่ เมืองใหญ่หลาย ๆ เมืองเป็นมหานคร คือ เมืองมหานคร

"ตัวอย่างหลักเมืองที่เก่าที่สุดในสยามประเทศนี้คือ หลักเมืองศรีเทพ ในแถบเพชรบูรณ์ ทำด้วยศิลาจารึก อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานบัดนี้ เรียกเป็นภาษาอินเดียนในสันสกฤตว่า "ขีนํ" เป็นมคธว่า "อินทขีน*" หลักเมืองศรีเทพทำเป็นรูปตาปูหัวเห็ด หลักเมืองชั้นหลังมา ก็คงทำด้วยหินบ้าง ไม้บ้าง หลักที่กรุงเทพฯ ทำด้วยไม้ ได้ตั้งพิธียกหลักเมืองเมื่อวันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้นสิบค่ำ ฤกษ์เวลาย่ำรุ่งแล้ว ๕๔ นาที ตรงกับ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ พ.ศ. ๒๓๒๕ หลักเมืองนี้ เดิมมีหลังคาเป็นรูปศาลา มาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงก่อสร้างและปรับปรุงถาวรวัตถุต่าง ๆ โปรดฯ ให้ยกยอดปรางค์ต่าง ๆ ตามแบบอย่างศาลที่กรุงเก่า และที่ศาลเสื้อเมือง ทรงเมือง ศาลพระกาล และศาลเจตคุปต์ เดิมหลังคาเป็นศาลา ก็โปรดฯ ให้ก่อเป็นปรางค์เหมือนศาลเจ้าหลักเมือง

มีเครื่องหมายอย่างหนึ่งไม่ใช่ตำราพบในพระราชพงศาวดารเมื่อเจ้าอนุเวียงจันตีได้เมืองนครราชสีมา สั่งให้อพยพผู้คนไปเมืองเวียงจัน และให้ถอนหลักเมืองเสีย กิริยาที่ถอนหลักเมืองนั้น เขาจะมีตำรับตำราถือว่าเลิกเมืองต้องถอนหลักเมืองหรืออย่างไรไม่พบหลักฐานมีแต่ในพงศาวดารว่าทำอย่างนั้น ขันอยู่ หลักเมืองนครราชสีมาเป็นหลักไม้ ไม่มีใครกล้ายก ตั้งแต่เจ้าอนุฯ ถอน ก็เอาหลักเมืองนอนไว้ที่ศาลอย่างนั้น และก็บูชากันทั้งนอน ๆ จนฉันมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ไปตรวจราชการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา ไปพบเข้าเห็นนอนอยู่ จึงให้ทำพิธียกขึ้นอย่างเดิม หลักเมืองนครราชสีมาตั้งมา ณ บัดนี้

เมื่อพระพุทธยอดฟ้าฯ ข้ามฟากมาจากธนบุรี สิ่งแรกที่กระทำคือตั้งหลักเมือง คิดดูด้วยปัญญาก็เห็นเป็นการสมควร เป็นยุตติได้แน่นอนว่าจะตั้งเมืองที่ตรงนี้ ถ้าไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมาย ความไม่แน่ก็คงมี อาจเปลี่ยนแปลงและโยกย้ายได้ ที่ปักไปแล้ว คนเป็นใจด้วยทุกคน อนึ่ง ควรสังเกตไว้ด้วยว่าการตั้งเมืองใหญ่มีของสองอย่างกำกับกันคือ หลักเมือง และ พระบรมธาตุ"

ข้าพเจ้าคิดว่าท่านผู้ฟังคงจะได้เข้าใจถึงความสำคัญของ "หลักเมือง" ตามนัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้อย่างแน่นอน.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๗ กรกฎาคม ๒๕๓๖
Back