Back
หัวสิบ - หัวปาก - หัวพัน - หัวหมื่น - หัวแสน


ในการประชุมคณะกรรมการทำพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย ที่ราชบัณฑิตยสถาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้พูดกันถึงคำว่า "หัวพัน - หัวหมื่น" ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้

"หัวพัน น. ตำแหน่งข้าราชการโบราณรองจากนายเวรลงมา, หัวหน้าควบคุมทหารจำนวนพันหนึ่ง; (โบราณ) นายทหารผู้ช่วยกองเสนาหลวงในสมัย โบราณ."

"หัวหมื่น น. ตำแหน่งข้าราชการมหาดเล็ก ถัดจางวางลงมา."

แต่ไม่มีคำว่า "หัวสิบ - หัวร้อย" และ "หัวแสน" มีเฉพาะ "หัวพัน" กับ "หัวหมื่น" เท่านั้น แต่ในพจนานุกรมนั้นมีคำว่า "หัวปาก" ซึ่งได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "(โบราณ) น. นายร้อย." เท่านั้นเอง

ในหนังสือ "กฎหมายตราสามดวง" มีทั้ง "หัวสิบ - หัวปาก - หัวพัน-หัวหมื่น - หัวแสน" แต่บางทีก็ใช้ "พัน - หมื่น" เฉย ๆ

"หัวสิบ" เป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์ต่ำกว่า "หัวปาก" มีศักดินา ๓๐ - ๔๐ ไร่ บางทีก็เรียกว่า "นายหัวสิบ" ดังปรากฏใน "พระไอยการตำแหน่ง นาพลเรือน" เช่น "นายหัวสิบข้าพระนา ๕๐" ส่วน "หัวสิบ" ทั้งใน "พระ ไอยการตำแหน่งนาพลเรือน" และ "พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง" จะมีศักดินาคนละ ๓๐ แต่ที่มีศักดินาถึง ๕๐ ก็มีบ้าง ดังข้อความที่ว่า "พันจ่า นา ๑๐๐ หัวสิบ นา ๕๐" หรือ "หมื่นนาฏ นา ๒๐๐ พันนาฏ นา ๑๐๐ หัวสิบ นา ๕๐"

"หัวปาก" เป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์สูงกว่า "หัวสิบ" แต่ต่ำกว่า "หัวพัน" ดังข้อความว่า "แลพึ่งอยู่ด้วยพระเยาวราชแลเมืองนอกก็ดี หัวแสนหัวหมื่นหัวพันหัวปาก แลอนาประชาราษฎรก็ดี" หรือ "ราชนิกุนขุนหัวหมื่นหัวพันหัวปากภาคยหัวสิบ จ่าเสมียรนักกานไพร่งานแลหัวเมืองทั้งปวง" มีศักดินา ๒๐๐ เช่น ใน "พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน" ว่า "หัวปากฉลอ ไกรลาด หัวปากญอด เมืองมิ่ง หัวปากกรุงจอมเมือง หัวปากบุญชู ๔ คน นาคละ ๒๐๐" ตำแหน่ง "หัวปาก" นี้มีหลายตำแหน่งด้วยกัน คือ หัวปากถือหมายขวา หัวปากถือหมายซ้าย หัวปากกรุงจอมเมือง หัวปากฉลอไกรลาด หัวปากญอดเมืองมิ่ง หัวปากบุญชู และหัวปากภาคย

"หัวพัน" เป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์สูงกว่า "หัวปาก" แต่ต่ำกว่า "หัวหมื่น" เช่น "แลฝ่ายอศรักษนารายหัวหมื่นหัวพัน..." มีศักดินา ๑๐๐ - ๔๐๐ เช่น ใน "พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน" ว่า "พันภาณุราช พันจันทณุมาท พันเภาณุราช พันพุทอณุราช นาคล ๔๐๐" ๒ และ ตำแหน่ง "หัวพัน" นี้มีหลายตำแหน่ง เช่น "หัวพันนายแกว่นคชสาร ๑ นายชำนาญกระบวน ๑ นายควรรู้อัฏ ๑ นายรัดตรวจสรพล ๑ นายเวรมหาดไท ถือศักดินาคล ๒๐๐"

