Back
หอกลอง


ตามวัดต่าง ๆ บางวัดทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด บางทีก็จะมีแต่หอระฆัง ไม่มีหอกลอง บางวัดก็มีทั้งหอกลองและหอระฆังคู่กัน และที่วัดบางแห่งมีเพียงหอเดียวประดิษฐานทั้งกลองและระฆัง คือข้างบนแขวนระฆัง ข้างล่างไว้กลอง ส่วนนอกวัด ไม่ค่อยพบว่ามีหอกลองและหอระฆัง จะมีแปลกอยู่แห่งหนึ่งก็คือหอกลอง ข้างกรมการรักษาดินแดน และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์กรุงเทพมหานครนี่เอง

ข้าพเจ้าได้อ่านบทความเรื่อง "พระมหานคร กรุงเทพฯ ในความทรงจำของคนอายุเจ็ดสิบ" ซึ่งพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีพระยาอานุภาพไตรภพ (จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๔ บทความดังกล่าว พลตรีพระยาอานุภาพไตรภพ ได้เขียนไว้เอง มีอยู่ตอนหนึ่งว่าด้วย "หอกลอง" นับว่าน่าสนใจมากดังนี้

"หอกลองนั้นข้าพเจ้าเข้าใจว่า อนุชนทุกวันนี้คงจะมีจำนวนน้อยมากที่รู้จัก หอกลองเป็นตึกโบราณสองชั้นเล็ก ๆ และไม่สู้จะสูงนัก ทำรูปเป็นทำนองเทวสถานตั้งอยู่ในสวนเจ้าเชตุ คือในพื้นที่ระหว่างถนนหน้าวัดพระ เชตุพนฯ (วัดโพธิ์) กับถนนริมคลองหลอดระหว่างสะพานมอญกับสะพานหัวตะเข้ ซึ่งเป็นโรงทหารมหาดเล็กเดี๋ยวนี้ บนหอกลอง มีกลองใหญ่อยู่สามใบ ใช้สำหรับบอกสัญญาณต่าง ๆ แก่ชาวพระนคร คือ ใบที่ ๑ ชื่อ "ย่ำสุริย์ศรี" ใช้ตีบอกเวลาย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และเที่ยงคืน ใบที่ ๒ ชื่อ "อัคคีพินาศ" ใช้ตีเวลาเกิดเพลิงไหม้ ใบที่ ๓ ชื่อ "พิฆาฏไพรี" ใช้ตีเวลามีการทัพ คือ เป็นสัญญาณบอกเหตุสำคัญ เรียกประชุมเลขหรือชายฉกรรจ์ แต่ด้วยเหตุที่พระนครกรุงเทพฯ ได้ขยายตัวออกไปมาก จนเสียงกลองไม่ได้ยินทั่วถึง ความสำคัญของหอกลองก็เลยหมดไป และเลิกการใช้พร้อม ๆ กับปืนเที่ยง แล้วก็นำไปไว้ในที่ต่าง ๆ เช่นที่หอน้ำ หรือหอนาฬิกาของกระทรวงกลาโหม และให้ตีบอกเวลาแก่โรงเรียนนายร้อยอยู่พักหนึ่ง แล้วในที่สุดจึงนำกลองไปเก็บในพิพิธภัณฑสถานจนทุกวันนี้ และก็สร้างโรงทหารลงในที่นั้น ตามที่ทางราชการเห็นว่ามีความจำเป็นกว่า ดังที่เราเห็นอยู่ในเวลานี้

"ในปัญหาเรื่องการเก็บกลองไว้ที่ไหนนั้น บางท่านแจ้งแก่ข้าพเจ้าว่าได้ย้ายไปไว้ที่ชั้นบนของศาลหลักเมืองก่อน แต่ข้าพเจ้าไม่ทราบ และคิดว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะหลักเมืองเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน จึงไม่น่าจะ เอากลองสัญญาณไปไว้ข้างบน