"หัวหมื่น" เป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์สูงกว่า "พันหัว" ดังข้อความว่า "อนึ่ง ท้าวพญามนตรีมุกขลูกขุน หัวหมื่นหัวพันทังปวงฝ่าประเทียบก็ดี" ตามปรกติมีศักดินาตั้งแต่ ๔๐๐-๖๐๐ แต่หัวหมื่นที่รับผิดชอบสูงมากอาจมีศักดินาถึง ๘๐๐ ก็ได้ และที่มีศักดินาต่ำถึง ๒๐๐ ก็มี เช่นในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนว่า "หมื่นชำนาญนายกองช่างเลื่อย นา ๒๐๐ หมื่นอินนายกองช่างก่อนา ๒๐๐" ที่มีศักดินา ๓๐๐ ก็มี เช่น "หมื่นจ่าสมุบาญชีย ขวา - ซ้าย นาคล ๓๐๐" โดยทั่ว ๆ ไป มักจะมีศักดินา ๔๐๐ เช่น "หมื่นชำนิคชสาร หมื่นชำนาญมรคา หมื่นดุรงคพิทัก หมื่นรักษณรา นาคล ๔๐๐" ที่มีศักดินา ๕๐๐ ก็มี เช่น "หมื่นเทพพิทัก หมื่นสวัสดิโชติ" มีศักดินา ๖๐๐ ก็มี เช่น "หมื่นแก้ววรเลือก หมื่นวาโยวาด หมื่นวาโยนาศ หมื่นวาโยไชย นาคล ๖๐๐" หรือ "หมื่นเทพกระวี ๑ หมื่นทิพกระวี ๑ ๒ คน นาคล ๖๐๐" "หมื่นจ่าพลภักดีศรีไตรลักษณสมุ--บาญชีย นา ๖๐๐" ถ้าเป็น "จะหมื่น" มีศักดินา ๘๐๐ ก็มี เช่น "จะหมื่นวิสูตรสมบัติ จะหมื่นรัตนะโกษา ปลัดกรมขวา - ซ้าย นาคล ๘๐๐" หรือ "จมื่นราชนาคา ปลัดกรม นา ๘๐๐" หรืออาจมีศักดินาถึง ๑,๐๐๐ ก็มี เช่น "จะหมื่นสาระเพชภักดี จะหมื่นศรีเสารัก ต้นเชือก นาคล ๑,๐๐๐" หรือ "จะหมื่น ไวยวรนาด จะหมื่นเสมอใจราช ปลายเชือก นาคล ๑,๐๐๐" ตำแหน่ง "หัวหมื่น" นี้มีหลายตำแหน่ง เช่น หัวหมื่นต้นเครื่อง ศักดินา ๔๐๐ หัวหมื่นต้นเชือก ศักดินา ๖๐๐ หัวหมื่นตำรวจนอก หัวหมื่นทลวงฟัน หัวหมื่นมหาดเล็ก หัวหมื่นเรือ

ส่วนคำว่า "หัวแสน" นั้นมีปรากฏอยู่ในข้อความเพียงแห่งเดียวว่า "แลพึ่งอยู่ด้วยพระเยาวราชกุลเมืองนอกก็ดี หัวแสน หัวหมื่น หัวพัน หัวปากแล อนาประชาราษฎรก็ดี" แต่มิได้บอกไว้ว่ามีศักดินาเท่าใด แต่ก็คงต้องมากกว่า "หัวหมื่น" อย่างแน่นอน ส่วนจะเท่ากับศักดินาของ "จะหมื่น" หรือไม่ก็ไม่ทราบ

เรื่องเกี่ยวกับตำแหน่งที่ขึ้นต้นด้วย "หัว" นี้ ถ้าพจนานุกรม จะเก็บไว้ในฐานะคำโบราณ ก็น่าจะเก็บไว้ให้ครบเพื่อสะดวกแก่การศึกษาค้นคว้าต่อไป.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๔มีนาคม๒๕๓๕
Back