"ในบริเวณสวนเจ้าเชตุ อันเป็นที่ตั้งของหอกลองนี้ เคยมีคุกอยู่ด้วย เรียกกันว่า "คุกเก่า" แต่เห็นจะเรียกกันในภายหลัง คุกนี้เป็นตึกชั้นเดียว มีประตู ๒ ประตู แต่หน้าต่างไม่มี เพราะเขาก่ออิฐไว้เป็นช่องระบายลมโดยทั่วไป นักโทษนอนเสื่อที่ปูกับพื้นดินซึ่งทุบเรียบ อากาศอยู่ข้างจะชื้นแฉะมาก นักโทษสมัยโน้นรู้สึกไม่ใคร่จะมีมาก อาจเป็นเพราะตามบ้านท่านผู้ใหญ่มีตารางอยู่โดยทั่วไปก็เป็นได้ครั้นเมื่อคุกใหม่ คือกองมหันตโทษเดี๋ยวนี้สร้างเสร็จ คุกเก่าก็รื้อถอนและยุบเลิกไป

"อนึ่ง เมื่อได้พูดถึงเรื่องหอกลอง ก็น่าจะได้พูดถึงเสียงปืนและระฆังสัญญาณด้วย เพราะแต่ละอย่าง ย่อมมีเหตุผลตามกาลสมัยดังต่อไปนี้

"ก. แต่ไหนแต่ไรมา โปรดเกล้าฯ ให้ทหารยิงปืนใหญ่เป็นสัญญาณวันละ ๒ ครั้ง ๆ ละหนึ่งนัด คือ เวลาเที่ยงเรียกว่า "ปืนเที่ยง" สำหรับบอกสัญญาณว่าตะวันตรงศีรษะ หรือครึ่งวัน ซึ่งเราเรียกว่า "เที่ยงวัน" เพราะสมัยโน้นเราไม่มีนาฬิกา หรือแม้จะมีในต่อมา ก็ไม่แพร่หลาย ทั้งตัวพระนครกรุงเทพฯ เองก็เล็กพอที่ราษฎรจะได้ยินเสียงปืนสัญญาณโดยทั่วกันได้ ครั้นพระนครขยายตัวและคนก็มีนาฬิกาใช้กันมากแล้ว การยิงปืนบอกเวลาเที่ยงก็หมดความจำเป็น จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลิกการยิงปืนเที่ยงเสีย เวลาราวตีสาม หรือ ๓ น.เศษ มีการยิงปืนใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ประชาชนเรียกว่า "เวลาทหารยิงปืน" นัยว่าเพื่อปลุกประชาชนให้ลุกขึ้นหุงข้าวใส่บาตร เป็นการส่งเสริมให้คนทำบุญสุนทร คนแต่ก่อนเข้านอนโดยมากตั้งแต่ ๒๐ น. หรืออย่างดึกก็ ๒๑ น. เพราะในยามไฟฟ้ายังไม่มีนั้น ทุกหนทุกแห่งมืด แม้จะมีการตามไฟริมถนนเป็นบางแห่งก็ใช้เพียงโคมรั้ว ตามบ้านก็จุดไตควันตลบ หรือตามตระเกียงริบหรี่เต็มที ชวนให้คนเข้านอนแต่หัวค่ำ ดังนั้นนับเวลานอนไปจนถึงเวลาทหารยิงปืนก็ราว ๗ ชั่วโมง ซึ่งเป็นการพอสมควรแล้ว การยิงปืนตอนเช้ามืดนี้ เข้าใจว่าเลิกก่อนการยิงปืนเที่ยงเสียอีก เพราะปืนเที่ยงเพิ่งเลิกเมื่อข้าพเจ้าเป็นผู้บัญชาการกองพลแล้ว

ข. เวลาราว ๔ น. ทุกวันมีการย่ำระฆัง เพื่อปลุกพระให้เตรียมตัวออกบิณฑบาต ถ้าเป็นฤดูเข้าพรรษาโดยปรกติพระทุกรูปจะต้องครองผ้าห่มก่อนแสงอรุณ มิฉะนั้นถือว่า ขาดครอง และยังคงอยู่จนบัดนี้"

จากสาเหตุที่มีการยิงปืนเที่ยง ซึ่งผู้ที่ได้ยินก็คือคนที่อยู่ในกรุงเทพพระมหานคร ซึ่งในสมัยก่อนยังไม่ขยายตัวไปกว้างใหญ่อย่างในปัจจุบันนี้ ส่วนคนที่อยู่ห่างไกลตัวเมืองออกไปก็ย่อมไม่ได้ยินเสียงปืน เราซึ่งเกิดมีสำนวนว่า "ไกลปืนเที่ยง" ขึ้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงได้ให้ความหมายไว้ว่า "ว. ไม่รู้อะไรเพราะอยู่ห่างไกลความเจริญ".

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๐สิงหาคม๒๕๓๔
Back